ทุกอย่างเป็นไปได้พลวัต 2016

ใกล้หมดเทศกาลประกาศงบการเงินไตรมาสแรก นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นตั้งแต่วอลล์สตรีทถึงแอฟริกาใต้ ก็พูดเรื่องของการปรับมูลค่าหุ้นกันเป็นแถว ส่วนใหญ่ปีนี้จะออกมาในแนวปรับลงมากกว่าปรับขึ้น ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นส่วนใหญ่เกิดอาการแกว่งตัว ส่งสัญญาณว่าตลาดมีขีดจำกัดขาขึ้นแคบลงมาก ทำให้แรงขายทำกำไรเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น


วิษณุ โชลิตกุล

 

ใกล้หมดเทศกาลประกาศงบการเงินไตรมาสแรก นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นตั้งแต่วอลล์สตรีทถึงแอฟริกาใต้ ก็พูดเรื่องของการปรับมูลค่าหุ้นกันเป็นแถว ส่วนใหญ่ปีนี้จะออกมาในแนวปรับลงมากกว่าปรับขึ้น ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นส่วนใหญ่เกิดอาการแกว่งตัว ส่งสัญญาณว่าตลาดมีขีดจำกัดขาขึ้นแคบลงมาก ทำให้แรงขายทำกำไรเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น

ดัชนีดาวโจนส์ที่ร่วงหนักเมื่อวันศุกร์ (เข้าสูตรฝรั่ง ศุกร์ที่ 13 ที่อิงเข้ากับวันจับพระเยซูคริสต์ตรึงไม้กางเขน และปรากฏการณ์อื่นๆ ในยุคกลางที่เข้าข่าย “วันซวย”) จนแนวรับเปื่อยยุ่ย ก็มาจากคำอธิบายที่ว่านี้ เพียงแต่เหตุผลที่อ้างยังขัดแย้งกันในตัวเอง

จะมีนักวิเคราะห์หุ้นในไทยบางสำนักเท่านั้นที่ทวนกระแสแบบ “โลกสวย” บอกว่า ตลาดหุ้นไทยควรปรับมูลค่าขึ้น ด้วยเหตุผลว่า ราคาหุ้นใหญ่ราคาลงมาเกินกว่าผลประกอบการ (ที่แม้ค่าเฉลี่ยทั้งตลาดจะลดลง แต่ก็เลวน้อยกว่าคาด) และมีโอกาสที่จะปรับขึ้น ด้วยเหตุผลว่า ค่าดอลลาร์ยังไม่ปรับขึ้นรุนแรง แกว่งไกวไปมาในกรอบ เพราะเหตุว่าเฟดฯยังเถียงกันไม่เลิกระหว่างสายเหยี่ยวที่อยากให้ขึ้นดอกเบี้ยกับสายพิราบที่อยากให้เลื่อนออกไป เพราะข้อมูลยังสับสน

การที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยเมื่อวันศุกร์ไม่สามารถฝ่าแนวต้านขึ้นไปปิดเหนือ1,400 จุด อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจว่าแนวต้านแข็งแกร่งขึ้น แต่สัญญาณทางเทคนิคกลับบอกตรงกันข้ามว่า การย่ำฐานก่อนแนวต้านดังกล่าวจะทำให้ขาขึ้นแข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากต่างชาติไม่ได้หนีไปไหนยังคงเข้าซื้อสุทธิเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมามากกว่า 4 พันล้านบาท แม้จะขายล่วงหน้าใน TFEX บางส่วนก็ตาม

มุมมองดังกล่าวอาจจะสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม ที่ปัจจุบันอาศัยพึ่งพาตัวเลขการท่องเที่ยวเป็นพลังหลักขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจไปข้างหน้า ขณะที่การลงทุนต่างประเทศ การจ้างงาน การบริโภค และ การส่งออกหยุดนิ่ง หรือถดถอย 

น.ส.วัฒนา ถิรานุชิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ออกมาเตือนว่า แม้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังอ่อนแอ โดยคาดว่าจีดีพีไทยจะอยู่ที่ 2.7-3% จากปีก่อนที่ 2.8% ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพของประเทศที่เคยเติบโตปีละกว่า 4.5% และ ภาคการท่องเที่ยว ถือเป็นพระเอกหลักที่ทำให้จีดีพีไทยเติบโตได้ และต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า หากรัฐบาลไม่ระวัง ปล่อยให้มีความวุ่นวายทางการเมือง จะมีผลกระทบต่อจีดีพีแน่นอน โดยทริสประเมินมาโดยตลอดในช่วงปี 43-55

นอกจากนั้น อันดับความน่าเชื่อถือของไทยคงจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปอีก 1-2 ปี เพราะไม่มีปัจจัยเกื้อหนุนให้ปรับเพิ่มขึ้นได้ จากการที่ไทยยังต้องพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก และรายได้ต่อหัวไม่ได้เพิ่มขึ้น

