พาราสาวะถี อรชุน
ประเด็นเรื่องการห้ามแสดงความเห็นทั้งรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นการอ้างตามบทบัญญัติมาตรา 61 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ซ้ำอีกดอกด้วยการคลอดหลักเกณฑ์ 6 ได้ 8 ไม่ได้ของกกต. ตกเป็นที่วิจารณ์ต่อเนื่อง ล่าสุดกลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่บุกยื่นหนังสื่อต่อตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติหรือ UNOHCHRเรียกร้องให้ตรวจสอบสถานการณ์การลงประชามติในประเทศไทย
ประเด็นเรื่องการห้ามแสดงความเห็นทั้งรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นการอ้างตามบทบัญญัติมาตรา 61 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ซ้ำอีกดอกด้วยการคลอดหลักเกณฑ์ 6 ได้ 8 ไม่ได้ของกกต. ตกเป็นที่วิจารณ์ต่อเนื่อง ล่าสุดกลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่บุกยื่นหนังสื่อต่อตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติหรือ UNOHCHRเรียกร้องให้ตรวจสอบสถานการณ์การลงประชามติในประเทศไทย
โดยกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่เห็นว่า เกิดการจำกัดสิทธิเสรีภาพและคุกคามประชาชนโดยรัฐบาลคสช. ขัดขวางไม่ให้ประชาชนรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งการออกกฎหมายประชามติที่อนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐเผยแพร่คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือการอนุญาตให้มีการรณรงค์รับร่างรัฐธรรมนูญนั่นเอง
ในขณะที่ประชาชนผู้รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอาจมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี หากรัฐถือว่าการรณรงค์นั้นมีลักษณะเป็นการปลุกระดม นอกจากนี้ในช่วงเวลาก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะประกาศใช้ ยังเคยมีการส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปคอยติดตามกิจกรรมของกลุ่มประชาชนที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และการขู่ดำเนินคดีกับนักวิชาการที่แจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอีกด้วย
ข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาดังกล่าว คงไม่มีการมองอย่างดูแคลนว่าขาดวุฒิภาวะ เพราะสิ่งที่คนกลุ่มนี้เสนอสอดรับการข้อเรียกร้องของกลุ่มนักวิชาการกว่า 100 คนที่ยื่นหนังสือผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประชามติมาตรา 61 ขัดต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือไม่
เพราะบัญญัติคำว่า รุนแรง ก้าวร้าว และปลุกระดมซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ขณะที่อัตราโทษจำคุกถึง 10 ปีนั้นเท่ากับคดีฆ่าคนตาย โดยการเคลื่อนไหวในส่วนนี้มีแกนนำที่ไปยื่นหนังสือได้แก่ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ และ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตส.ว.เลือกตั้ง
โดยจอนยืนยันว่า การยื่นครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาจะล้มการทำประชามติ ตรงข้ามคือต้องการให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ แต่มาตรา 61 ของกฎหมายประชามติทำให้ประชาชนเกร็งในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งขัดหลักการความคิดเห็นของประชาชนที่เป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ จึงอยากให้มีการส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว
ขณะที่หมอนิรันดร์ แสดงความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะขยายความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทยขึ้นมาอีก ทั้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ทั้งนี้ การที่จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่เกี่ยวกับตัวรัฐบาล หรือคสช. แต่เป็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ หากไม่รับก็ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาล แต่เป็นประโยชน์ของรัฐบาลและคสช.มากกว่า ขณะเดียวกันร่างรัฐธรรมนูญยังมีเนื้อหาที่จะต้องปรับแก้ อย่าไปติดกับดักคู่ตรงข้ามว่า หากรับแล้วเป็นพวกรัฐบาล หากไม่รับเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล
