พาราสาวะถี อรชุน

เป็นลีลาที่ยากจะเลียนแบบจริงๆ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาแถลงข่าวไม่ยอมรับคำถามพ่วงทำประชามติ โดยยกเรื่องของการขัดหลักการประชาธิปไตยและหวั่นว่าจะสร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาชน แต่กับร่างรัฐธรรมนูญหัวหน้าพรรคเก่าแก่ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะรับหรือไม่รับ ทั้งๆ ที่มีบทสรุปว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยมีข้อเสียมากกว่าข้อดี


เป็นลีลาที่ยากจะเลียนแบบจริงๆ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาแถลงข่าวไม่ยอมรับคำถามพ่วงทำประชามติ โดยยกเรื่องของการขัดหลักการประชาธิปไตยและหวั่นว่าจะสร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาชน แต่กับร่างรัฐธรรมนูญหัวหน้าพรรคเก่าแก่ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะรับหรือไม่รับ ทั้งๆ ที่มีบทสรุปว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยมีข้อเสียมากกว่าข้อดี

ด้วยท่วงทำนองเช่นนี้นี่ไงที่ทำให้หลายฝ่ายมองด้วยท่าทีเคลือบแคลงว่า เหตุที่ไม่ประกาศให้ชัดว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะยังมีการเจรจาว่ากันด้วยอำนาจหลังการเลือกตั้งอยู่หรือเปล่า เท่ากับเป็นการยื่นหมูยื่นแมว แต่หากยึดแนวทางนี้เส้นทางของพรรคประชาธิปัตย์ก็หนีไม่พ้นเป็นฝ่ายค้านดักดานด้วยผลของการเลือกตั้ง ถ้าจะก้าวขึ้นสู่ความเป็นพรรครัฐบาลก็ไม่สง่างามอีกนั่นแหละ

หนทางที่ผู้มีอำนาจเชื่อมั่นว่า ทุกอย่างจะราบรื่น เรียบร้อย ราบคาบ ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะหากมีแค่เสียงท้วงติงของพรรคเพื่อไทยหรือแกนนำนปช.ที่เป็นขาประจำก็อาจจะข้างๆ คูๆ ไปได้ว่า อย่างไรเสียคนพวกนี้ก็มองไม่เห็นความตั้งใจดีของรัฐบาลและคสช.อยู่แล้ว แต่นาทีนี้ไม่ใช่เช่นนั้น การขยับของประชาธิปัตย์แม้จะไม่เต็มตัวแต่ก็เป็นจังหวะก้าวที่ไม่ควรมองข้าม

การออกมาวิจารณ์ของคนกันเองที่ไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วงประชามติย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ปกติแน่นอน มิเช่นนั้น อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท.ผู้ซึ่งยืนยันไปก่อนหน้านั้นว่า คำถามพ่วงไม่น่าจะมีผลต่อการทำประชามติ แต่พลันที่อภิสิทธิ์ออกมาแถลงท่าทีของพรรคเก่าแก่ เสี่ยจ้อนก็ออกลูกกังวลทันที นี่ย่อมไม่ใช่สัญญาณที่ดี

ในมุมของคนการเมืองที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย และปักหลักเป็นฝ่ายค้านดักดานมากับพรรคเก่าแก่ แสดงความเป็นห่วงว่า นอกจากความเสี่ยงในการออกเสียงประชามติแล้ว ยังมีความเสี่ยงประเด็นการไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถาม หากการออกเสียงประชามติเห็นชอบก้ำกึ่งเหนือกว่าเสียงไม่เห็นชอบไม่เด็ดขาด จะเป็นชนวนความขัดแย้งก่อความไม่สงบตามมา จนกระทบต่อโรดแมปที่ต้องการเดินหน้าประเทศสู่การเลือกตั้งภายในปี 2560

ข้อห่วงใยของอลงกรณ์ไม่แน่ใจว่าเป็นลางสังหรณ์ที่กลัวจะเดินไปย่ำซ้ำรอยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬหรือไม่ ซึ่งก็น่าคิดอยู่ไม่น้อย หากเป็นเช่นนั้นก็น่าจะเหมือนกับที่ บุญเลิศ วิเศษปรีชา เขียนบทความไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ ในประเด็นเรื่อง “บทเรียนสุจินดาถึงประยุทธ์ จำเป็นต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ” โดยมีการย้อนความไปถึงการก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของ พลเอกสุจินดา คราประยูร ในเวลานั้น

