SCB เปี๊ยนไป๋!!!!!แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

ผลประกอบการไตรมาสแรกของธนาคารพาณิชย์ในตลาดหลักทรัพย์ออกมาครบแล้ว เฉลี่ยภาพรวมลดไป 9% แต่รายละเอียดแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน บางรายเหนือกว่าค่าเฉลี่ยเยอะ บางรายต่ำกว่าค่าเฉลี่ย


ผลประกอบการไตรมาสแรกของธนาคารพาณิชย์ในตลาดหลักทรัพย์ออกมาครบแล้ว เฉลี่ยภาพรวมลดไป 9% แต่รายละเอียดแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน บางรายเหนือกว่าค่าเฉลี่ยเยอะ บางรายต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

กลุ่มหลังสุดนี่ มีชื่อของแชมป์เก่า 6 ปีรวดอย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รวมอยู่ด้วย

กำไรสุทธิของ SCB ที่ลดลงมากถึง 19.8%  แม้ว่าจะยังเป็นตัวเลขกำไรสูงสุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยด้วยกัน เรียกว่ายังไม่เสียแชมป์ แต่การรักษาแชมป์ไว้ได้ในสภาพบอบช้ำ ไม่ใช่ความสวยงามแน่นอน

จาะลึกในรายละเอียดผลประกอบการของงบการเงินไตรมาสแรก SCB พบว่า กำไรจากการดำเนินงานตามงบเฉพาะของธนาคารเพิ่มขึ้น 9.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียม (รายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 5.5% รายได้ค่าธรรมเนียมลดลง 33%) ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงเมื่อเทียบปีก่อน (อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.64% ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 2.89%) ถือว่าเฉพาะกิจการบริษัทแม่อย่างเดียว ยังคงเดินหน้าสวยงามด้วยฝีมือผู้บริหารอย่าง คู่หูดูโอ้ที่เก่งฉกาจฉกรรจ์

คนแรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายอาทิตย์ นันทวิทยา และ นายญนน์  โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่

สิ่งที่พลาดพลั้งไป มาจากบริษัทลูกที่ถูกปัญหาเทคนิคเล่นงาน โดยเฉพาะ SCB LIFE ที่เดิมเป็น “ลูกรักหัวแถว” มาก่อนนานหลายปี ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีโดยได้คำนวณสำรองประกันชีวิตและมีการจัดประเภทรายการเงินลงทุนใหม่ ซึ่งปรากฏเป็นตัวเลขชวนสยองคือ รายจ่ายจาก การรับประกันภัย เพิ่มขึ้น จากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีเพียงแค่ 8,889 พันล้านบาท ได้พุ่งขึ้นไตรมาสนี้เป็น 2.722 หมื่นล้านบาท

ลูกรักหัวแถวอย่าง SCB LIFE ที่เคยเป็น “แม่วัวให้น้ำนมเป็นทองคำ” หรือ golden cash cow มานานกว่า 20 ปี กลายเป็นลูกล้างผลาญได้อย่างไร นักลงทุนที่ถือหุ้นต้องไปค้นหาเอาเองว่าเกิดอะไรขึ้น หรือ จะเป็นแค่อุบัติเหตุทางการบันทึกบัญชีธรรมดา

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจไม่น้อยโผล่เข้ามา คือ ตัวเลขตั้งสำรอง “หนี้สูญ หรือ หนี้สงสัยจะสูญ และการขาดทุนจากการด้อยค่า” ที่เพิ่มจากระยะเดียวกันปีก่อน 3.600 พันล้านบาท มาเป็น 5.010 พันล้านบาท ในไตรมาสแรกปีนี้ ก็ถือว่าเป็นคำชี้แจงที่แปร่งๆ หู เพราะเท่ากับธนาคารอาจจะประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าว่า NPLs ในอนาคต อาจจะเพิ่มขึ้นได้

ไม่อย่างนั้นคงไม่แข่งขันกันลดดอกเบี้ยเงินกู้แบบขาเดียวถึง 2 ครั้งในเวลาไม่เกิน 1 เดือน โดยไม่ลดดอกเบี้ยเงินฝากตามจารีตเดิม แถมยังไม่ต้องรอให้แบงก์ชาติส่งสัญญาณชี้นำอะไรทั้งสิ้น

