ไม่เสี่ยง คือเสี่ยงพลวัต 2016
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กลายเป็นตัวแปรพลิกผันสถานการณ์ของตลาดหุ้นเอเชีย แบบหักมุมกะทันหัน หลังจากที่บ่ายวานนี้ มีมติคงนโยบายในการเพิ่มฐานเงินรายปีที่ระดับ 80 ล้านล้านเยน ผ่านทางการซื้อสินทรัพย์ขนานใหญ่ นอกจากนี้ยังได้ปรับลดแนวโน้มของเงินเฟ้อลง พร้อมกับคาดการณ์ว่า จะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ได้ในช่วงปีงบประมาณ 2560 ถือว่าไม่มีมาตรการเพิ่มเติม นอกจากคำปลอบขวัญลมๆ แล้งๆ
วิษณุ โชลิตกุล
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กลายเป็นตัวแปรพลิกผันสถานการณ์ของตลาดหุ้นเอเชีย แบบหักมุมกะทันหัน หลังจากที่บ่ายวานนี้ มีมติคงนโยบายในการเพิ่มฐานเงินรายปีที่ระดับ 80 ล้านล้านเยน ผ่านทางการซื้อสินทรัพย์ขนานใหญ่ นอกจากนี้ยังได้ปรับลดแนวโน้มของเงินเฟ้อลง พร้อมกับคาดการณ์ว่า จะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ได้ในช่วงปีงบประมาณ 2560 ถือว่าไม่มีมาตรการเพิ่มเติม นอกจากคำปลอบขวัญลมๆ แล้งๆ
ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นระบุท่าทีของ ธนาคารกลางชัดเจนว่า ต้องการที่จะให้เกิดความชัดเจนว่าจะไม่ปล่อยให้นโยบายการเงินถูกขับเคลื่อนโดยความต้องการของตลาดเป็นหลัก แต่ต้องขึ้นกับโดยความจำเป็นทางเศรษฐกิจมากกว่า
เหตุผลที่เอามาอ้างคือ นับตั้งแต่ใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ผลลัพธ์ที่ชัดเจนยังไม่ปรากฏ ต้องรอเวลาอีกระยะหนึ่งก่อนเพื่อที่จะรู้ว่ามาตรการดังกล่าวได้ผลมากน้อยแค่ไหน เพราะผู้บริหารธนาคารกลางญี่ปุ่นมองว่า เศรษฐกิจโดยรวมและตัวเลข ดัชนีต่างๆ ทางเศรษฐกิจอย่างมีความเสี่ยงช่วงขาลงปรากฏว่าเห็นอยู่บ้างอยู่พอสมควร ซึ่งจะมีการประเมินอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเดือนกรกฎาคม ก่อนที่จะทำการตัดสินใจครั้งใหม่
ตามแผนการและเป้าหมายของพวกเขานั้น คาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคจะขยายตัว 0.5% ในปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค.ปีหน้า และขยายตัวที่ 1.7% ในปีงบประมาณ 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์เมื่อเดือนม.ค.ว่า จะขยายตัว 0.8% และ 1.8% ตามลำดับ
นอกจากนั้น ยังมีสัญญาณที่ชัดเจนเพิ่มเติมอีกอย่างหนึ่งว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะต้องการให้นับจากนี้ไปมาตรการการคลังควรจะต้องถูกขับเคลื่อนออกมาจากรัฐบาลโดยตรง ไม่ใช่ปล่อยให้ธนาคารกลางทำหน้าที่จัดการด้วยมาตรการทางการเงินเพียงลำพังซึ่งจะไม่ได้ผลยั่งยืน
เหตุผลของพวกเขาก็ถูกต้อง เพราะใครก็ทราบกันดีว่ามาตรการการทางการเงินนั้น มีไว้เพื่อสร้างเสถียรภาพไม่ได้มีไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว
บังเอิญที่มติและท่าทีของธนาคารกลางญี่ปุ่นดังกล่าว สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า BOJ จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม
นักลงทุนขนาดใหญ่โดยเฉพาะสถาบัน ต่างมีมุมมองร่วมกันป็นเอกฉันท์ว่า การไม่ยอมลงมือกระทำ เพราะไม่อยากเสี่ยงของธนาคารกลางญี่ปุ่น กลับกลายเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง ต่างจากการไม่กระทำของเฟดฯที่ตรงกันข้ามเพราะมีสถานการณ์แตกต่างกัน
ปฏิกิริยาตอบรับการกระทำของเฟดฯก่อนหน้าไม่กี่ชั่วโมงที่ไม่ยอมขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทางบวก ซึ่ง เป็นไปตามคาดหมาย เพราะการประชุมเฟดฯเดือนเมษายน ซึ่งจบลงด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ในการประชุมเมื่อวานนี้ ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในช่วง 0.25-0.50% หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2002 ยังเปิดช่องสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. แต่แถลงการณ์หลังการประชุมบ่งชี้ว่าเฟดฯไม่รีบร้อนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ความผิดหวังดังกล่าว ทำให้ตลาดนำไปพ่วงเข้ากับข้อมูลเศรษฐกิจทางลบที่ได้มีการเปิดเผยไปแล้วในช่วงเช้าวันเดียวกัน ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมี.ค.ของญี่ปุ่น ปรับตัวลง 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทำสถิติลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และ อัตราว่างงานเดือนมี.ค.ที่เลวร้ายยังอยู่ในระดับ 3.2%
แรงเหวี่ยงจากดัชนีนิกเกอิที่ปิดบวกช่วงเช้า 244 จุด มาอยู่ที่ระดับลบในการซื้อขายภาคบ่าย 600 จุด ก่อนจะปิดลบที่ 624 จุด และแรงเหวี่ยงของค่าเงินเยนที่แข็งค่ากะทันหันจากระดับ 111 เยนต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 108 เยนต่อดอลลาร์ ส่งผลให้ ดัชนีตลาดทั่วเอเชียเสียหายตามไปด้วย
เพียงแต่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าปฏิกิริยาของนักลงทุนที่ทำการลงโทษต่อธนาคารกลางญี่ปุ่นที่พวกเขาถือว่าทำตัวน่าผิดหวังด้วยการร่วงหนักของราคาหุ้น และการแข็งค่ารุนแรงกะหันหันของค่าเงินเยนวานนี้ จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ยังต้องการความใคร่ครวญอีกระยะหนึ่ง ไม่ควรด่วนตัดสินใจมากเกินไป เพราะอาจจะไม่ยุติธรรมเท่าใดนัก
เอาเป็นแค่ว่าในระยะเฉพาะหน้าธนาคารกลางญี่ปุ่น และนักลงทุนมีมุมมองตรงกันข้ามกันชั่วคราวก็พอแล้ว