พาราสาวะถี อรชุน
เปิดหน้าไพ่ให้เห็นกันจะจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยที่จะนำไปทำประชามติเป็นของต้องห้าม แตะต้องไม่ได้ คงหนีไม่พ้นเหตุผลมันคือดัชนีชี้วัดเสถียรภาพทางอำนาจของคณะรัฐประหาร ไม่ว่าจะสร้างกลไกใดออกมาเพื่อให้คนส่วนใหญ่เห็นว่านี่เป็นการยึดตามกระบวนการยุติธรรม ทำตามหลักกฎหมาย แต่สุดท้ายมันหนีไม่พ้นเรื่องของการสั่งโดยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
เปิดหน้าไพ่ให้เห็นกันจะจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยที่จะนำไปทำประชามติเป็นของต้องห้าม แตะต้องไม่ได้ คงหนีไม่พ้นเหตุผลมันคือดัชนีชี้วัดเสถียรภาพทางอำนาจของคณะรัฐประหาร ไม่ว่าจะสร้างกลไกใดออกมาเพื่อให้คนส่วนใหญ่เห็นว่านี่เป็นการยึดตามกระบวนการยุติธรรม ทำตามหลักกฎหมาย แต่สุดท้ายมันหนีไม่พ้นเรื่องของการสั่งโดยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ชัดเจนตรงที่การยืนยันของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวานถึงเรื่องการรณรงค์ทั้งรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีการอ้างถึงกฎหมายประชามติที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ ทั้งๆที่ตามเนื้อหาสาระของกฎหมายฉบับดังกล่าว คนที่จะเป็นผู้ปฏิบัติคือกกต. แต่หัวหน้า คสช.ก็ประกาศลั่นต้องไม่มี ไม่ทำในการรณรงค์ทั้งฝ่ายรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
โดยท่านผู้นำอ้างความเป็นหน้าที่ของประชาชนตามหลักประชาธิปไตยที่จะออกเสียงประชามติหรือเลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าท่านจะหมายถึงอะไร เพราะไม่ว่าจะประชามติหรือเลือกตั้ง ประชาชนที่จะไปออกเสียงใช้สิทธิ์นั้น จำเป็นจะต้องได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพียงแค่การรอให้กรอกหูโดยกรธ.ที่จะเดินสายชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ พร้อม สนช.และ สปท.ที่จะไปอธิบายคำถามพ่วงประชามติ
การกร้าวใส่กลุ่มนักวิชาการในทำนองว่าถ้ากฎหมายประชามติมีผลบังคับใช้จะโดนหมด โดยยกเหตุผลเขาห้ามพูดรณรงค์ ไม่เว้นแม้กระทั่งนักวิชาการ แล้วเช่นนี้คงไม่จำเป็นแล้วกระมังที่กกต.จะต้องทำคู่มือหลักเกณฑ์หรือกติกาเกี่ยวกับการแสดงความเห็นของกลุ่มรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะผู้มีอำนาจล้นฟ้าในเวลานี้แสดงท่าทีที่ชัดเจนไปแล้ว
ไม่เพียงแต่การรณรงค์เท่านั้น การใส่เสื้อโหวตโน โหวตเยส ก็เป็นความผิดเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น สื่อมวลชนโดยเฉพาะนักวิจารณ์ ซึ่งก็คงจะหมายถึงคอลัมนิสต์ทั้งหลายแหล่ ก็มีการยกเอาโทษจำคุก 10 ปีมาขู่ด้วย ในทำนองว่าโดนหมด ถ้าจะห้ามกันถึงขนาดนั้น คงต้องย้อนกลับไปที่ข้อเสนอของหลายๆคนว่า ไม่ต้องทำประชามติให้เปลืองงบประมาณดีกว่ามั้ง ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเสียเลย
ท่วงทำนองเช่นนี้ของท่านผู้นำ คงไม่ต้องไปถาม กกต.ต่อว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปในกระบวนการทำประชามติ สิ่งที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร พูดมาก่อนหน้านี้ว่าการแสดงท่าทีของพรรคเพื่อไทยหรือการแสดงความเห็นของนักวิชาการไม่ถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายประชามติ แต่พอฟังท่านผู้มีอำนาจเด็ดขาดแล้ว มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ไม่รู้ว่านี่คือความลักลั่นหรือการไม่ได้สื่อสารทำความเข้าใจร่วมกันในหมู่มวลสมาชิกแม่น้ำ 5 สายหรือเปล่า หรือเป็นเพียงความรู้ใจกันเฉพาะท่านผู้นำ ผู้มีอำนาจและมือกฎหมายในนามเนติบริกรเท่านั้น เพราะถอดรหัสจากท่าทีของกรธ. 2 รายล่าสุด ดูเหมือนว่าจะพูดไปคนละทิศคิดไปคนละทางกับทาง มีชัย ฤชุพันธุ์ประธานกรธ.
