ประชามติปราบปรามทายท้าวิชามาร
การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแทนที่จะเป็นช่วงผ่อนคลายเปิดให้แสดงความเห็น กลับกลายเป็นช่วงหวงห้ามจับกุมปราบปรามความเห็นต่างหรืออย่างไร
ใบตองแห้ง
การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแทนที่จะเป็นช่วงผ่อนคลายเปิดให้แสดงความเห็น กลับกลายเป็นช่วงหวงห้ามจับกุมปราบปรามความเห็นต่างหรืออย่างไร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พูดเสียงเดียวกันว่าที่นักวิชาการออกมาประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถ้า พ.ร.บ.ประชามติประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้วทำไม่ได้ ถือเป็นการรณรงค์มีโทษจำคุก 10 ปี ไม่กลัวก็ตามใจ ใครใส่เสื้อ Vote No หรือ Vote Yes ก็ไม่ได้ กฎหมายออกมาเมื่อไหร่โดนหมด รวมทั้งนักวิจารณ์
ฟังแล้วก็ประหลาดใจ นี่กฎหมายประชามติกลายเป็นกฎหมายปิดปากหรือไร มีอย่างที่ไหนทำประชามติไม่ให้แสดงความเห็น งั้นจะเสียเงิน 3 พันล้านบาทไปทำไม ประกาศใช้เองไม่ดีหรือ
ที่ประหลาดไปกว่านั้น คือรองนายกฯ มือกฎหมาย วิษณุ เครืองาม ก็เพิ่งพูดหลัดๆ ว่าเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองแสดงความเห็นได้ ไม่เข้าข่ายความผิด
“ความผิดฐานชี้นำมันไม่มีว่าจะชี้นำได้หรือไม่ได้ เพียงแต่ถ้าชี้นำโดยให้สัญญา บิดเบือน หลอกล่อ ก็จะมีความผิด” วิษณุพูดชัดว่าที่นักวิชาการชี้จุดอ่อนเป็นข้อๆ ถือเป็นการแสดงออกที่มีเหตุผล
ก่อนหน้านี้วิษณุก็พูดอีกว่า ถ้าหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามมาตรา 61 เช่น พูดในสิ่งที่ไม่เป็นความเท็จ ไม่ใช่คำหยาบคาย ไม่ยั่วยุให้เกิดความแตกแยก และเป็นความเห็นของตัวเองก็ทำได้ แม้ยังไม่สามารถชี้ขาดว่าพูดแบบไหนไม่ผิด แต่อะไรที่สุจริตใจ ตรงไปตรงมา สามารถทำได้ เพราะในการประชุมร่วมกับกกต.ได้ยกตัวอย่างถึงขนาดติดเข็ม ติดเหรียญ แสดงธงว่ารับหรือไม่รับ สามารถทำได้
ประหลาดนะครับ วิษณุบอกว่าติดเข็ม ติดเหรียญ แสดงธง ทำได้ แต่นายกฯ บอกว่าใส่เสื้อ Vote No, Vote Yes ไม่ได้ จะให้ชาวบ้านเชื่อใคร เชื่อรองนายกฯ มือกฎหมาย หรือเชื่อนายกฯ เพราะวาจาท่านคือกฎหมาย?
หรือเอาง่ายๆ ว่า ใส่เสื้อไม่ได้ แต่ติดเข็มติดเหรียญปักธงหน้าบ้านได้ จะได้ถูกทั้งคู่
ทั้งที่ดูมาตรา 7 พ.ร.บ.ประชามติที่ สนช.ถกเถียงกันจนได้ข้อสรุปว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” ก็น่าจะชัดเจนอยู่ว่าทุกคนสามารถแสดงตนแสดงเหตุผลว่ารับไม่รับ และเผยแพร่ความคิดเห็นได้ ตราบใดที่ไม่ได้ “ขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว หลอกหลวง บังคับ ขู่เข็ญ พนัน รับ เรียกรับประโยชน์” หรือ “ผิดไปจากข้อเท็จจริง มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว ก่อความวุ่นวาย”
แน่ล่ะ ตัว พ.ร.บ.ประชามติมีปัญหาตั้งแต่ต้น ที่บอกว่าเผยแพร่ความเห็นได้แต่ห้ามรณรงค์ ไม่รู้จะแปลว่าอะไร แล้วก็ให้ กรธ.มีหน้าที่ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ สนช.มีหน้าที่ชี้แจงคำถามพ่วง แต่ห้ามชักชวนรับไม่รับ ตลกสิครับ คนร่างมากับมือก็ต้องบอกว่าของตัวเองดีทุกอย่าง ให้พูดข้างเดียวห้ามคนอื่นค้าน แค่ไม่บอกให้ประชาชนรับ มันต่างกันตรงไหน
การกำหนดข้อห้ามมากมายก็เปิดช่องให้รัฐบาลใช้อำนาจตีความ แม้สุดท้ายเป็นอำนาจศาล แต่กว่าศาลจะชี้ขาด คนใส่เสื้อ ติดเข็ม ติดเหรียญ ปักธง ก็โดนจับไปแล้ว
กระนั้น การใช้อำนาจตีความของรัฐถ้าตีขลุมกว้างขวาง กลายเป็นมุ่งปราบปรามคนเคลื่อนไหวไม่รับร่าง ก็ระวังนะครับ การทำประชามติจะกลายเป็น“ชนวน” เสียก่อนลงประชามติ หรือไม่ก็กลายเป็นกระแสตีกลับให้คนไม่ยอมรับประชามติไปเสีย