มายาในสัจจะพลวัต 2016
สำหรับนักลงทุนบางคน ตัวเลขไม่เคยโกหก
วิษณุ โชลิตุล
สำหรับนักลงทุนบางคน ตัวเลขไม่เคยโกหก
สำหรับเซียนขาใหญ่บางคน เส้นกราฟไม่เคยโกหก
ข้อสรุปดังกล่าวข้างต้น ไม่ใช่สัจจะทั่วไป แต่มีเงื่อนไขกำกับด้วยเสมอ เหตุผลเพราะ ทั้งตัวเลขและเส้นกราฟมีเงื่อน เวลากำกับอยู่ด้วยเสมอ บางครั้ง ตัวเลขเฉพาะหน้าอาจจะเป็นตัวเลขหลวงหลอกในระยะยาวได้ ในขณะที่ข้อเท็จจริงในระยะสั้น อาจจะเป็นมายาในระยะยาวระยะกลาง
ข้อสรุปของนิกายเซนในหนังสือความฝันในหัวแดงที่ว่าภาพมายากลายเป็นสัจจะ สัจจะก็อาจจะกลายเป็นมายาได้ จึงลึกซึ้งเสมอ
ตัวเลขดัชนีดาวโจนส์ ที่ปิดสวนตลาดทั่วโลกเมื่อวันศุกร์ เหนือ 17,792 จุด และเส้นกราฟที่บวกแรงทำนิวไฮสัปดาห์ที่ 7 ต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดทั่วโลกลบแรง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ร่วงแรงนำโดยราคาน้ำมัน ตามด้วยราคาทองคำ สวนกับดอลลาร์ที่อ่อนยวบอย่างผิดประหลาด ทำให้แม้จะยอมรับกันว่าตัวเลขดัชนีและเส้นกราฟตอนปิดตลาดนิวยอร์ก ยังของดันหน้าเป็นขาขึ้นต่อเนื่องไม่มีเค้าว่าจะพักฐานแรงในระยะสั้น แต่ก็ทำให้เกิดคำถามว่าขาขึ้นนี้จะเดินหน้าไปอีกนานแค่ไหน
ปัจจัยที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์หุ้นในตลาดนิวยอร์กพุ่งแรงสวนชาวโลก มีบางข้อน่าสนใจ เพราะมีคำตอบว่า 1) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯในเดือนมีนาคมเหนือระดับที่คาด แม้ว่าจะมีการปรับเพิ่มฐานในเดือนกุมภาพันธ์มากขึ้น และค่าจ้างเพิ่มโดยเฉลี่ย 0.3% แม้ว่าตัวเลขการ การว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 4.9% เป็น 5.0% 2) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกเดือนหนึ่งแม้จะไม่มากนักก็ยังเป็นการเพิ่มอยู่ดี 3) นักวิเคราะห์วอลล์สตรีทประเมินว่าผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัทใน S&P 500 (ไม่นับกลุ่มหุ้นพลังงาน) จะดีกว่าที่คาดในเทศกาลประกาศงบเดือนนี้ แม้โดยค่าถัวเฉลี่ยจะลดลง 7%
ปัจจัยบวกข้างต้นดังกล่าว ยังไม่ได้รวมถึง 1) การที่ค่าดอลลาร์อ่อนลงเพราะเฟดฯไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ยจนทุนเก็งกำไรไหลออกจากสหรัฐฯไปลี้ภัยตลาดเอเชียมาก 2) การปรับลดเรตติ้งของจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ของ S&P และ ความเชื่อมั่นที่หดหายของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น 3) ราคาน้ำมันที่โรยตัวลงต่ำกว่าระดับ 38 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากที่ความคาดหวังการประชุมตรึงผลผลิตน้ำมันกลางเดือนนี้ของชาติโอเปกและนอกโอเปกจะบรรลุผลต่ำลงมาก
หากนำมาหักกลบแล้ว ทำให้คำถามว่า ระหว่างปัจจัยบวกกับปัจจัยลบอย่างไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน
แนวโน้มของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเก็งกำไรขนาดใหญ่จำนวนมาก ยังเหลื่อมกันไม่มาก แต่เสียงข้างมาก ดูจะเชื่อว่า การพักฐานของตลาดในเดือยเมษายนของตลาดหุ้นนิวยอร์ก ตามด้วยตลาดหุ้นทั่วโลก มีความเป็นไปได้สูง และถ้าหากมีปัจจัยลบจากการที่ข้อตกลงตรึงราคาน้ำมันไม่บรรลุเป้าหมาย ก็อาจจะทำให้ปรากฏการณ์ “ขายทิ้งเดือนพฤษภาคม” ( May’s Sell Off) ซึ่งเป็น พฤติกรรมปกติของกองทุนขนาดใหญ่สหรัฐฯเกิดขึ้นได้เร็วกว่าปกติ
เหตุผลของฝ่ายที่มองปัจจัยลบเหนือกว่า มีหลายข้อดังนี้
– ไม่เพียงแต่หุ้นพลังงานที่น่าผิดหวัง แต่ตัวเลขผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนใน S&P500 โดยรวมก็ส่อเค้ามีแนวโน้มที่จะออกมาน่าผิดหวังเช่นกัน ประเมินกันหยาบๆ ว่า อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) น่าจะหดตัว 8.5% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน และอัตราการเติบโตยอดขาย (Sale Growth) ก็น่าจะหดตัว 1.1% ต่ออีกเป็นไตรมาสที่ 5 เช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการหดตัวติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี ค.ศ. 2008
