พาราสาวะถี อรชุน

เห็นอาการของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ที่ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ ออกลูกติ๊ดชึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ของกลุ่มรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไว้ในระเบียบออกเสียงประชามติไม่ได้ คงเป็นคำตอบไปในตัวแล้วว่า ใครที่คิดจะลองของรณรงค์แสดงท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญในช่วงการทำประชามติ ต้องอาศัยการตีความจากคนของกกต.แต่เพียงอย่างเดียว


เห็นอาการของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ที่ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ ออกลูกติ๊ดชึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ของกลุ่มรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไว้ในระเบียบออกเสียงประชามติไม่ได้ คงเป็นคำตอบไปในตัวแล้วว่า ใครที่คิดจะลองของรณรงค์แสดงท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญในช่วงการทำประชามติ ต้องอาศัยการตีความจากคนของกกต.แต่เพียงอย่างเดียว

ยิ่งฟัง วิษณุ เครืองาม อ้างอย่างเนติบริกรทุกอย่างที่เป็นปัญหาต้องไปจบในชั้นศาล นั่นก็หมายความว่า กกต.ที่ตามสถานะในกฎหมายประชามติหมายถึงผู้ปฏิบัติที่จะต้องคุมกติกา วางหลักเกณฑ์สิ่งไหนทำได้ทำไม่ได้ ใส่เกียร์ว่างกันอย่างนี้ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกหากยึดตามท่าทีไม่อยากจัดการเลือกตั้งเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2557 บ้านเมืองหนีไม่พ้นวังวนสองมาตรฐานหรือเลือกปฏิบัติ

ยกตัวอย่างเป็นน้ำจิ้ม เอาแค่การแถลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาระหว่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส.ที่ประกาศรับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งน่าจะมีคำตอบตั้งแต่ยังร่างกันไม่เสร็จแล้ว กับ จตุพร พรหมพันธุ์ พร้อมแกนนำนปช.ที่แถลงข่าวแสดงจุดยืนสวนทางกันสิ้นเชิงกับฝ่ายแรก หากมีคนร้องแล้วนำไปสู่การตีความ ดูกันว่าผลจะออกมาเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่กฎหมายประชามติยังไม่มีผลบังคับใช้ การตีความตามกรอบของกฎหมายนั้นว่าเป็นปัญหาแล้ว ยังมีปมเรื่องของกฎหมายอื่นอันหมายถึงเรื่องด้านความมั่นคงซึ่งเลือกใช้ได้ทั้งมาตรา 44 ขององค์รัฏฐาธิปัตย์หรือประกาศหรือคำสั่งของคสช.ฉบับหนึ่งฉบับใด หมายความว่า ฝ่ายต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญมีสิทธิ์ถูกเล่นงานทุกทาง

เหตุที่ต้องโฟกัสไปยังกลุ่มนี้ เพราะเป็นที่แน่ชัดว่าผู้มีอำนาจนั้นหวงแหนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยิ่งกว่าไข่ในหิน ฝ่ายที่ยกมือสนับสนุนย่อมได้รับการโอบอุ้มคุ้มครองดูแล แต่ฝ่ายไม่รับต้องจำกัดหรือกำจัดไปให้พ้นเส้นทาง เพื่อให้การลงประชามติไม่เกิดการสะดุด กรณีการคุมตัว วัฒนา เมืองสุข ที่โพสต์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไปปรับทัศนคติ คงจะเป็นภาพที่อธิบายท่าทีของผู้นำได้เป็นอย่างดี

เหมือนที่ใครต่อใครได้แสดงความเห็น กระบวนการประชามติจะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้ผู้มีอำนาจใช้รับรองความชอบธรรมในการอยู่ต่อรวมไปถึงช่วยยืนยันว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้กระทำมาตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นเรื่องถูกต้อง ประชาชนให้การยอมรับ แต่ปัญหามีอยู่ว่า ประชามติหากผ่านจะเป็นความสง่างามที่ทำให้ผู้มีอำนาจนำไปอ้างเพื่อขอรับความชอบธรรมจากนานาชาติได้หรือไม่

หากเป้าประสงค์ใหญ่อยู่ที่ตรงนี้จริง สิ่งที่แกนนำนปช.เรียกร้องคือให้ยูเอ็นและอียูมาร่วมสังเกตการณ์การลงประชามติจึงน่าจะเป็นหนทางที่ผู้มีอำนาจควรพิจารณา และน่าจะดำเนินการเองเสียด้วยซ้ำ ในเมื่อมั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โคตรดีและเป็นฉบับปราบโกง ประกอบกับกระบวนการทำประชามติจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องกลัวการเข้ามาขององค์กรระหว่างประเทศเหล่านั้น

