พาราสาวะถี อรชุน
เหมือนอย่างที่บอกไว้เป๊ะ การปฏิเสธนิ่มๆ ของกรธ.ที่ตัดทอนอำนาจทั้งการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและการมีอำนาจยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรวมถึงการลงมติถอดถอนของส.ว.ลากตั้งจำนวน 250 คนนั้น เป็นการลดภาวะแรงกดดันที่จะถาโถมเข้าใส่ มีชัย ฤชุพันธุ์ และชาวคณะเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดยังมีหมัดเด็ดคือคำถามพ่วงประชามติที่สนช.สามารถชงให้กกต.นำไปถามประชาชนประกบการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้
เหมือนอย่างที่บอกไว้เป๊ะ การปฏิเสธนิ่มๆ ของกรธ.ที่ตัดทอนอำนาจทั้งการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและการมีอำนาจยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรวมถึงการลงมติถอดถอนของส.ว.ลากตั้งจำนวน 250 คนนั้น เป็นการลดภาวะแรงกดดันที่จะถาโถมเข้าใส่ มีชัย ฤชุพันธุ์ และชาวคณะเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดยังมีหมัดเด็ดคือคำถามพ่วงประชามติที่สนช.สามารถชงให้กกต.นำไปถามประชาชนประกบการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้
มติของที่ประชุมสปท.ตามญัตติของ วันชัย สอนศิริ เพื่อส่งคำถามให้สนช.พิจารณาคือ จะให้ประชาชนลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้นายกรัฐมนตรีมาจากการโหวตเลือกของที่ประชุมรัฐสภา หมายความว่า เป็นการเปิดช่องให้ส.ว.มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯคนนอกแบบเต็มๆ แสดงออกเช่นนี้ไม่มีกั๊กไม่มีเก็บอาการกันเลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้นฝั่งสนช.ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องคำถามพ่วงก็แสดงท่าทีขานรับต่อข้อคำถามดังกล่าวของสปท. เรียกได้ว่าเป็นการรับไม้ต่อกันเป็นทอดๆ สอดรับกับการเปิดช่องอันแยบยลของกรธ.ที่เขียนไว้ว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสามารถเว้นวรรคไม่ใช้บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่เสนอก่อนเลือกตั้งได้ โดยให้ส.ส.เข้าชื่อกันเกินกึ่งหนึ่งเสนอให้เปิดประชุมรัฐสภาเพื่อมีมติดังกล่าว
เป็นการวางแผนกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตามที่ จาตุรนต์ ฉายแสง ระบุแม่น้ำ 5 สายแบ่งบทกันเล่น เป็นความละโมบของผู้มีอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญทำประเทศถอยหลัง เท่ากับเป็นการเปิดเผยความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วแม่น้ำ 5 สายต้องการอะไร อีกทั้งคนนอกมีโอกาสมาเป็นนายกฯได้ไม่ยากอยู่แล้ว เพราะตามที่ออกแบบระบบเลือกตั้ง ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก แต่เสียงจะได้ไล่เลี่ยกัน
พรรคขนาดกลางทั้งหลายจะเป็นคนตัดสินว่าจะให้ใครเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรืออาจตัดสินว่าจะตั้งรัฐบาล ส่วนที่มีความเห็นต่างกันอยู่บ้างเป็นเพียงการแบ่งบทกันเล่น แล้วสุดท้ายเปิดเผยออกมาว่า ให้คนนอกมาเป็นนายกฯได้ทันทีหลังการเลือกตั้ง เมื่อเป็นเช่นนั้นหลายส่วนของแม่น้ำทั้ง 5 สายก็จะไปอยู่ในส่วนของส.ว. และบางส่วนอาจจะมีอำนาจในรัฐบาลหรือแม้เป็นนายกฯเองได้เลย
นั่นจึงเป็นคำถามที่ชวนขบคิดต่อไปว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยผ่านการลงประชามติและมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว การเลือกตั้งนั้นจะนำไปสู่ประชาธิปไตยหรือไม่ เรื่องนี้ วาด รวี นักเขียนชื่อดังตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจ โดยเริ่มจากการพิจารณาข้อเท็จจริงที่จำเป็นต้องตระหนักอย่างน้อย 2 ประการคือ
