พาราสาวะถี อรชุน

คงรับไม่ได้กับพฤติกรรมอย่างหนาของเพื่อนจากอดีตกลุ่ม 40 ส.ว. ที่ถูกหวยรัฐประหารได้ดิบได้ดีในการนั่งเป็นสมาชิกสนช.และสปท. ต่อการเสนอคำถามพ่วงประชามติให้ส.ว.ลากตั้งสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ รสนา โตสิตระกูล จึงต้องออกโรงเรียกร้องเพื่อให้คนเหล่านั้นแสดงออกว่าไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ


คงรับไม่ได้กับพฤติกรรมอย่างหนาของเพื่อนจากอดีตกลุ่ม 40 ส.ว. ที่ถูกหวยรัฐประหารได้ดิบได้ดีในการนั่งเป็นสมาชิกสนช.และสปท. ต่อการเสนอคำถามพ่วงประชามติให้ส.ว.ลากตั้งสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ รสนา โตสิตระกูล จึงต้องออกโรงเรียกร้องเพื่อให้คนเหล่านั้นแสดงออกว่าไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ

ด้วยการเสนอให้พ่วงเงื่อนไขเข้าไปอีกชั้นสำหรับคำถามพ่วงประชามติว่า หากได้รับความเห็นชอบจากประชาชนสมาชิกสนช.และสปท.ทั้งหมดจะต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี เช่นเดียวกันกับกรธ. เพื่อแสดงเจตนาบริสุทธิ์ การเสนอคำถามพ่วงดังกล่าวไม่ได้มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของสปท. และ สนช.

สิ่งที่รสนาเตือนบรรดาเพื่อนที่กำลังหลงใหลในอำนาจและยังต้องการอยู่ในตำแหน่งต่อไปภายใต้การผลิตสร้างส.ว.ลากตั้งหลังจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการประชามติคือ การเสนอคำถามพ่วงดังกล่าวนั้นทำให้เกิดข้อครหาเดียวกับบรรดานักการเมืองที่คนดีทั้งหลายตำหนิว่าเป็นคนชั่วคนเลว เป็นพวกที่นิยมชงเอง กินเองหรือผลัดกันเกาหลังให้กันและกัน

แต่ดูจากการขยับกันเป็นแผงเล่นกันเป็นทีมแล้ว คงไม่มีการรับฟังเสียงทักท้วงใดๆ เพราะนัยหนึ่งนี่คงไม่ใช่สิ่งที่สมาชิกสปท.และสนช.หน้าหนาส่วนใหญ่คิดเอง ส่วนจะเป็นใบสั่งของใครนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องคาดเดาใดๆ ให้ยุ่งยาก ขณะที่ประเด็นว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์นั้นก็ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น การแต่งตั้งลูกเมีย ญาติสนิทไปนั่งเป็นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ก็สะท้อนภาพว่าแต่เขาอิเหนาหนักกว่าได้อย่างชัดเจนมาแล้ว

เหล่านี้คือความย้อนแย้งของเหล่าคนดี ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะโดยหลักแห่งข้อเท็จจริงแล้ว ใครก็ตามที่ท่องจำหรือสร้างวาทกรรมใดๆ ขึ้นมาเพื่อให้สังคมหลงเชื่อผลลัพธ์แห่งการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มคนเหล่านั้นมักจะเป็นในทางตรงข้าม ตัวอย่างเช่น คนที่พูดว่าจะไม่ปฏิวัติรัฐประหาร สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการลงมือล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งทุกราย

เช่นเดียวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ปากก็พร่ำบอกว่าเป็นร่างฉบับปราบโกงและเปิดรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน แต่ดูจากข้อกำหนดในกฎหมายทำประชามติแล้ว ฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคงขยับตัวลำบาก เพราะการจะแสดงความคิดเห็นใดๆต้องให้กกต.เป็นคนตีความ จับยามสามตาดูอนาคตก็รู้ว่า ผลของการใช้ดุลพินิจกับคนแต่ละคนแต่ละกลุ่มนั้นจะเป็นอย่างไร

ยิ่งได้ฟัง สมชัย ศรีสุทธิยากร ชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนในการเปิดโอกาสให้กลุ่มที่เห็นต่างและสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญได้แสดงออกแล้ว ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่การเปิดกว้างหรือเป็นการสร้างบรรยากาศให้สมกับการทำประชามติกฎหมายสูงสุดของประเทศแม้แต่น้อย การระบุว่าจะมีไม่กี่คนที่มีสิทธิ์ได้เข้าร่วมเวทีที่กกต.จะจัดขึ้น เท่านี้ก็เห็นแล้วว่าผลที่ออกมาจะเป็นเช่นใด