นี่คือความเปลี่ยนแปลงอย่างแรกที่เห็นๆ ไม่ต้องบรรยายเพิ่มเติม

เพียงแต่ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรที่ต้องตำหนิ หากน่าชื่นชมด้วยซ้ำไป เพราะการยืดหยุ่นเชิงกลยุทธ์ตามสถานการณ์ แบบ “ลูกผู้ชาย ยืดได้ หดได้” อย่างนี้ CEO หนุ่มโสด และสดทั้งแท่ง  อย่างอาทิตย์ ถนัดอยู่แล้ว…. อะแฮ่ม อะแฮ่ม

แต่ที่เปลี่ยนไป…หรือ เปี๊ยนไป๋….อย่างชนิด 180 องศา ในยุคนี้ ชนิดที่สุดขั้วกับยุคของสตรีเหล็กที่กร้าวแกร่งอย่างนางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ ชนิดที่ทำเอานักข่าวสายการเงินธุรกิจพากันฉงนสนเท่ห์และงงเป็นไก่ตาแตก อย่างไม่มีคำอธิบายกันเลยทีเดียว

ในยุคของนางกรรณิกา SCB ได้ชื่อว่าเป็นธนาคารระดับบิ๊กโฟร์ ที่เร่งแซงหน้าประกาศงบรายไตรมาสก่อนใครเพื่อน

แถมประกาศงบเสร็จทีไร หุ้นแทบจะวิ่งฉิวทีนั้นเสมอๆๆ ….ด้วยสาเหตุหลักคือกำไรสุทธิ และกำไรสุทธิต่อหุ้น ดี เกินกว่านักวิเคราะห์คาดเสมอจนเป็นกิจวัตร โดยเฉพาะกำไรเสริมจากบริษัทลูกที่มีอยู่ยั้วเยี้ย หรือการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยที่มีกำไรพิเศษเข้ามาเสริมจากกำไรปกติในการดำเนินงาน

ไตรมาสนี้ SCB สร้างปรากฏการณ์พิเศษและใหม่สุด นั่นคือ การประกาศงบเป็นธนาคารรายสุดท้ายของกลุ่ม  แถมยังเลือกเอาประกาศวันศุกร์เย็นหลังจากตลาดหุ้นปิดแล้วอีกด้วย

ในมุมมองหรือภาพลักษณ์ของนักลงทุนทั่วไป เชื่อกันว่างบที่ดีของบริษัทจดทะเบียนมักจะเลือกประกาศเร็วและประกาศในวันจันทร์ถึงพฤหัสบดี เพื่อให้คนทราบกันเยอะๆ หากมีกรณีเลือกประกาศในวันศุกร์เย็นหลังตลาดหุ้นปิดทำการ ค่อนข้างจะเป็นบริษัทที่มีงบการเงินขี้เหร่ และต้องการหลบซ่อนอะไรบางอย่าง หรือไม่ต้องการให้เป็นข่าวใหญ่เพื่อหลบเรดาร์นักลงทุน หรือนักวิเคราะห์

การ “เปี๊ยนไป๋”  ของเงื่อนเวลาประกาศงบการเงินของSCB ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรก ที่ทำเอางุนงงก็จริง….แต่ก็ยังไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่านี่เป็นอุบัติเหตุทางเทคนิค หรือเป็นเจตนาของผู้บริหารหรือกรรมการธนาคาร      

คงต้องให้ เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าในไตรมาสต่อไปจะเกิดปรากฏการณ์ประกาศงบช้าที่สุดของกลุ่มธนาคารอีกหรือไม่

ถ้าเกิดขึ้นอีกคงต้องถือหลักเจมส์ บอนด์ที่ว่า“ครั้งแรก คือความบังเอิญ แต่ครั้งที่สองถือเป็นเจตนา”

แล้วถ้ายังเหมือนเดิมอีก เป็นครั้งที่สาม ก็ต้องถือตามหลัก คาร์ล มาร์กซ ที่ว่า “.. ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยครั้งแรกคือโศกนาฏกรรม ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยครั้งที่สองคือเวทนากรรม….”

จริงมั้ยจ๊ะ ท่านอาทิตย์ สุดหล่อ ..อิ อิ อิ

Back to top button