การขึ้นเป็นนายกฯของพลเอกสุจินดา เป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญปี 2534 ได้เปิดช่องให้นายกฯไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นกลางกลับต่อต้าน เพราะเห็นว่า เป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารรสช. รวมทั้งไม่อาจยอมรับข้ออ้าง “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ที่พลเอกสุจินดายกมากลบคำพูดของตัวเองที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้าจะไม่เป็นนายกฯ

กรณีพลเอกสุจินดาและเหตุการณ์พฤษภาทมิฬจะไม่เกิดขึ้นเลย หากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ไม่เปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกเสียแต่แรก ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการคัดค้านตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2534 มีการชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ที่ว่ากันว่า เป็นการชุมนุมการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดครั้งแรกนับแต่เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แต่สนช.ขณะนั้นกลับเมินเสียงต่อต้าน และผ่านร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกได้จนนำไปสู่ความรุนแรง 

กล่าวได้ว่า เป็นการประเมินความรู้สึกของประชาชนที่ผิดพลาดของคณะรสช.และบรรดานักร่างรัฐธรรมนูญขณะนั้น ซึ่งมีคนชื่อ มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ เป็นการวางระเบิดเวลาที่รอการปะทุ เพราะไม่เข้าใจว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่อาจยอมรับการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร บทเรียนกรณีพลเอกสุจินดา หากนำมาเทียบเคียงกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบันอาจจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ก็ใกล้เคียงอยู่ไม่น้อย

คสช.และมีชัยกำลังประเมินความรู้สึกของประชาชนต่ำเกินไป จึงได้ร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้คสช. ได้สืบทอดอำนาจอย่างปราศจากความละอาย การให้คสช.มีอำนาจในการแต่งตั้งส.ว. 250 คน การเปิดช่องให้นายกฯไม่จำเป็นต้องมาจากส.ส.  การให้อำนาจล้นฟ้ากับศาลรัฐธรรมนูญ ที่ท้ายที่สุดก็จะทำให้อำนาจของประชาชนที่ใช้ผ่านการเลือกตั้งไร้ความหมาย

ดังนั้น เนื้อหาหลักของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็คือ การบั่นทอนอำนาจของประชาชนที่ใช้ผ่านการเลือกตั้ง และสงวนอำนาจไว้สำหรับคณะรัฐประหาร หรือกล่าวให้ชัดขึ้นก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตอกย้ำ ความรู้สึกของประชาชนที่มีอยู่ทั่วไปว่าด้วย ระบบไพร่–อำมาตย์ ที่อภิสิทธิ์ชนจำนวนน้อยกุมอำนาจโดยไม่ต้องฟังเสียงประชาชน

ผู้มีอำนาจและพวกไม่ตระหนักว่าสถานภาพของพวกเขาจะเปลี่ยนไปในทันที เมื่อใครก็ตามในคสช.ขึ้นเป็นนายกฯหลังการเลือกตั้ง เพราะพวกเขาจะไม่มีอำนาจพิเศษในการควบคุมประชาชนเหมือนเช่นทุกวันนี้ที่ใช้มาตรา 44 ลิดรอนสิทธิของประชาชน รวมถึงการคุกคามประชาชนภายใต้คำพูดว่า นำตัวไปปรับทัศนคติ ทั้งๆ ที่ผู้มีอำนาจบางคนต่างหากที่ควรจะเปลี่ยนทัศนคติของตนเองที่มีต่อประชาชน เลิกคิดเสียทีว่า มีแต่กลุ่มของตนกลุ่มเดียวที่หวังดีต่อส่วนรวม

ความชัดเจนของผู้มีอำนาจที่ดำเนินการอยู่ในเวลานี้คือ การหาช่องทางในการปิดกั้นกลุ่มไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการที่จะแสดงออก ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม แต่หากประชาชนซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่าสิ่งที่เห็นในร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงมันมากเกินไป การโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยจึงอาจจะเป็นทางเลือกเพื่อส่งสัญญาณชัดๆ แรงๆ โดยสันติว่า ประชาชนไม่ต้องการระบอบคณาธิปไตย

กลายเป็นเรื่องตลกที่คนซึ่งยึดอำนาจฝ่ายประชาธิปไตยมา ขู่ฟ่อดๆ สองพรรคการเมืองใหญ่ทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ หากเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ดีก็ไม่ต้องลงเลือกตั้ง แสดงกำพืดที่แท้จริงของพวกถืออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นการยืนยันว่า กาไม่สามารถออกไข่ให้เป็นหงส์ได้ฉันใด เผด็จการก็ไม่สามารถเข้าใจประชาธิปไตยและลิ่วล้อเผด็จการก็ไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้ฉันนั้น

Back to top button