พาราสาวะถี อรชุน
ในวันนี้เราจะได้ทราบว่าคณะทำงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหรือยูพีอาร์ ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอชอาร์ซี จะออกถ้อยแถลงคำแนะนำที่มีต่อประเทศไทยอย่างไร หลัง ชาญเชาว์ ไชยานุกิจ ปลัดยุติธรรมนำคณะ 36 ชีวิตชี้แจงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยต่อที่ประชุม ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ในวันนี้เราจะได้ทราบว่าคณะทำงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหรือยูพีอาร์ ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอชอาร์ซี จะออกถ้อยแถลงคำแนะนำที่มีต่อประเทศไทยอย่างไร หลัง ชาญเชาว์ ไชยานุกิจ ปลัดยุติธรรมนำคณะ 36 ชีวิตชี้แจงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยต่อที่ประชุม ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
แน่นอนว่า ฝ่ายรัฐย่อมพึงพอใจต่อสิ่งที่ตนเองได้อธิบายไป แต่จะสอดคล้องตรงกันกับข้อมูลของคณะทำงานยูพีอาร์ที่มีหรือไม่ต้องรอลุ้นกัน เหมือนอย่างที่ได้บอกไปเมื่อวันก่อน เขาจะพิจารณาเอกสารจากรายงานของประเทศไทย โดยข้อมูลในรายงานมาจากรัฐที่ได้รับการพิจารณาทบทวนสถานะอีกด้านคือข้อมูลในรายงานของผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอิสระหรือที่รู้จักกันในนาม กลไกพิเศษของสหประชาชาติ
นอกจากนั้น ยังมีหน่วยงานด้านสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานอื่นของสหประชาชาติข้อมูลจากผู้มีส่วนได้เสียรายอื่น ซึ่งรวมถึงสถาบันด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ องค์กรระดับภูมิภาคและกลุ่มประชาสังคม ตรงนี้แหละที่เป็นการตอกย้ำว่า สิ่งที่ผู้มีอำนาจพูดมาโดยตลอดว่าต่างชาติจะไปเชื่อถือข้อมูลที่มีการบิดเบือนได้อย่างไร
ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลซึ่งเขาใช้เป็นฐานนั้นรับทางจากฝ่ายรัฐที่มีอำนาจของประเทศนั้นๆและเปิดกว้างรับข้อมูลที่รอบด้าน โดยมีกระบวนการตรวจสอบหลายชั้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย ในประเด็นนี้ จาตุรนต์ ฉายแสง ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวบอกว่า น่าเห็นใจผู้ที่ต้องทำหน้าที่ชี้แจงแทนรัฐบาลไทย คงจะอายผู้เข้าร่วมประชุมเต็มที เพราะผู้มีอำนาจมักบอกว่าต่างประเทศไม่เข้าใจไทย ซึ่งเขาก็แสดงออกว่าไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมไทยถึงไม่ทำตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไปประกาศกับเขาไว้
จากกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชนของไทยของคณะทำงานยูพีอาร์ในรอบที่ 2 นี้ซึ่งมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สังคมไทยกำลังจะได้เรียนรู้ว่า เมื่อทางการไทยไปตกลงกับประเทศต่างๆ ไว้แล้ว ถือเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศ จะละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามอำเภอใจนั้นทำไม่ได้และไม่มีใครเขายอม
โดยเดอะอ๋อยมองว่า การประชุมครั้งนี้น่าจะทำให้ไทยเป็นจุดสนใจในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้มากที่สุด และน่าขายหน้าที่สุดตั้งแต่เคยมีการประชุมกันมา ประเทศต่างๆ คงรู้สึกว่าผู้แทนประเทศไทยที่ไปชี้แจงขาดความเข้าใจอยู่อย่างหนึ่งว่าในการชี้แจงเขาต้องชี้แจงแต่ความจริง เมื่อชี้แจงจบแล้ว ประเทศไทยนอกจากจะสอบตกแล้ว ยังจะกลายเป็นตัวตลกเพราะการชี้แจงด้วย แย่ตรงที่มันเป็นตลกร้าย ตลกบนความเจ็บปวดของคนไทย
ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ถูกใช้มาตรการเกือบทุกอย่าง ตนจึงขอยืนยันว่าประเทศไทยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงดังที่ประเทศต่างๆ เป็นห่วงและซักถาม การประชุมครั้งนี้ยังทำให้เห็นว่าที่นักวิชาการไปร้องเรียนต่อตัวแทนข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในไทยไม่ใช่การชักศึกเข้าบ้าน เมื่อประเทศไทยไปรับข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพทางการเมืองแล้ว คำว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ จึงไม่อาจเป็นที่ยอมรับ
ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือกสม. มองว่า ยูพีอาร์คือรายงานของผู้มีส่วนได้เสีย จึงจำเป็นต้องเปิดกว้างในการรับฟังการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ซึ่งควรจะติดตามว่ารัฐบาลไทยจะยอมรับข้อเสนอใดบ้าง ถ้ารับข้อเสนอใดแล้วก็ควรมีการติดตามว่าได้มีการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอแนะที่ได้รับมาจริงหรือไม่
ทั้งนี้สิ่งที่อังคณากังวลที่สุดคือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ควรจะเปิดกว้าง แต่คนในรัฐบาลกลับบอกว่าสามารถให้สิทธิเสรีภาพเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งหากจะเป็นเช่นนั้น ก็ควรที่จะกำหนดรายละเอียดมาให้ชัดว่าสิ่งไหนทำได้ ทำไม่ได้ ไม่ใช่หว่านแหและมองว่าทุกเรื่องถือเป็นภัยต่อความมั่นคงทั้งหมด
ด้าน สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์วอทช์ ประจำประเทศไทย เห็นว่าปัญหาใหญ่ที่กังวลคือ คำสัญญาที่ไทยได้แถลงต่อที่ประชุมยูพีอาร์นั้น เป็นคำสัญญาที่ว่างเปล่า ดูดีแต่ไม่สะท้อนสาระสำคัญที่แท้จริงของยูพีอาร์ซึ่งก็คือการไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพที่จำเป็น กระบวนการนี้สะท้อนว่า นานาชาติมองประเทศไทยว่าเป็น “รัฐทหาร”
วิธีการเดียวที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของไทยกลับมาเหมือนเดิม มีสิทธิตามอนุสัญญาภาคีต่างๆ ที่ได้เคยลงนามไว้กับต่างประเทศคือ ต้องเปลี่ยนจากรัฐทหารเป็นระบอบพลเรือน ระบบยุติธรรมแบบมีศาลทหารเปลี่ยนเป็นระบบยุติธรรมปกติ ส่วนการทำประชามติ ตอนนี้เหมือนมีการปิดปากประชาชน ควรจะเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นทั้งสองฝ่าย
คำถามที่แหลมคมซึ่งผู้มีอำนาจควรอย่างยิ่งที่ต้องอธิบายนั่นก็คือ เสรีภาพในการแสดงออกสร้างความแตกแยกจริงหรือ หรือการปิดปากประชาชนต่างหากที่ทำให้เกิดความแตกแยกเพิ่มขึ้น สิ่งที่มองเห็นและฝ่ายรัฐพยายามอธิบายมาโดยตลอด คงหนีไม่พ้นการอ้างความจำเป็นในการรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อเป็นเหตุผลในการละเมิดสิทธิมนุษยชน
แนวคิดเช่นนี้ไม่แปลกใจถ้าคนในรัฐบาลผู้นั้นคืออดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ แต่ไม่น่าเชื่อว่าคนอย่าง ดอน ปรมัตถ์วินัย ที่ใช้ชีวิตทั้งชีวิตอยู่กับการต่างประเทศ แต่กลับเสแสร้งทำเป็นไม่รู้ระเบียบโลก พร้อมๆ กับการหลุดประโยคสำคัญ “ไทยมีเรื่องส่วนตัวที่ประเทศอื่นไม่ควรมายุ่ง” ตรงนี้ต้องถามกลับไปยังกลุ่มคนดีว่าต่างจากวลี “ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ” ของ ทักษิณ ชินวัตร สมัยเหลิงอำนาจตรงไหน
จึงไม่แปลกที่ พวงทอง ภวัครพันธุ์ จะตั้งคำถามว่า เราควรให้ความเคารพต่ออำนาจอธิปไตยของรัฐอย่างไม่มีข้อจำกัด แม้ว่ารัฐนั้นกำลังก่ออาชญากรรมอันร้ายแรงต่อประชาชนของตนเองอย่างนั้นหรือระหว่างหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐกับการปกป้องสิทธิในชีวิตของมนุษย์จำนวนมากอะไรสำคัญกว่ากันบทส่งท้ายที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือ รัฐที่เชื่อว่าตนมีอำนาจอันสมบูรณ์ สามารถทำอะไรตามอำเภอใจได้โดยไม่สนใจสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีแต่จะสูญพันธุ์ในเร็ววัน