พาราสาวะถี อรชุน

หลังกฎหมายประชามติมีผลบังคับใช้ ถามว่ากกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจะทำงานอย่างไร เพราะองค์รัฏฐาธิปัตย์ประกาศชัดห้ามรณรงค์ทั้งรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ก็ทำไม่ได้ ไม่ว่าจะใส่เสื้อโหวตโนโหวตเยส ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น วิษณุ เครืองาม เคยบอกว่าใช้สัญลักษณ์ในการแสดงออกช่วงทำประชามติไม่ผิดกฎหมาย


หลังกฎหมายประชามติมีผลบังคับใช้ ถามว่ากกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจะทำงานอย่างไร เพราะองค์รัฏฐาธิปัตย์ประกาศชัดห้ามรณรงค์ทั้งรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ก็ทำไม่ได้ ไม่ว่าจะใส่เสื้อโหวตโนโหวตเยส ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น วิษณุ เครืองาม เคยบอกว่าใช้สัญลักษณ์ในการแสดงออกช่วงทำประชามติไม่ผิดกฎหมาย

เมื่อสถานการณ์เดินทางมาถึงตรงนี้เป็นอันว่าผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สั่งการเองทุกอย่างต้องการให้ประชาชนทำตัวสงบราบคาบ โดยพูดเป็นแผ่นเสียงตกร่องเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายและกฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์ จึงเกิดคำถามขึ้นทันทีถ้าจะต้องปฏิบัติตามกันอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม ทำไมไม่ปล่อยให้ผู้ที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายได้ดำเนินการอะไรไปก่อนเล่า

การทุบโต๊ะห้ามรณรงค์ไม่ว่าจะรับหรือไม่รับ ก็เท่ากับว่ากกต.เป็นเพียงแค่เสือกระดาษ ไม่มีอำนาจชี้ขาดใดๆ ที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ทำคู่มือกำหนดหลักเกณฑ์ กติกา ข้อห้ามในการแสดงความเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ก็คงไม่ต้องดำเนินการใดๆ ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ เป็นอันว่าจากนี้ไปการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญประชาชนมีหน้าที่ฟังสิ่งที่กรธ.จะกรอกหูเพียงอย่างเดียว

โดยต้องฟังว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ดีอย่างไร คนที่ไม่เกี่ยวข้องแม้กระทั่งนักวิชาการก็ห้ามสะเออะมาแสดงความเห็นถึงข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังจะมีสนช.และสปท.มากรอกหูซ้ำเรื่องความจำเป็นและความสำคัญในการเสนอคำถามพ่วงประชามติให้ส.ว.มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

ต้องย้อนกลับไปที่ข้อเรียกร้องเดิมๆ หากกระบวนการที่ได้ชื่อว่าประชามติซึ่งหมายถึงการใช้เสียงของประชาชนเพื่อให้ได้ข้อยุติในเรื่องที่มีความเห็นไม่ตรงกัน กลายเป็นเพียงแค่พิธีกรรมเพื่อที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญที่คลอดโดยคณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารมีความชอบธรรม และจะเลยเถิดไปถึงความชอบธรรมในการที่จะใช้อำนาจต่อไปของคณะรัฐประหารด้วย

การประกาศกร้าวเรื่องห้ามแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอันศักดิ์สิทธิ์ จึงกลายเป็นบทพิสูจน์และคำตอบของการจับกุมตัว วัฒนา เมืองสุข ที่แม้จะให้โฆษกคสช.สารพัดหน้าหมุนเวียนกันมาแถลงข่าว แต่ก็ไม่สามารถชี้แจงได้ว่า เสี่ยไก่กระทำความผิดด้วยเรื่องอะไร ขัดคำสั่งคสช.ข้อไหน เพราะโพสต์สุดท้ายที่วัฒนาแสดงความเห็นก่อนถูกโทรศัพท์ให้ไปปรับทัศนคติคือ “ผมก็ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ”

คำถามที่ว่าวัฒนาฝ่าฝืนคำสั่งคสช.เรื่องอะไร เมื่อไร้คำอธิบายที่ชัดเจนแล้วจึงมีคนค่อนขอดต่อไปว่า น่าจะเป็นคสช.ต่างหากที่สับสนตัวเอง เพราะหวงร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยเหลือเกิน จึงแสดงความเป็นเจ้าของและไม่ให้ใครมาแตะต้อง จึงออกอาการควันออกหู อารมณ์เสีย จนลืมไปว่า ครั้งหนึ่งตัวเองเคยคุยโม้โอ้อวดว่า ภายใต้อำนาจของข้าพเจ้ามีความเป็นประชาธิปไตยร้อยละ 99.99 มากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำ

นี่แหละบทพิสูจน์ทฤษฎีตรงข้ามที่ย้ำมาโดยตลอด ไม่รู้ว่าเพราะบทเรียนยึดอำนาจเสียของเมื่อคราวคมช.หรือเปล่า จึงทำให้ผู้มีอำนาจจึงต้องขึงขัง เข้มงวดขนาดนี้ ถึงขนาดที่พูดว่าใครแสดงความเห็นเรื่องการทำประชามติมีสิทธิ์ติดคุก 10 ปี ถ้าไม่นับเกาหลีเหนือแล้ว คงไม่มีประเทศใดในโลกที่เขาจะไม่ยอมเปิดให้พลเมืองของตัวเองได้แสดงความเห็นอย่างเสรีในช่วงการทำประชามติ

