พาราสาวะถี อรชุน

มาตามนัดแล้วก็ไม่ได้รับการปล่อยตัวตามคาดหมาย สำหรับ วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่โพสต์เฟซบุ๊ก “ผมก็ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ในวันสงกรานต์ จนถูกทหารโทรศัพท์ขอนำตัวไปปรับทัศนคติในวันที่ 14 เมษายน แต่เจ้าตัวขอเลื่อนมาพบเมื่อวาน ก่อนจะถูกหิ้วเข้า มทบ.11 โดยระหว่างนั้นประกาศลั่นถ้าไม่ได้รับการปล่อยตัวในเวลาบ่ายสามโมงจะฟ้อง คสช.ข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว


มาตามนัดแล้วก็ไม่ได้รับการปล่อยตัวตามคาดหมาย สำหรับ วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่โพสต์เฟซบุ๊ก ผมก็ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันสงกรานต์ จนถูกทหารโทรศัพท์ขอนำตัวไปปรับทัศนคติในวันที่ 14 เมษายน แต่เจ้าตัวขอเลื่อนมาพบเมื่อวาน ก่อนจะถูกหิ้วเข้า มทบ.11 โดยระหว่างนั้นประกาศลั่นถ้าไม่ได้รับการปล่อยตัวในเวลาบ่ายสามโมงจะฟ้อง คสช.ข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว

แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามรูปการฝ่ายความมั่นคงไม่มีทางที่จะปล่อยตามคำขู่ มิเช่นนั้น จะเสียหายทางความน่าเชื่อถือ ขณะที่ฟากเสี่ยไก่ในฐานะนักกฎหมายจากรั้วจามจุรี คงมีการเตรียมการทุกอย่างไว้เรียบร้อย โดยวันนี้ วีรดา เมืองสุข ลูกสาวจะเข้าเยี่ยมพร้อมทนายความ ก่อนเดินหน้าฟ้องร้องตามที่ลั่นวาจาไว้ ขณะที่เพื่อไทยหลังจากออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัววัฒนาวานนี้ วันนี้เช่นเดียวกันจะไปยื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานสหภาพยุโรปหรืออียูประจำประเทศไทย

คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ เหตุใดแค่โพสต์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นความผิด และหากข้อตกลงเงื่อนไขที่วัฒนาไปเซ็นไว้กับ คสช.มีตามที่เจ้าตัวโพสต์แสดงเป็นหลักฐาน ก็ยังไม่เห็นประเด็นที่จะเข้าข่ายความผิดใด หรือนี่จะเป็นบทพิสูจน์ที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยของข้าใครอย่าแตะ ถ้าเช่นนั้นกฎหมายการทำประชามติที่กกต.จะต้องเป็นผู้รักษากติกาก็ไม่มีความหมาย

จะเป็นความจงใจที่จะปิดปากหรือห้ามไม่ให้ฝ่ายเห็นต่าง กลุ่มไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้แสดงความเห็นหรือไม่ แต่ไม่ว่าใช้วิธีการใดก็ตาม ยามนี้เริ่มที่จะมีการแสดงตนของบุคคลและกลุ่มคนที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากกลุ่มที่ถูกมองเป็นปฏิปักษ์ตั้งแต่ต้นอย่างพรรคเพื่อไทยและ นปช.

ล่าสุด เป็น สมเกียรติ อ่อนวิมล  นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและอดีต ส.ว.สุพรรณบุรี แน่นอนว่าคนๆนี้ไม่เอาระบอบทักษิณและเป็นมิตรกับผู้มีอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะได้ไปร่วมกับม็อบ กปปส.อย่างเปิดเผย แต่เจ้าตัวกลับประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่แรกเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้น ยังเห็นว่าเนื้อหาบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นประชาธิปไตย กล่าวโดยสรุปคือ ร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ที่มาก็ไม่ใช่ที่จะไปก็ไม่มีประชาธิปไตย ทว่าตามสไตล์ของสมเกียรติ ที่ไม่เพียงแค่แสดงท่าทีอย่างเดียว ยังเสนอแนะต่อไปด้วยว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยยั่งยืน ต้องร่างให้เป็นประชาธิปไตยและให้มีกระบวนการหลอมรวมจิตวิญญาณของชาติและประชาชน