ถามว่ากกต.จะใช้อะไรมาเป็นบรรทัดฐานหรือหลักเกณฑ์ในการเลือกคนร่วมเวทีที่จะจัดให้ จะมีวิธีการเซ็นเซอร์กันอย่างไร และวิธีการที่บอกว่าไม่มีเวทีดีเบตแต่จะเป็นการบันทึกเทปเพื่อนำไปออกอากาศทางโทรทัศน์ โดยให้ผู้มีความเห็นต่างแสดงความเห็น 10 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที แค่นี้ก็เกิดคำถามแล้วว่า จำนวนครั้งที่กำหนดนั้นใช้หลักเกณฑ์อะไรมาพิสูจน์ว่าเพียงพอ

ยิ่งกรณีของกลุ่มที่เห็นต่างจะคัดเลือกกันอย่างไร กลุ่มการเมือง พรรคการเมือง จะมีโอกาสเข้าร่วมกันกี่มากน้อย ด้วยเหตุนี้คนที่ไม่เห็นกับวิธีการจึงมองว่าการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้รวมทั้งกฎหมายที่มีอยู่ถือเป็นการมัดมือชก คงไม่ต้องนำไปเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำ เพราะแม้จะมีการใช้โวหารหลอกล่อประชาชน แต่อย่างน้อยก็ยังเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง

เหมือนอย่างที่บอกมาโดยตลอดกฎหมายประชามติที่ผ่านความเห็นขอบของสนช.ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วางบทลงโทษไว้รุนแรง ขณะที่พฤติกรรมของการกระทำผิดแน่นอนว่าในที่นี้คงหมายถึงกลุ่มไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดกรอบไว้กว้างขวางมาก ทุกอย่างต้องอาศัยการตีความอย่างเดียว ซึ่งแน่นอนว่าผลแห่งการตีความในหลายๆ คดีที่ผ่านมา ผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามัน “สองมาตรฐาน” เลือกปฏิบัติชัดเจน

ด้วยเหตุในลักษณะเช่นนี้ จึงมีนักวิชาการบางรายที่ได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยโดยละเอียด ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเนื้อหาตั้งแต่คำปรารภไว้อย่างน่าสนใจ โดยมองกันว่าปกติแล้วการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะมีการเขียนคำปรารภ โดยกล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นเพื่อเป็นคำอธิบายถึงที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ

แต่คำปรารภร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย แตกต่างกว่าฉบับอื่นๆ เพราะเขียนออกมาแบบแข็งกระด้าง กล่าวหาบุคคลหรือกลุ่มบุคคลต่างๆ ว่าเป็นผู้สร้างวิกฤติความขัดแย้ง ทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติจึงเกิดคำถามว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศชาติต้องการลดความขัดแย้ง เพิ่มความปรองดอง มีความจำเป็นหรือไม่อย่างไรที่ต้องเขียนแบบนี้

การเขียนคำปรารภแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ เพราะโดยทั่วไปต้องใช้ถ้อยคำที่เป็นมงคลและหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่เป็นการยั่วยุข่มขู่หรือสร้างความขัดแย้ง แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับกล่าวโทษคนโน้นคนนี้และชวนให้คนไทยทะเลาะกันตั้งแต่อ่านหน้าแรกจะว่าไปแล้วก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะหากพิจารณาจากท่าทีของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งแสดงออกต่อสาธารณะหลายครั้งหลายหนจะเห็นว่าเป็นพวกเลือกข้างชัดเจน

คงไม่ต่างจากผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่แม้จะประกาศปาวๆ ยึดกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญและวางตัวเป็นกลางกับทุกฝ่าย แต่การกระทำและคำพูดมันสวนทางกัน กรรมการกลายเป็นผู้เล่นและเป็นฝ่ายเลือกข้างเสียเอง เช่นนี้แรงกระเพื่อมความขัดแย้งที่ใช้กฎหมายพิเศษเหยียบทับอยู่ มันจึงเป็นความสงบเพียงชั่วครู่ชั่วยาม หากท่านเชื่อว่าจะสามารถสะกดความรู้สึกของประชาชนไปได้นานถึง 20 ปีตามยุทธศาสตร์ชาติ ก็ขอให้เชื่อเช่นนั้นและภาวนาว่าขอให้บ้านเมืองมันสงบราบคาบอย่างนั้นจริงด้วยก็แล้วกัน

Back to top button