ดังนั้น เมื่อเทียบเคียงบรรยากาศของการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และหนนี้แล้ว ต้องบอกว่าแตกต่างกันลิบลับ ครั้งนั้น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือคมช. ยังใจกว้างเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีที่ยืน แม้ไม่เท่ากับฝ่ายที่สนับสนุนรับร่างก็ตาม ถ้าจำกันได้คราวนั้นยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ 48 จังหวัดเสียด้วยซ้ำไป

แต่กลายเป็นว่าบรรยากาศบ้านเมืองในช่วงทำประชามติเมื่อปี 2550 ยังดีกว่าปัจจุบัน ถ้าจะพูดให้เห็นภาพคงต้องบอกว่า นาทีนี้ใครพูดไม่เข้าหู โดยเฉพาะพวกที่แสดงจุดยืนชัดเจนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ มีสิทธิ์ที่จะถูกเชิญตัวไปปรับทัศนคติ หากยึดมาตรฐานเดียวกับวัฒนา คาดว่านับจากนี้อาจจะมีคนที่อยู่ในข่ายถูกจับไปปรับทัศนคติอีกจำนวนไม่น้อย

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ จึงมีบางฝ่ายหวั่นใจว่า หนทางที่จะเดินไปสู่การทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้นั้นมันจะราบรื่น เรียบร้อยหรือเปล่า กลุ่มที่ท้าทายไม่กลัวอำนาจพิเศษ คงจะเคลื่อนไหวกันต่อเนื่องที่เห็นในเวลานี้คือ กลุ่มพลเมืองโต้กลับหลังจากถูกจับไปเข้าค่ายทหารแล้วปล่อยตัวเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา ล่าสุด มีการนัดหมายชุมนุมในวันศุกร์นี้ถ้าวัฒนายังไม่ได้รับการปล่อยตัว

เป็นการแสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ก้าวข้ามความกลัวที่จะถูกดำเนินการตามกฎหมายที่คสช.กล่าวอ้างไปแล้ว ยิ่งสมาชิกในกลุ่มบางคนเป็นนักศึกษา ภาพด้านหนึ่งสังคมย่อมมองว่าเป็นบุคคลที่มีเจตนาบริสุทธิ์และแสดงออกตามอุดมการณ์ของคนหนุ่มสาวที่ไม่ยอมรับการรัฐประหาร การที่จะดำเนินการของฝ่ายเจ้าหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใดย่อมเป็นไปด้วยความระมัดระวัง

บทเรียนน้ำผึ้งหยดเดียวในอดีตเคยมีให้เห็นแล้ว คงต้องหลีกเลี่ยง ไม่เพียงเท่านั้น ในขณะที่นักศึกษากลุ่มเล็กๆ เคลื่อนไหว จากนี้ไปคงจะมีเวทีของนักวิชาการที่มีจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจัดกันถี่ขึ้น แม้จะรู้ดีว่าจะดำเนินการไปท่ามกลางการกวดขันอย่างเข้มงวดของผู้มีอำนาจ แต่ด้วยสถานะทางสังคมของคนเหล่านั้น ย่อมกล้าที่จะท้าทาย เพราะการใช้คำว่าแสดงความเห็นทางวิชาการน่าจะได้รับความคุ้มครอง แม้ท่านผู้นำจะย้ำว่าไม่มีข้อยกเว้นก็ตาม

ความจริงไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้ แต่คงหนีกระแสสังคมไม่ได้ กรณี พลเอกปรีชา จันทร์โอชา เซ็นแต่งตั้งลูกชายตัวเองเป็นนายทหาร ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มายืนยันว่าทำตามขั้นตอนและไม่มีอะไรผิดกฎหมาย พร้อมๆ กับประชดประชันว่าจะต้องให้เปลี่ยนนามสกุลกันหรืออย่างไร คงไม่มีใครไปว่าอะไร เพราะเรื่องในลักษณะเช่นนี้มันเป็นความปกติของทุกสังคมเรื่องเด็กเส้นเด็กฝาก แต่คำถามมีอยู่ สมควรหรือไม่ในห้วงเวลานี้

มีคนนำไปเปรียบเทียบกับกรณีพระยาพหลพลพยุหเสนา อดีตหัวหน้าคณะราษฎรและอดีตนายกรัฐมนตรี 5 สมัย ที่ลูกชายของตัวเองยังไม่ให้เข้าไปเรียนโรงเรียนนายร้อยแต่ให้ไปเริ่มต้นที่โรงเรียนนายสิบ เพราะลูกและพ่อต่างรู้ดีว่าอะไรที่สมควรหรือไม่พึงกระทำ เพราะในยุคสมัยนั้นพระยาพหลฯในฐานะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จะทำอะไรก็ได้แต่เขาก็ไม่ทำ ตรงนี้ต่างหากคือสำนึกอะไรเหมาะอะไรควรของผู้มีอำนาจ

Back to top button