กล่าวคือ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญนั้นสำคัญ ใครๆก็ร่างได้ แต่ที่ยิ่งใหญ่กว่าและขาดหายไปคือจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญที่ต้องมาจากประชาชน ทางออกของประเทศไทยง่ายนิดเดียวคือ คสช.ร่วมทำงานสร้างชาติกับประชาชนไปด้วยกันพร้อมกัน โดยให้ประชาชนมีอำนาจเหนือ คสช. อย่างนี้ทำอะไรก็สำเร็จ แต่คงยากเพราะมองจากเจตนาแล้ว ผู้มีอำนาจต้องการจะอยู่และลากยาวไปกว่าที่สมเกียรติคิด

นอกเหนือจากสมเกียรติที่แสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นคนล่าสุดแล้ว ก่อนหน้านั้น เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองก็ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยอธิบายเหตุผลอย่างน่าสนใจไว้ 5 ประการคือ รัฐธรรมนูญเป็นสัญญาประชาคมที่ทุกฝ่ายในสังคมร่วมกันตกลงและสร้างขึ้นเพื่อเป็นกติกาแม่แบบในการดำเนินชีวิตทางการเมืองและสังคมเพื่อความไพบูลย์ร่วมกัน

แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ของ คสช. ขาดหลักการและความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะกฎหมายอันสูงสุดของประเทศ กลับเป็นเพียงกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางฝ่ายเท่านั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขัดกับหลักประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงทางการเมืองของประชาชน และจงใจสร้างความอ่อนแอแก่ระบบรัฐสภา อาทิ นายกรัฐมนตรีสามารถมาจากบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.

อำนาจอันกว้างขวางของสมาชิกวุฒิสภา การกำหนดจำนวนสมาชิกวุฒิสภาแก่ผู้นำทหาร ระบบการคำนวณคะแนนสส.บัญชีรายชื่อที่ไม่สอดคล้องกับสถานะตัวแทนของราษฎร และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ แทนที่ คสช.จะสิ้นสุดลงตามที่มีสัญญาวาจาไว้ กลับยังคงอำนาจต่อไปอีก อย่างน้อยหนึ่งปีหลังการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำลายหลักนิติธรรมที่ยึดถือหลักการแบ่งแยกอำนาจอันเป็นแก่นแท้ของการปกครองในระบบเสรีประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังมอบอำนาจทางการเมือง การปกครองอย่างสูงแก่องค์กรตุลาการ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ในการตรวจสอบควบคุมการทำหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติหรือรัฐสภา และองค์กรบริหารหรือรัฐบาล

การให้อำนาจมหาศาลขนาดนั้น ทว่ากลับไม่มีการกำหนดกลไกที่จะให้เกิดกระบวนการในการทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรนั้นๆ ทั้งๆที่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ว่า การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรเหล่านี้มีส่วนในการบั่นทอนตั้งแต่กฎเกณฑ์ทางกฎหมายเบื้องต้นไปจนถึงสนับสนุนการทำลายหลักการประชาธิปไตย

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอื้อให้รัฐละเมิดอำนาจและสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการสร้างเงื่อนไขในการบังคับใช้กฎหมายในนามของความมั่นคง และทำให้การตีความขอบเขตอำนาจของความมั่นคงอยู่ในมือของกองทัพและกลุ่มคนที่อยู่นอกองค์กรการบริหารของรัฐ ทั้งนี้ ในสังคมเสรีประชาธิปไตย กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้มุ่งให้อำนาจแก่รัฐเท่านั้น แต่ยังต้องมีบทบัญญัติที่จำกัดอำนาจรัฐไม่ให้มีอำนาจจนเกินขอบเขต นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

ประการสุดท้าย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดเงื่อนไขให้การแก้ไขเนื้อหาในระดับที่ยากอย่างยิ่ง หรือไม่อยู่ในวิสัยจะทำได้เลย ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีการคาดหมายกันว่า ประชามติคราวนี้ถ้าฝ่ายกุมอำนาจชนะคะแนนจะไม่ห่างอาจสูสีกว่าประชามติปี 2550 ด้วยซ้ำ แต่ถ้าแพ้ก็จะเป็นการพ่ายแพ้ชนิดที่คะแนนขาดลอยเหมือนผลเลือกตั้งในพม่า ดังนั้น มันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้มงวดกวดขัน กดดันกันทุกกระบวนท่า โดยไม่กลัวว่าจะเกิดข้อครหาต่างๆตามมา

Back to top button