คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า
การทำข้อตกลงเพื่อซื้อขาย กิจการหลักทรัพย์ ระหว่างผู้ขาย ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP กับผู้ซื้อ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า เอเชีย ไฟแนนซ์เชียล เซอร์วิสเซส จำกัด ของไต้หวัน มีความหมายอะไรบ้าง
แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
การทำข้อตกลงเพื่อซื้อขาย กิจการหลักทรัพย์ ระหว่างผู้ขาย ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP กับผู้ซื้อ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า เอเชีย ไฟแนนซ์เชียล เซอร์วิสเซส จำกัด ของไต้หวัน มีความหมายอะไรบ้าง
ตอบได้เลยว่า เป็นประเด็นอย่างที่พาดหัวนั่นแหละ
ทางฝ่ายผู้ขายนั้น นับตั้งแต่เมื่อมีการควบรวมกิจการเข้ากับกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ภัทร (PHATRA) ก็ปรากฏว่า มีปัญหาเรื่องโครงสร้างส่วนเกิน เพราะมีธุรกิจหลักทรัพย์ในร่มธงเดียวกันทั้งสองบล.ภัทร และ บล.เคเคเทรด ซึ่งอยู่ใต้โครงสร้างกลุ่มที่มี บมจ.ทุนภัทร กำกับดูแลอยู่ ตามกำหนดแล้วต้องทำให้เหลืออยู่รายเดียว
หลังจากใช้เวลาหาคนซื้อมายาวนาน ก็พบคนซื้อตัวจริง ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน เจ้าเก่ารายเดิมที่เคยมีบทบาทสูงโดดเด่นระยะหนึ่งในอดีตนั่นเอง แล้วอำลาจากไป ที่ต้องการหวนย้อนกลับมานั่นเอง
ตามเงื่อนที่เปิดเผยออกมา หยวนต้าจะซื้อหุ้นจำนวน 49,999,998 หุ้น คิดเป็นประมาณร้อยละ 99.99 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดในบล.เคเคเทรด ในวงเงินซื้อขายที่เปิดเผยออกมาคือ 686.9 ล้านบาท
ตามขั้นตอนการซื้อขาย คาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น ซึ่งจะเป็นกระบวนการอนุมัติและเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จากไทยและไต้หวัน
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ KKP เปิดยุทธศาสตร์ว่า หลังจากการขายเคเคเทรด ซึ่งเป็นรีเทล โบรกเกอร์แล้ว จากนี้ไป KKP จะมุ่งหน้าไปสู่การเป็น wholesale broker เต็มตัวเสียที เพราะเป็นงานถนัดมานานแล้ว
อนาคตของธุรกิจด้านตลาดทุนสำหรับลูกค้าบุคคลของ KKP จะมุ่งเน้นที่ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร โดยเชื่อว่ากลุ่ม KKP จะสามารถจัดสรรทรัพยากรในการพัฒนาและขยายธุรกิจที่กลุ่ม KKP มีความชำนาญ และมีความได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
กุญแจสำคัญไขอนาคตของ KKP ด้านธุรกิจหลักทรัพย์คือการเพิ่มโฟกัสในการทำธุรกิจให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยเฉพาะการให้บริการด้าน Wealth Management ที่มีการแข่งขันต่ำกว่า
เรียกว่า จากนี้ไป KKP จะเลิกจับปลาซิวปลาสร้อย แต่จะไปจับปลาวาฬ หรือปลาหมึกยักษ์ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าแทน…งั้นเถอะ
ตรงนี้แหละ สบช่องของกลุ่มผู้ซื้ออย่างหยวนต้า ที่ต้องการรุกเข้ามาในธุรกิจรีเทลโบรกเกอร์ในไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากถอนตัวจากไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ด้วยกลยุทธ์ reversed takeover ที่คนไทยในขณะนั้นยังไม่คุ้นเคย
หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง กลุ่มหยวนต้า ถือเป็นกลุ่มที่รุกเข้ามา ทำธุรกิจหลักทรัพย์ในไทยโดยการซื้อบริษัทท้องถิ่นที่มีปัญหาด้านการเงินแล้วก็กลายเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่โดดเด่นอยู่ระยะหนึ่งภายใต้การบริหารของนักบริหารที่โด่งดังสมโภชน์ อาหุนัย
หลังจากโด่งดังอย่างมากจนก้าวสู่ระดับหัวแถว หยวนต้ากลับตัดสินใจถอนตัวออกจากไทยกะทันหัน ด้วยกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในกิมเอ็ง โฮลดิ้ง ในสิงคโปร์ เพื่อแลกกับการขายหุ้นธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย หลังจากมีปัญหาเรื่องจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจ
ครั้งนั้น กิมเอ็ง โฮลดิ้ง ในฐานะผู้ถือหุ้น บล.กิมเอ็ง สิงคโปร์ประกาศร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง หยวนต้า ซีเคียวริตี้ เอเชีย ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ผู้ถือหุ้นของหยวนต้า คอร์ แปซิฟิก ซีเคียวริตี้ บริษัทย่อยของกลุ่มหยวนต้า โบรกเกอร์ใหญ่ที่สุดแห่งไต้หวัน โดยกิมเอ็งจะเข้าถือหุ้นของ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) 77.73% เพื่อแลกกับหุ้นใหม่ที่กิมเอ็งจะออกให้จำนวน 29.5 ล้านหุ้น ที่ราคา 1.55 เหรียญสิงคโปร์ต่อหุ้น ส่งผลให้หยวนต้าแห่งไต้หวันมีสัดส่วนหุ้นในกิมเอ็งเพิ่มขึ้นเป็น 9.5% จากเดิม 4.9%
เป้าหมายการจับมือครั้งนั้นหวังผลว่าทั้งสองค่ายต้องการร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจหลายด้านในสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง จีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เรื่องของตลาดไทยที่ยังย่ำแย่ในยามนั้นจึงมีความสำคัญเป็นรอง
การถอยของหยวนต้า เท่ากับเปิดทางให้กิมเอ็ง โฮลดิ้งขยายปีกครองอาเซียน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กิมเอ็งขยายฐานเครือข่ายไป 6 ประเทศในอาเซียน บรรลุเป้าหมายทุกประการ…ก่อนที่ชะตากรรมจะพลิกผันเมื่อกิมเอ็งโฮลดิ้งถูกเทกโอเวอร์โดยกลุ่มเมย์แบงก์ของมาเลเซีย ส่งผลให้กิมเอ็งในประเทศไทย เปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นกลุ่มเมย์แบงก์…ซึ่งเท่ากับพันธะของหยวนต้ากับกิมเอ็งเดิมจบสิ้นลง
การหวนกลับมาสู่ตลาดหุ้นไทยอีกครั้งจึงมีความหมายเพราะเป็นการกลับมาทวงความสำเร็จเดิมๆ ที่เคยทำไว้ของหยวนต้า
เพียงแต่ครั้งนี้จะประสบความสำเร็จโดดเด่นเหมือนเดิมหรือไม่ยังไม่มีใครรู้ แต่เค้กของตลาดหุ้นใดที่ใหญ่กว่าในอดีตเป็น 10 เท่ากดดันหรือว่าน่าจับตาเสมอนับจากนี้ไป
ใครจะชนะหรือแพ้ คนดูไม่เกี่ยว
อิ อิ อิ