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่สูงจนเรียกได้ว่าหากมีผลบังคับใช้แล้วก็จะเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยมากเสียยิ่งกว่าจะเป็นเครื่องมือนำไปสู่ประชาธิปไตย ประการสำคัญร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นการสืบทอดอำนาจของคสช.และเป็นการสืบทอดเครื่องมือของคสช. และฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง
การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เกิดขึ้นในสภาพที่ปราศจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสิ้นเชิง ในการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ จนกล่าวได้ว่า เป็นการลงประชามติในสภาพปิด ที่ความเห็นแย้งไม่สามารถแสดงตัวออกมาได้ จากข้อเท็จจริงทั้งสองประการ ประกอบกับท่าทีของคสช.ที่แสดงออกมาว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็จะอยู่ต่อเท่ากับทางเลือกที่คสช. เสนอกับประชาชนคือ จะให้คสช.มีอำนาจต่อแบบไม่มีการเลือกตั้ง (แบบเดิม) หรือจะให้คสช.มีอำนาจต่อแบบมีเลือกตั้ง (ประชามติผ่าน)
จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ ไม่มีความหมายและไม่นำไปสู่สภาพที่แตกต่างหรือมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแต่อาจจะกลับกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายเผด็จการในการหลอกลวงชาวโลกว่าไทยกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยแล้ว และทำให้การใช้อำนาจเผด็จการอาจทำได้โดยได้รับแรงกดดันจากนานาชาติน้อยลง
ในเมื่อทั้งการลงประชามติและการเลือกตั้งไม่มีความหมาย และไม่ใช่เครื่องนำไปสู่ประชาธิปไตย แต่ยังอาจกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายเผด็จการในการเล่นละครตบตาต่างประเทศ โดยที่โครงสร้างอำนาจแท้จริงแล้วยังอยู่กับฝ่ายเผด็จการเหมือนเดิม ทิศทางการต่อสู้ที่ถูกต้องจึงจะต้องเป็นการชี้ให้เห็นอย่างเด็ดขาดว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นการจัดฉากละครปาหี่ที่ไม่มีทางนำไปสู่ประชาธิปไตย แต่จะกลายเป็นเครื่องมือของเผด็จการแทน
ยุทธศาสตร์การต่อสู้จะต้องมุ่งเน้นไปที่ความจอมปลอมของการลงประชามติและการเลือกตั้งที่จะเกิดต่อไปหากประชามติผ่าน จะต้องไม่ไปให้ความร่วมมือกับฝ่ายเผด็จการในการเล่นละครนี้อย่างสิ้นเชิง แต่ปัญหาก็คือ ข้อเสนอตามแนวคิดของวาด รวีนั้นคงจะดำเนินการได้ลำบาก เพราะเงื่อนไขข้อกฎหมายที่จะนำมาใช้กับฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นเครื่องมือที่กดทับจนฝ่ายเคลื่อนไหวคว่ำขยับเขยื้อนไม่ได้
ด้วยปัจจัยในลักษณะเช่นนี้ จึงมีคำถามชวนให้คิดต่อไปว่า หากผู้มีอำนาจไม่ยอมรับการปกครองที่ยึดเสียงข้างมากและเชื่อว่าเป็นตัวสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่แล้ว ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีที่ขีดเส้นกันไว้เสร็จสรรพเรียบร้อยก็ไม่ควรที่จะต้องไปทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ไม่ต้องไปจัดการเลือกตั้งสร้างปาหี่ใดๆ ใช้กระบวนการแต่งตั้งแล้วดำเนินการตามที่เห็นว่าดีว่าเหมาะสมไปเลยดีกว่าไหม
ขบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันเป็นสากลเช่นนี้ ยิ่งได้ฟังวันชัยย้ำด้วยอาการสีข้างเข้าถูว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านเราอาจจะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไปก่อน ด้วยแนวคิดและการขับเคลื่อนเช่นนี้ อนาคตของประเทศคงเป็นอย่างที่ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีไอซีที เขียนบทความนำเสนอไว้วันก่อน “สิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่นี้กำลังจะทำให้อนาคตของประเทศไทยเปลี่ยนไปเหมือนกับอดีตของประเทศพม่า”