ไฮสปีดเทรนสายเลื่อนลอยขี่พายุ ทะลุฟ้า

แรกเริ่มก็ตั้งความหวังไว้ซะสูงลิบลิ่วเชียวกับรถไฟฟ้าความเร็วปานกลางสายจีน ซึ่งจะวิ่งในเส้นทางหนองคาย-กรุงเทพฯ และสายญี่ปุ่น ซึ่งจะวิ่งในเส้นทางเชียงใหม่


ชาญชัย สงวนวงศ์

 

แรกเริ่มก็ตั้งความหวังไว้ซะสูงลิบลิ่วเชียวกับรถไฟฟ้าความเร็วปานกลางสายจีน ซึ่งจะวิ่งในเส้นทางหนองคาย-กรุงเทพฯ และสายญี่ปุ่น ซึ่งจะวิ่งในเส้นทางเชียงใหม่

ทางการไทยหวังกับจีนเป็นที่สุด แต่สุดท้ายก็ต้องปรับลดเส้นทางเหลือแค่กรุงเทพฯ-โคราช  โดยไทยเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด

ความหวังจะให้จีนมาร่วมทุนรวมทั้งหาดอกเบี้ยสินเชื่อราคามิตรภาพ ไม่เป็นจริง!

ส่วนรถไฟความเร็วสูงเส้นญี่ปุ่น มีการตีฆ้องร้องป่าวได้สักพัก แต่ตอนนี้เงียบหายกันไปแล้ว เข้าใจว่า การเจรจาสองฝ่าย คงไม่มีความกระตือรือร้นมากนัก

เรื่องของ “กาลเวลา” เป็นเรื่องที่มี “ต้นทุน”  ซึ่งหากปล่อยให้ผ่านเลยไปแล้ว ก็จะมีต้นทุนที่แพงขึ้น

ผมมานั่งพลิกดูเอกสารประกอบร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือที่เรียกว่า “พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน” ก็ยิ่งตระหนักว่าเวลานั้น มีต้นทุนจริงๆ

ซึ่งคนทั่วไป ไม่ค่อยได้ตระหนัก

บัญชีท้ายพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยโครงงานหลักๆ ได้แก่ รถไฟรางคู่ทั่วประเทศรวมทั้งแผนเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทั้งทางน้ำและชายฝั่ง 3.5 แสนล้านบาท

ยุทธศาสตร์รถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง อันมีเชียงใหม่, หนองคาย, ปาดังเบซาร์ และระยอง แถมเส้นเด่นชัย-เชียงรายอีกเส้นหนึ่ง มูลค่า 1.04 ล้านล้านบาท

ระบบขนส่งมวลชนในกทม.และปริมณฑลประมาณ 10 เส้นทางอีก 6 แสนล้านบาท และสำรองสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

เวลาล่วงเลยผ่านมาได้ 2 ปี ตอนนี้ ถ้าคิดจะลงโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศกันจริงๆ ก็คงจะใช้ราคาลงทุนขนาดที่ได้ประมาณการกันไว้ก่อนหน้านี้ไม่ได้แล้ว

ก็ขนาดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายกทม.-หัวหิน วิ่งทางราบในภาคกลาง ระยะทาง 250 กม.แค่นั้น การรถไฟฯยังประเมินราคาเอาไว้ถึง 94,673 ล้านบาทเลย

เส้นทางที่คิดจะทำอีกเส้นหนึ่งคือกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ก็ต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 152,528 ล้านบาทเลย

เส้นทางทั้ง 2 สายดังกล่าว คุณวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการร.ฟ.ท.บอกว่าจะเสนอครม.ให้เปิดประมูลได้ภายในปี2559 นี้

ผมเองก็ยังมีข้อสงสัยในคำให้สัมภาษณ์ของท่านผู้ว่าการร.ฟ.ท.เหมือนกันว่า ระยะทางกรุงเทพฯ-ระยอง น่าจะสั้นกว่ากรุงเทพฯ-หัวหิน แต่ทำไมถึงใช้งบลงทุนแพงกว่ากันตั้ง 60 เปอร์เซ็นต์กว่า

เส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูง อันจะเป็นอนาคตประเทศ ชักจะมีการพูดถึงกันอย่างสะเปะสะปะมากขึ้นทุกที

เส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช ค่อนข้างจะเอาจริงมากหน่อย เพราะนายกฯประยุทธ์ เป็นคนพูดเอง

ส่วนเส้นทางเชียงใหม่ ที่จะให้ญี่ปุ่นไปทำนั้น ชักจะไม่ค่อยมีการพูดถึงกันแล้ว และเส้นทางภาคใต้ไปปาดังเบซาร์ก็เงียบสนิท หาคนพูดถึงไม่ได้เอาเสียเลย

วัน-สองวันมานี้ ก็เพิ่งจะมีเส้นระยองกับเส้นหัวหินนี่แหละ แหวกแนวโผล่ออกมาพูดถึงกันโดยผู้ว่าการรถไฟฯ

อนาคตรถไฟฟ้าความเร็วสูงสำหรับประเทศไทย ยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานความเลื่อนลอยอยู่มาก ชักจะจับความไม่ได้ศัพท์ยิ่งขึ้นทุกที

มันมีปัญหาทั้งในภาคของการปฏิบัติที่จะจัดทำให้เป็นมรรคผล รวมทั้งปัญหาในเชิงของข้อกฎหมาย ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

จะต้องปฏิบัติจัดทำในรูปของพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเท่านั้น การจัดทำในรูปของ เงินนอกงบประมาณ” มิอาจจะกระทำได้

ผมเห็นคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯเศรษฐกิจ และคุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ชอบพูดอยู่เรื่อยๆ ว่าจะเอาเงินจากกองทุน “ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์” มาทำเมกะโปรเจ็กต์

ถ้าตั้งกองทุนดังกล่าวได้จริง นั่นจะถือเป็นเงินนอกงบประมาณมิใช่หรือ แล้วจะหลีกเลี่ยงการขัดรัฐธรรมนูญเหมือนสมัยยิ่งลักษณ์ได้อย่างไร

 

 

Back to top button