การเคลื่อนไหวของคนสองกลุ่มดังว่านั้น หากไร้ซึ่งอคติต้องยอมรับว่าเป็นประโยชน์เสียด้วยซ้ำกับผู้มีอำนาจ หากอยากให้กระบวนการทำประชามติได้รับการยอมรับและการันตีว่าทุกอย่างมีความโปร่งใส การเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นจึงเป็นหนทางที่สวยงามและจะสง่างามเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้มีอำนาจหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ หรือถ้าไม่ผ่านการได้อยู่ต่อก็ยังดูมีศักดิ์ศรีดีกว่าการปิดกั้นการแสดงความเห็นของประชาชน
ความเห็นที่น่ารับฟังอีกรายคือ จาตุรนต์ ฉายแสง คนประชาธิปไตยที่ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ ที่ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องการเมืองอยู่ในตัว ใครที่พึงต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมืองย่อมต้องวางตัวเป็นกลางในการทำประชามติ ยิ่งร่างรัฐธรรมนูญมาจากคสช.และรัฐบาล ทั้งในการตั้งกรธ.และการให้ความเห็นแก่กรธ. ดังนั้นคสช. รัฐบาลและข้าราชการทั้งหลายจึงยิ่งต้องวางตัวเป็นกลางและไม่ชี้นำ
ส่วนผู้ที่ไม่เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือประชาชนทั่วไปไม่ต้องวางตัวเป็นกลางและไม่ถูกห้ามที่จะชี้นำหรือจูงใจ ตราบที่ไม่ทำผิดกฎหมาย เช่น ไม่ใช้เงินจ้าง ไม่ข่มขู่หรือหลอกลวง เป็นต้น แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในการทำประชามติกลับตรงกันข้ามกับหลักการดังกล่าวอย่างสิ้นเชิงผู้นำคสช.และรัฐบาลประกาศสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญอย่างออกนอกหน้า บางคนบอกด้วยว่าถ้าสนับสนุนคสช.ก็ขอให้สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ
คนสำคัญของรัฐบาลใช้วิธีตีความอย่างคลุมเครือข่มขู่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญอยู่แทบทุกวัน มีการใช้นักศึกษาวิชาทหารออกชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ มีการพบเอกสารประกอบการชี้แจงที่บอกตรงๆ ว่าให้รับร่างรัฐธรรมนูญ มีการใช้ทหารจำนวนมากเชิญชวนให้คนไปออกเสียงและชี้แจงเนื้อหาของร่างในจังหวัดต่างๆ มีการอบรมข้าราชการมหาดไทยกว่า 3 แสนคนอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ
ล่าสุดมีข่าวว่า กอ.รมน.จะอบรมลูกเสือชาวบ้านทั่วประเทศเพื่อช่วยชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นในการทำประชามติครั้งนี้จึงกลับตาลปัตร ตรงข้ามกับที่ควรจะเป็น ผู้ที่ไม่ควรชี้นำก็กลับกำลังชี้นำและทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ผู้ที่ควรมีสิทธิ์แสดงความเห็นแลกเปลี่ยนกันอย่างเสรีกลับถูกปิดกั้นจำกัดจนเกือบจะทำอะไรไม่ได้
การทำประชามติครั้งนี้จึงไม่เป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรมอย่างที่ควรจะเป็น การทำประชามติที่ไม่ชอบธรรมเช่นนี้กำลังจะทำให้สังคมไทยเสียโอกาสในการอาศัยเสียงของประชาชนมาใช้ตัดสินปัญหาที่เกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่าง แม้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านการเห็นชอบไปได้ก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับและจะกลายเป็นสาเหตุของความขัดแย้งในอนาคต
สิ่งหนึ่งซึ่งฝ่ายประชาธิปไตยกำลังจับตากันอยู่เวลานี้ก็คือ การทำประชามติที่ไม่ชอบธรรมจะทำให้คนจำนวนมากออกเสียงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่สนใจกับเนื้อหา แต่เป็นเพราะไม่อาจยอมรับกับความไม่เป็นธรรมในการทำประชามติครั้งนี้ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดลางสังหรณ์ว่าประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนั้นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เชื่อได้เลยว่าคำถามนี้ไม่มีใครกล้าการันตีว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามตารางปฏิทินเดิม