จ่ายสลึง ได้บาทแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
ตำนานของการเทกโอเวอร์หน้าใหม่ ที่เป็นยิ่งกว่า "ฉลาดซื้อ" ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ในบริษัทเก่าแก่ของตลาด บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER
ตำนานของการเทกโอเวอร์หน้าใหม่ ที่เป็นยิ่งกว่า “ฉลาดซื้อ” ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ในบริษัทเก่าแก่ของตลาด บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER
สูตรนี้ไม่ใช่สูตรใหม่ซิงเสียทีเดียว แต่เป็นการเดินตามรอยบริษัทต้นแบบ ซึ่งหากหาจากไหนไม่ได้ ก็ต้องเทียบเคียงกับกรณีคล้ายๆ กันอย่างการที่ตระกูลมหากิจศิริเคยเข้ากระทำที่ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เมื่อสามปีก่อน
เรื่องนี้เกิดขึ้นเสมือนเป็นเรื่องปกติธรรมดา หลังจากที่นายไพฑูรย์ ศุกร์คณาภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน ของ SINGER ออกมาแจ้งข่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 211 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 ได้มีมติดังนี้ อนุมัติให้แต่งตั้งนางนงลักษณ์ ลักษณะโภคิน ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการบริษัท แทนนายบุญยง ตันสกุล ที่ลาออกไป โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2559 เป็นต้นไป
การลาออกของนายบุญยง ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะเป็นการ “ลาจาก” ในทุกตำแหน่ง
นายบุญยงแจ้งลาออกจากตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริษัท กรรมการบริหาร และประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และตำแหน่งอื่นๆ ของบริษัท รวมทั้งตำแหน่งกรรมการบริษัทของบริษัท ซิงเกอร์ ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซิงเกอร์ (โบรคเกอร์) จำกัด และบริษัท ซิงเกอร์เซอร์วิสพลัส จำกัด
เหตุผลที่นายบุญยงนำมาอ้างนั้น ก็เป็นสูตรง่ายๆ เกินไป คือ เนื่องจากตนเองได้บริหารบริษัทมานาน และเห็นว่ากิจการของบริษัทดำเนินไปได้ด้วยดี จึงต้องการลาออกจากบริษัทเพื่อหาประสบการณ์ด้านอื่นๆ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2559
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังอนุมัติให้แก้ไขกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท เป็นดังนี้ นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา, นางนงลักษณ์ ลักษณะโภคิน และนายไพฑูรย์ ศุกร์คณาภรณ์ สองในสามคนนี้ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท
เท่ากับว่า การลาออกของนายบุญยง คือการเปิดทางให้กลุ่มเจมาร์ท หรือ JMART เข้าควบคุมกิจการของ SINGER อย่างเบ็ดเสร็จนั่นเอง
สถานการณ์ของ SINGER ยามนี้ จึงแตกต่างจากปีก่อนตอนที่ JMART เข้ามาซื้อหุ้นด้วยข้ออ้างถือหุ้นกิจการในรูปพันธมิตรธุรกิจ ไม่ใช่การเทกโอเวอร์
เดือนมิถุนายนปีก่อน บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ทุ่มเงิน 944.99 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นสามัญบริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ต่อจากผู้ถือหุ้นเดิมที่ตัดสินใจถอนตัวออกจากประเทศไทย SINGER (THAILAND) B.V. จำนวน 67,499,900 หุ้น หรือคิดเป็น 24.99% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด 270,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 14.00 บาท…
การเข้าซื้อหุ้นของ JMART ใน SINGER ตามสัดส่วนดังกล่าว นอกเหนือจากยืนยันว่าจะไม่มีการซื้อหุ้น SINGER เพิ่ม เนื่องจากไม่ต้องการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) แล้ว ยังเพิ่มเติมอีกว่า จะไม่มีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหาร โดยจะยังคงให้ทีมบริหารของ SINGER ทำหน้าที่ต่อไป เพราะมุ่งหวังต่อยอดธุรกิจหลายทาง เพื่อกระจายการลงทุนไปในธุรกิจที่มีศักยภาพ
ยามนั้น ดีลที่เกิดขึ้นถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ เพราะเป็นการร่วมลงทุนในลักษณะ “พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ธุรกิจ” ฮือฮาอยู่หลายวัน
