คำถามพ่วง ‘เล่นท่ายาก’ทายท้าวิชามาร

คำถามพ่วงประชามติ “เพื่อให้การปฏิรูปประเทศต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดในบทเฉพาะกาลว่า ระหว่าง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรก ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”กำลังกลายเป็นชนวนป่วนประชามติเสียเอง


ใบตองแห้ง

 

คำถามพ่วงประชามติ “เพื่อให้การปฏิรูปประเทศต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดในบทเฉพาะกาลว่า ระหว่าง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรก ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”กำลังกลายเป็นชนวนป่วนประชามติเสียเอง

โถ ขนาด กกต.สมชัย ศรีสุทธิยากร ยังท้วงว่าถามนำทำให้ประชาชนสับสน แล้วจะให้ผู้คนทั่วไปคิดยังไง (เซอร์ไพรส์สิครับ ทุกที กกต.สมชัยเห็นดีเห็นงาม นี่กลับทะลุกลางปล้อง)

ฟาก กรธ.ก็ชัดเจนว่าไม่เกี่ยวไม่ข้อง ไม่ชี้แจง ไม่ดีเบต วันที่ สนช.มีมติ โฆษก กรธ.ประกาศว่า “ขึ้นอยู่กับประชาชนไว้ใจทหารหรือไม่” ถ้า กรธ.คิดว่าดี คงใส่ในรัฐธรรมนูญไปแล้ว

เมื่อจำแนกท่าทีกลุ่มต่างๆ ที่ประกาศตัว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นิติราษฎร์ นักวิชาการประชาธิปไตย นักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ พรรคเพื่อไทย นปช. ไม่รับแน่นอน แถมยังมีเครือข่าย NGO สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ประกาศไม่รับร่างด้วย

พวกที่จะรับทั้ง 2 ข้อได้แก่ สนช. สปท. พุทธอิสระ และ “มวลมหาประชาชน” คนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี ที่สรุปง่ายๆ ไม่ต้องคิดมากว่า เมื่อนักการเมืองไม่รับ แปลว่าร่างรัฐธรรมนูญ “ปราบโกง” ส่วนพวกนักศึกษานักวิชาการ ก็รับเศษเงินทักษิณมา

ง่ายดีนะ ประเทศนี้ ขัดขวางเลือกตั้ง ล้มรัฐธรรมนูญ เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่พอจะลงประชามติ ใครไม่รับกลายเป็นรับเงิน

ที่น่าจับตาคือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแบะท่ามาตลอดว่าอยากรับ แม้ท้วงติงบางเรื่อง แต่ ปชป.ชอบอยู่แล้ว ร่างที่ให้อำนาจศาล องค์กรอิสระ กำจัดรัฐบาลเลือกตั้งโดยง่าย อ้าว ก็อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกฯ เพราะศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชนไม่ใช่หรือ

กระนั้นเมื่อ สนช.โยนคำถามประชามติที่ส่อว่าจะนำไปสู่ “นายกฯ คนนอก” ปชป.ก็เต้นผาง นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เปิดฉากก่อนเพื่อน เช่นเดียวกับนิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา ขณะที่พรรคภูมิใจไทยแบะท่า “น้อมรับกติกา”

นี่ยังไม่พูดถึงว่า บรรดาคนชั้นกลางชาวกรุงที่เคยเป็น “ม็อบมือถือ” ปี 2535 จะบอกลูกบอกหลานอย่างไร หากรับคำถามพ่วง แม้คนเหล่านี้อาจรับร่างรัฐธรรมนูญ

ผลประชามติครั้งนี้ประเมินยาก ภายใต้อำนาจ คสช.ที่จับกระทั่งขันแดง ภายใต้กฎหมายประชามติ ที่ใคร “ปลุกระดม บิดเบือน” ก็มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี แต่ที่แน่ๆ คือฝ่ายต้องการ “นายกฯคนนอก” จะต้องผลักดันให้ประชามติผ่านทั้ง 2 คำถาม ไม่ใช่ผ่านแค่ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น เป็นงานยาก 2 ชั้น

ความเป็นไปได้จึงมี 3 ทางคือ หนึ่ง ผ่านทั้งคู่ แต่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าปิดกั้นเสรีภาพในการรณรงค์ สอง ร่างไม่ผ่าน ซึ่งคำถามพ่วงตกไปด้วย จะกระทบเสถียรภาพในการปกครองประเทศของ คสช.อย่างรุนแรง โพลล์คะแนนนิยมกลายเป็นกระดาษเปื้อนหมึกทันที

สาม ถ้าผ่านเฉพาะร่าง คำถามพ่วงไม่ผ่าน มีโอกาสเกิดได้นะ เพราะ ปชป.และคนบางส่วนอาจรับร่างแต่ไม่ต้องการ “นายกฯ คนนอก” ฝ่ายที่ต้องการนายกฯ คนนอกก็จะไปไม่ถึงดวงดาว ค้างเติ่งได้ครึ่งเดียว ได้ ส.ว. 250 คน 6 ผบ.เหล่าทัพ แต่เลือกนายกฯ ไม่ได้ทำไงดี ขณะที่ คสช.และ สนช.จะยังอยู่ในอำนาจอีกแค่ 1 ปีเศษ

อยากเล่นท่ายาก ก็ลำบากอย่างนี้ ต้องผลักให้ผ่านทั้ง 2 คำถาม ถ้าได้แค่คำถามเดียวก็เหมือนไม่ผ่านอยู่ดี

 

Back to top button