อีกประการสำคัญที่ไม่แน่ใจว่าผู้มีอำนาจคิดเหมือนกับที่กกต.สมชัยบอกหรือเปล่า เวทีวิชาการสามารถจัดขึ้นได้โดยจะต้องมีองค์กรหรือสถาบันการศึกษารองรับ หากจะให้เป็นที่เชื่อถือกกต.จะต้องคลอดคู่มือออกมาเป็นหลักฐาน มิเช่นนั้น จะกลายเป็นว่าพอจัดเวทีแล้วคนกลุ่มนี้จะถูกเล่นงาน เนื่องจากท่านผู้นำประกาศไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่นักวิชาการ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความไม่ชัดเจน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนศึกษา ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งและศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้จัดงานถกแถลงในหัวข้อ”คำถามพ่วงมีนัยอย่างไร” ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

มุมคิดที่น่าสนใจเป็นของ ตระกูล มีชัย จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมีคำถามพ่วง ในการออกเสียงประชามติรับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนจะวิเคราะห์ถึง 4 เหตุผลของการมีคำถามพ่วงว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับแก้ตามข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สายยังไม่ได้เขียนตามเจตนารมณ์ของผู้มีอำนาจอย่างเต็มที่

ผู้ที่เสนอคำถามพ่วงนั้นอาจจะมองว่าโครงสร้างกลไก เนื้อหาของรัฐธรรมนูญไม่เป็นหลักประกันที่เพียงพอต่อการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของกลุ่มที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน คำถามพ่วงอาจจะเกิดจากความเกรงกลัวว่าฝ่ายการเมือง จะเข้ามาคุมกลไกอำนาจและอาจจะรื้อโครงสร้างกลไกอำนาจที่ดำเนินการมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือ คำถามพ่วงเกิดจากการที่ผู้มีอำนาจ ยังไม่อยากลงจากอำนาจ อยากจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ

ตัวเหตุผลที่ใช้อ้างในคำถามพ่วงที่บอกว่า เพื่อการปฏิรูปประเทศและเพื่อการเดินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ยังมีปัญหาในตัวเองกล่าวคือ การปฏิรูปที่ผ่านมาแล้ว 2 ปี ยังไม่มีเห็นมีสิ่งใดเป็นรูปเป็นร่าง เป็นแก่นสารที่จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ การปฏิรูปถูกนำมากล่าวอ้างและถูกนำไปอยู่รวมกับคำว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ

คำถามที่ต้องคิดคืออะไรคือแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพราะเท่าที่ติดตามดูแผนยุทธศาสตร์ถูกจัดทำโดยหน่วยงานต่างๆ กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งนั่นยังไม่เพียงพอที่จะเรียกว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ยังเห็นไม่ชัดว่าอะไรคือยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญ การปฏิรูปกับแผนยุทธศาสตร์ มันเป็นการอ้างมาโดยมีเหตุมีผลหรือไม่ หรือว่าไม่กล้าที่จะใช้เหตุผลอื่นจึงใช้เหตุผลนี้

สิ่งที่ตระกูลฝากให้คนไทยช่วยคิดกันต่อไปก็คือ ภายใต้คำถามพ่วงที่ขอเวลา 5 ปี ให้ส.ว.มีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรี หากคำถามดังกล่าวผ่านการทำประชามติ ภายในเวลา 5 ปี สังคมไทยอาจจะไม่อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างที่ผู้มีอำนาจคาดหวัง สังคมไทยไม่ได้อยู่ในห้องทดลองที่สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆได้ สังคมมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ประชาชนตื่นรู้ทางการเมือง ทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่ได้ง่ายตามที่ฝ่ายผู้มีอำนาจคิด และ 5 ปีต่อจากนั้นจะเป็นวิบากกรรมครั้งใหญ่ของรัฐบาลที่เกิดจากบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญมีชัย และที่เกิดจากคำถามพ่วงของสนช. ถ้าถามว่าผู้มีอำนาจคิดมุมนี้หรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะเมื่อดูจากโครงสร้างทั้งหมดนั้นทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านที่ยกมาอ้างนั้น เป็นการเปลี่ยนเพื่อให้สถาบันทหารมีอำนาจอยู่ต่อไปนั่นเอง

Back to top button