เป็นธรรมดา ช่วงแรกเริ่มการฮันนีมูน อะไรก็ดูสวยงามไปหมด…แม้น้ำต้มผักเปล่า ยังหวานเจี๊ยบ
ฝันอันแสนหวานของ นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART ที่ชวนเคลิบเคลิ้มคือ JMART จะเปิดช็อปในโชว์รูมของ SINGER ต่อยอดจากส่วนของไดเร็กต์เซลซึ่งจะทำให้ SINGER มีรายได้เพิ่มในปี 2558 เพิ่มเข้ามาประมาณ 100-150 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจบริหารหนี้ของบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT จะมีรายได้ส่วนเพิ่มจากการรับจ้าง SINGER เก็บหนี้ และ JMT Plus บริษัทย่อยของ JMT ก็ได้ประโยชน์ในเรื่องฐานลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งของ SINGER ในการปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนและนาโนไฟแนนซ์
ในเชิงทฤษฎี การสร้างพลังผนึกเพื่อเกื้อหนุนกันทั้ง JMART และ SINGER ให้เติบโตยิ่งขึ้นไปในอนาคต เป็นการลดการลงทุนลง แต่รายได้เพิ่มขึ้น ย่อมงดงามอยู่แล้ว เพียงแต่ในทางปฏิบัติ เกิดผลข้างเคียงที่ไม่สอดรับทฤษฎี
งบการเงินงวดสิ้นปี 2558 ที่ออกมา JMART มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่กำไรลดลงเล็กน้อย ส่วน SINGER ทั้งรายได้และกำไรลดฮวบฮาบ…ตรงกันข้ามชนิดสวนทางกับเป้าหมายที่นายบุญยงเคยประกาศไว้ตอนเดือนมิถุนายนลิบลับที่เคยอ้างว่าเมื่อมี JMART เข้ามา คาดว่ารายได้ปีนี้เติบโต 10% จากเป้าเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 5% จากปีก่อน
ช่องว่างระหว่างเจตนากับข้อเท็จจริงสนิทชนิดรอยตะเข็บโผล่ให้เห็นรอยปะผุชัดเจน เป็นคำถามที่ต้องตั้งขึ้นมาในกลุ่มนักลงทุนว่าหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ดังกล่าว ส่อเค้าออกอาการไม่เวิร์ก และมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาตามมา
บริษัทหนึ่งเป็นธุรกิจขาขึ้น อีกบริษัทกลายเป็นธุรกิจขาลง อย่างนี้ มองอย่างไรก็ไม่เรียกว่าสร้างพลังผนึกแน่นอน…เข้าข่าย “ปลิงดูดเลือด” เสียมากกว่า เพราะเห็นชัดว่า JMART และเครือข่ายได้ทางเดียว
แถมล่าสุด การลาออกชนิด “ลาจากถาวร” ด้วยเหตุผลว่าเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ ฟังแล้วทะแม่งหูชะมัด
เกือบ 20 ปีแล้วที่นายบุญยง มีส่วนขับเคลื่อน SINGER จากบริษัทที่เคยทรุดโทรมด้วยปัญหาการเงินและการตลาดที่ระบบ “ขายสินค้าเงินผ่อน” ถูกคู่แข่งเบียดขับรุนแรง พร้อมกับแบรนด์ SINGER ที่ไม่ขลังเท่าเดิม
แนวยุทธศาสตร์ธุรกิจของนายบุญยงในการฟื้นคืน SINGER คือ จากนี้ไปจะไม่ใช่เร่ขายแค่ตู้เย็นหรือเครื่องจักรเหมือนในอดีต แต่มีสินค้าหลากหลายมากขึ้น จับตลาดเชิงพาณิชย์ จากอดีตที่เน้นขายแต่ครัวเรือน เก็บหนี้ยาก ส่งผลเอ็นพีแอลพุ่งปรี๊ดจนขาดทุนในปี 2549 รุนแรง
การปรับยุทธศาสตร์ใหม่ เริ่มผลิดอกออกผลตั้งแต่ปี 2554 มาถึงปี 2557 กลายเป็นธุรกิจแจ๋ว กำไรโตต่อเนื่อง ยอดขายทั้งในประเทศและนอกประเทศยังเริ่ด จากการใช้โมเดล “ป่าล้อมเมือง” กระจา สินค้าผ่านดีลเลอร์รอบจังหวัดชายแดน พร้อมวางแผนรุกต่างประเทศ จนกระทั่งผู้ถือหุ้นใหญ่ต่างประเทศตัดสินใจขายหุ้นทิ้งให้ JMART เมื่อปีก่อน
การตั้งกรรมการผู้มีอำนาจเต็มทำการแทน SINGER หลังการลาจากของนายบุญยงคือการเปลี่ยนแปลงเชิงรากฐาน เพราะเปิดทางให้ JMART เข้าครอบงำอำนาจบริหารเหนือกิจการ โดยที่จ่ายเงินเพียงไม่ถึง 1 ใน 4 ของหุ้นทั้งหมด
ถือเป็นการจ่ายสลึง ได้อำนาจเต็มบาท
งานนี้ นักวิเคราะห์ที่ช่ำชองบอกว่า JMART ได้กำไรอย่างน้อย 2 เด้งจาก Partial M&A ที่เหนือคาด เพราะการซื้อหุ้นบางส่วนนั้น 1) ได้รับรายได้พิเศษจากการรับรู้รายได้ค่าความนิยมติดลบในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 2) การมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือกิจการ เป็นการซื้อกิจการที่แสนถูก
อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา แห่ง JMART ลึกซึ้งชนิดไม่ธรรมดาจริงๆ
ส่วนบุญยงนั้น ก็คงถึงเวลาล้างมือในอ่างทองคำกับตำนานเก่าๆ ไปเลย…ปล่อยอนาคตของ SINGER ในกำมือ JMART แต่เพียงผู้เดียว