ร้าย แต่ยังไม่ถึงกับเละขี่พายุ ทะลุฟ้า
ตัวเลขการส่งออกของไทย ที่ได้เห็นอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้ในเดือนก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา แท้จริงแล้ว ออกจะเป็นภาพลวงตาเอามากๆ
ชาญชัย สงวนวงศ์
ตัวเลขการส่งออกของไทย ที่ได้เห็นอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้ในเดือนก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา แท้จริงแล้ว ออกจะเป็นภาพลวงตาเอามากๆ
ใครจะมาทึกทักว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว คงเป็นไปไม่ได้
ภาพลวงตาสำคัญก็คือ มูลค่าการส่งออกทองคำเพื่อการเก็งกำไรในต่างประเทศ จากการที่ราคาทองคำโลกถีบตัวสูงขึ้น และการส่งออกยุทธปัจจัย ซึ่งไม่รู้ว่าจะเอามารวมไว้ทำไม
สินค้าส่งออกทางการเกษตรตัวหลักๆ ได้แก่ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ซึ่งผูกพันกับชีวิตเกษตรกรไทยเป็นอันมาก มีราคาตกหมด
เกษตรกรไทยต้องเจอ “2 เด้ง” นอกจากราคาพืชผลทางการเกษตรจะตกต่ำแล้ว ยังเจอปัญหาภัยแล้งแสนสาหัส ซึ่งไม่สามารถจะปลูกพืชอะไรได้เลย
เดินทางไปไหนในประเทศไทย เหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ค้า ก็ร้องว่าแย่กันไปทั้งนั้น ธุรกิจภาคบริการเช่นร้านอาหารนั้นเงียบสนิท
ขนาดวันหยุดยาว 5 วันที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลหมายมั่นปั้นมือว่า จะระดมคนออกไปกระจายเศรษฐกิจยังต่างจังหวัด แต่ปรากฏว่าคนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศกันน้อยมาก
กลับเกิดผลลัพธ์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งตรงข้ามกันเลย คือ คนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น
ดูไปแล้ว ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ก็ยังน่าเป็นห่วงอยู่มาก ปัญหาสำคัญที่สุดก็คงจะเป็นคนรากหญ้าหรือศัพท์ใหม่เขาให้เรียกคนฐานราก ไม่มีเงินใช้นั่นแหละ
อย่างไรก็ตาม ก็ยังพอมีดีอยู่บ้างตรงที่ ภาคธุรกิจเอกชนทั้งหลาย ยังคงพอจะประคองผลกำไรให้เสมอตัวหรือยังพอมีอัตราการเติบโตได้บ้าง
ซึ่งก็ช่วยให้ยังคงรักษาระดับการจ้างงานให้ใกล้เคียงระดับเดิมได้บ้าง
ฉะนั้น เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทุกวันนี้ ถึงจะเลวร้าย แต่ก็ยังคงไม้ร้ายถึงขั้นจะเละเทะ หรือพังพินาศไปเหมือนกับตอนต้มยำกุ้ง
แต่สิ่งที่น่าห่วงยิ่งขึ้นไปทุกทีในเวลานี้ ก็คือ ปัญหาการเมืองครับ
“อีกไม่นาน ความสุขจะคืนกลับมา” ตามบทเพลง ก็ดูชักจะลางเลือนยิ่งขึ้นไปทุกทีแล้ว
เกิดมาไม่เคยพบเห็นร่างเนื้อหารัฐธรรมนูญอะไร จะพิลึกพิเรนทร์อะไรเช่นนี้
เจตนารมณ์ใหญ่ ก็คงจะต้องการให้ “คนส่วนน้อยปกครองคนส่วนใหญ่” ซึ่งเป็นหลักการผิดฝาผิดตัวนั่นแหละ
พอต้องทำประชามติ ก็ยิ่งวิตถารเข้าไปใหญ่ คือรณรงค์ว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ไม่ได้เลย แล้วจะไปจัดลงประชามติให้เสียเงิน 3 พันล้านบาทไปทำไม
รณรงค์ “ไม่รับ” น่ะมีโทษแน่นอน แต่รณรงค์ “ให้รับ” นี่สิ ก็ยังน่าสงสัยว่า การเกณฑ์ครูให้เป็นวิทยากรชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญกว่า 3 แสนคน ระดมนักศึกษาวิชาทหารไปชี้แจงชาวบ้าน และอาจจะมีลูกเสือชาวบ้านมาสมทบพลังขึ้นอีก
นี่มันแค่ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้มีเนื้อหายกย่องรัฐธรรมนูญว่าดีวิเศษ “ต้องรับ” แต่ประการใดเลยเชียวหรือ
เส้นแบ่งระหว่างการชี้แจงเป็นวิชาการธรรมดากับการชี้ชวน “ให้รับ” น่ะ มันเป็นเส้นเบาบางมากนะ ขอบอก!
ถ้ามีอยู่จริง ก้ต้องขอบอกว่า มันคงจะเป็นเส้นประที่ขาดๆ หายๆ และยิ่งลากไป เส้นประก็ยิ่งถ่างห่างเข้าไปทุกที จนกระทั่งจางหายเหมือนเส้นแบ่งเขตแดนไทย-เขมรนั่นแหละ
ยิ่งกกต.หรือคณะกรรมการเลือกตั้งที่พิสมัยชอบหอเอนเมืองปิซ่า มาออกกฎ “6 ได้ 8 ไม่ได้” อะไรเนี่ย ก็ยิ่งคลุมเครือ เพราะเป็นนามธรรมมาก ซึ่งง่ายต่อการตีความตามใจของผู้มีอำนาจ
บทลงโทษจากการทำผิดกฎหมายประชามติก็รุนแรงถึงขั้นติดคุกติดตะราง 10 ปี นี่มันโทษสำหรับพวกโจรใจบาปหรือฆาตรกรใจโหดเลยเชียวนะเนี่ย
ถ้ามีคนต้องติดคุกติดตะรางเพราะกฎหมายประชามติวิตถารดังว่าเป็นพันเป็นหมื่นรายจะทำอย่างไร ได้ไตร่ตรองคิดกันบ้างไหม
เศรษฐกิจถลำลึกแน่นอน หากไฟการเมืองลุกโชนไปยิ่งกว่านี้