ความเห็นดังกล่าวสอดรับกับข้อมูลที่ นายดอน นาครทรรพ แห่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า NPL ในระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ มีแนวโน้มสูงขึ้น หลังจากไตรมาส 1/2559 ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 2.64 จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 2.55 ขณะที่สินเชื่อในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตไม่เกินร้อยละ 4.5 สอดคล้องกับคาดการณ์ของธนาคารพาณิชย์ แม้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์จะยังมีเสถียรภาพ มีเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องในระดับสูง แต่ก็ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์

ในมุมมองของผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย สินเชื่อน่ากังวลมากสุดมาจากหนี้เสียในผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยที่ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายรัฐบาลที่มีการอัดฉีดสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี ช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมากว่า 1 แสนล้านบาท รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น ช้อปช่วยชาติ และมาตรการอสังหาริมทรัพย์ 

ตัวเลขอัตราเอ็นพีแอลของสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเป็น 2.58% จากสิ้นปี 2558 ที่อยู่ 2.56% ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นหลัก ที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.66% จาก 3.99% และเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี

มุมมองของนักวิเคราะห์หุ้นไทยบางคน และสัญญาณทางเทคนิค เป็นผลลัพธ์ที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้เลยว่าโยงใยกับค่าดอลลาร์ ที่ทำให้กระแสเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทย ที่เศรษฐกิจยังย่ำแย่ แต่ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศและระบบธนาคารพาณิชย์แข็งแกร่ง

ค่าดอลลาร์ที่แกว่งตัวไร้ทิศทาง อันเกิดจากความลังเลของเฟดฯในการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย ทำให้สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าดัชนีความแปรปรวนของตลาดหุ้น (VIX) ในหลายประเทศพุ่งสูงขึ้นในระหว่างวันซื้อขายอย่างน่าสยองจากความไม่แน่นอนของตลาดที่มีทั้งปัจจัยลบ และปัจจัยบวกตลอดเวลา ทั้งเรื่องของ ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และค่าดอลลาร์ ผสมเข้ากับตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจสำคัญของชาติใหญ่ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษและ จีน

หากสัปดาห์นี้ นักวิเคราะห์หุ้นในตลาดไทย จะให้คำชี้แนะต่างกันไปสุดขั้ว ไม่เป็นเอกฉันท์ ก็ไม่ถือเป็นเรื่องประหลาด (เพราะปกติก็ไม่เคยเอกฉันท์อยู่แล้ว) เนื่องจากเส้นกราฟจินตภาพจากสัญญาณต่างๆ ยังคงสับสน หาความแน่นอนไม่ได้ โอนเอนเหมือนสนต้องลม ไม่สามารถบอกได้ว่าเครื่องหมายบนเส้นกราฟ เป็นสถานการณ์ “ดาวตก” (evening star) หรือ “ดาวประกายพรึก” (morning star) เพราะโอกาสก้ำกึ่งมากกับความเป็นไปได้ทั้งสองด้าน

สัปดาห์นี้ ความยุ่งยากในการตัดสินใจ จะยังครอบงำการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกต่อไป รวมทั้งตลาดไทยด้วย โดยมีปัจจัยเก่าที่ถูกรื้อขึ้นมาใหม่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญคือ ราคาน้ำมันที่ร่วงลงหลังจากแหล่งเจาะน้ำมันดิบสำคัญของแคนาดาเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้ง หลังจากทีได้รับผลกระทบจากวิกฤติไฟป่ากดดันราคาน้ำมันลง และจะมีแรงผลักดันให้เฟดฯขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหม่ในการประชุมเดือนมิถุนายน หลังจากที่ปรากฏตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐฯที่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งสุดในรอบ 1 ปี นอกเหนือจากการประเมินมูลค่าหุ้นขึ้นมาใหม่ของบรรดานักวิเคราะห์ในไตรมาสที่ 2 และครึ่งแรกของปี 

คำว่าทุกอย่างเป็นไปได้สำหรับตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้  อาจจะกำปั้นทุบดินมากเกินไป แต่ไม่มีคำไหนเหมาะกว่านี้อีกแล้วในสถานการณ์ก้ำกึ่ง หลังหมดเทศกาลประกาศงบรายไตรมาส

เพียงแต่นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยอาจจะโชคดีที่คำกล่าวเก่า “การขายทิ้งเดือนพฤษภาคม” ไม่เกิดขึ้นจริงจัง ตามที่หวาดกลัวกันเพราะการตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Dark Pools นั้น ยังใช้การไม่ได้ในตลาดหุ้นไทย

 

Back to top button