ก่อนหน้านี้มีชัยพูดชัดในการลงพื้นที่ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชน จะกระเตงเอา สนช.และ สปท.ไปช่วยชี้แจงคำถามพ่วงประชามติด้วย เพราะไม่ใช่หน้าที่ของกรธ. แต่ ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรธ.กลับบอกว่า อาจสร้างความสับสนได้ คล้ายกับกรธ.มีหน้าที่ชี้แจงสาระของร่างรัฐธรรมนูญ โดยเป็นคนขี่จักรยาน แต่ สนช.ที่มีหน้าที่ชี้แจงคำถามประกอบประชามติเป็นคนซ้อนท้ายจักรยาน หากคนขี่บอกว่าไปทางนี้ได้ แต่คนซ้อนบอกว่าต้องอีกทาง เรื่องนี้อาจทำให้คนฟังเกิดความสับสนได้
สำทับด้วย ประพันธ์ นัยโกวิท กรธ.มองว่า การให้ สนช.ร่วมเวทีชี้แจงกับ กรธ.อาจไม่เหมาะสม เพราะคำถามประกอบการออกเสียงประชามติของ สนช. ที่ระบุให้ใช้ที่ประชุมรัฐสภาร่วมให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีนั้น มีเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญ
สรุปแล้วคือ ต้องไปคุยกันในกรธ.เสียให้ชัดขนาดมีต้นทางรากที่มาจากที่เดียวกัน ยังมองไปกันละทิศแล้วจะให้ประชาชนเชื่อถือได้อย่างไร สิ่งที่สะท้อนจากท่าทีที่เกิดขึ้น นั่นหมายความว่า กรธ.หลายรายก็ไม่สบายใจกับการลักไก่ใช้ช่องทางของรัฐธรรมนูญชั่วคราวยัดคำถามในลักษณะที่ขัดกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญมาเช่นนี้
คงไม่ต้องอธิบายกันต่อไปว่า การคุมตัว วัฒนา เมืองสุข ไปปรับทัศนคตินั้นเป็นเพราะมีพฤติกรรมสะสมจากการท้าทายอำนาจของ คสช. หากแต่เป็นเรื่องของการประกาศตัวไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งนั่นเอง แต่ประสาเสี่ยไก่ที่ใกล้ชิดคนมีสีจนมีการมองว่าเป็นล่ามพูดจาประสาทหารให้กับพรรคมาโดยตลอด คงไม่อินังขังขอบต่อการถูกดำเนินการในครั้งนี้
จะเห็นได้ว่ามีการวางเกมไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน อันจะเห็นได้จากการเปิดตัว วีรดา เมืองสุข ของสาวของเสี่ยไก่ในวันที่ไปให้ทหารรวบตัว ตามมาด้วยวันรุ่งขึ้นเจ้าตัวพร้อมทนายความก็ไปยื่นเรื่องร้องต่ออียูประจำประเทศไทยและในวันนี้จะไปยื่นร้องเรียนต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกาด้วย เป็นเจตนาที่จะให้ต่างชาติเห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทหาร
อย่างไรก็ตาม ดอน ปรมัตถ์วินัย ก็ไม่ได้รอช้า ได้อธิบายกับ เคซุส มีเกล ซันซ์ หัวหน้าคณะผู้แทนอียู ประจำประเทศไทยทันทีในวันเดียวกัน โดยมีการยกประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยในช่วง 15 ปีไปอธิบายพร้อมแจกแจงความจำเป็นที่ทหารจะต้องเข้ามาปฏิวัติ พร้อมบอกต่อไปว่าไม่มีเจตนาสืบทอดอำนาจ อันจะเห็นได้จากการวางโรดแมปเพื่อการเลือกตั้งไว้อย่างชัดเจน
คงต้องดูว่าหัวหน้าคณะผู้แทนอียูจะเชื่อน้ำคำตามนั้นหรือไม่ แต่โดยมารยาททางการทูตแล้วคงไม่มีปัญหาอะไร ถ้ามองเฉพาะอียูหากเขาเชื่อจริงปมปัญหาเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายที่กำลังพิจารณาว่าจะให้ใบแดงประเทศไทยหรือไม่จะเป็นบทพิสูจน์ ส่วนที่รัฐมนตรีต่างประเทศอ้างว่าสอบถามคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้สึกว่าถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพแต่อย่างใด ไม่รู้ว่าใช้โพลสำนักไหน หวังว่าคงไม่ใช่สำนักงานสถิติแห่งชาตินะ (ฮา)