– วิศวกรรมการเงินผ่านโปรแกรมการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 165,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อคิดเป็นมูลค่าการซื้อหุ้นคืนสะสมในรอบ 12 เดือนสูงถึง 590,000 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการมากกว่าปี 2007 ซึ่งสร้างอุปสงค์เทียมให้ราคาหุ้น มีขีดจำกัดที่จะทำต่อไม่ได้อีกแล้ว หรือทำได้ยากขึ้น อาจจะทำให้นับเป็นปัจจัยผกผันได้เพราะอุปสงค์เทียมหมดไป
– กำไรต่อหุ้นในไตรมาสแรก (EPS) เป็นกำไรเทียมที่สูงกว่าปกติ ในทางบัญชีไม่ได้เป็นตัวเลขที่มีคุณภาพ จากการซื้อหุ้นคืนจำนวนมาก อาจจะไปปรากฏความจริงเมื่อสิ้นไตรมาส 2 หรือครึ่งหลังของปี
– สถานการณ์ผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ในปัจจุบัน ยังไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด
– ตลาดหุ้น S&P500 เทรดบน Forward P/E 17.5 เท่าซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แพง
– ความเป็นไปได้ที่จะมีข้อตกลงตรึงผลผลิตน้ำมันในกลางเดือนนี้ที่การประชุมเมืองโดฮา ต่ำลงเพราะมีเงื่อนไขใหม่ถูกสร้างขึ้นเป็นข้อจำกัดในการเจรจาเพิ่มเติม โดยล่าสุด ซาอุดีอาระเบีย ประกาศเมื่อวันศุกร์ว่า จะร่วมตรึงราคาผลผลิตน้ำมันดิบ ก็ต่อเมื่ออิหร่านและชาติผู้ผลิตใหญ่อื่นๆ (แน่นอน รวมถึงสหรัฐฯที่ไม่ได้ร่วมการประชุมด้วย) ก็ยอมรับกระทำเช่นเดียวกัน
ไม่เพียงปัจจัยที่กล่าวมา ท่าทีและการขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจโลก ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงภายนอกหลายเรื่อง อาทิ กรณีประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษที่ใกล้เข้ามา ปัญหาการแทรกแซงค่าหยวนของทางการจีนที่ไม่ปล่อยตามธรรมชาติ และ กระแสฟันด์โฟลว์ของทุนเก็งกำไรออกจากการถือดอลลาร์
สำหรับตลาดหุ้นไทย เมื่อวันศุกร์ การขายทิ้งตั้งแต่ต้นตลาดจนดัชนีหลุด 1,400 จุด ถูกแรงซื้อกลับของต่างชาติดันกลับ จนมาปิดเหนือ 1,400 จุดได้ มีคำถามตามาว่า การพักฐานเพียงแค่ครึ่งไม่ถึง 2 วันจบสิ้นลงง่ายดายเพื่อพลิกกลับเป็นขาขึ้นอีกง่ายๆ แบบนี้หรือ
คำตอบคือ ต่างชาติยังคงเล่นกล ลับ-ลวง-พราง ในตลาดหุ้นไทย โดยอาศัยการที่ตลาดตราสารหนี้ยังเป็นขาขึ้น และค่าเงินบาทยังแข็งต่อเนื่องจากการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยยังเพิ่มขึ้นจนหาทางระบายไม่ทัน และแบงก์ชาติยังงุนงงว่าจะลดดอกเบี้ยหรือแทรกตลาดป้องกันบาทแข็งเกิน ทำให้ทุนไหลเข้าแปลงมาเป็นแรงซื้อต่อเนื่องในตลาดหุ้นได้ไม่ยาก แม้ว่าล่าสุดธนาคารเอดีบี จะปรับลดจีดีพีไทยลงเหลือแค่ 3.0% ในปีนี้
คำถามคือ ภายใต้แนวโน้มที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเฉลี่ยในไตรมาสแรก เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนย่ำแย่ลง ซึ่งหมายถึงค่าพี/อีตลาดที่จะเพิ่มขึ้น (แม้นักวิเคราะห์บางสำนักจะเชียร์แขกเกินจำเป็น โดยเอาตัวเลขเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อน เพื่อให้ดูดีขึ้น) ก็เป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนว่า ขีดจำกัดขาขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทยนั้น ยังมีความเสี่ยง
หากรวมเอาวันหยุดยาวที่เยอะแยะกว่าเดือนอื่นของปี ที่เป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมด้วยแล้ว ตลาดหุ้นไทยเดือนเมษายนนี้ น่าจะ “เย็น” มากกว่า “ร้อน”
เหตุผลสำคัญก็เพราะ มีมายาปนอยู่ในสัจจะ และมีสัจจะปนอยู่ในมายา ยากจะแยกแยะด้วยสามัญสำนึกหรือความรู้ปกติ ต้องอาศัยความเก๋า และสัญชาตญาณประกอบด้วย