น้ำมันขาขึ้น???พลวัต 2016

มีคนพูดถึงคำว่าราคาน้ำมันขาขึ้นในรอบหลายเดือนนี้น้อยมาก แต่ตอนนี้ กำลังจะลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ครั้งใหม่กันอีกแล้ว โดยคนที่จุดประทุแรกสุด ยังคงเป็นนักวิเคราะห์จากโกลด์ แมน แซคส์ ซึ่งน่าจะเป็นคนเดียวกับที่เคยพูดถึงราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 20 ดอลลาร์เมื่อหลายเดือนก่อนนั่นเอง


วิษณุ โชลิตกุล

มีคนพูดถึงคำว่าราคาน้ำมันขาขึ้นในรอบหลายเดือนนี้น้อยมาก แต่ตอนนี้ กำลังจะลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์  ครั้งใหม่กันอีกแล้ว โดยคนที่จุดประทุแรกสุด ยังคงเป็นนักวิเคราะห์จากโกลด์ แมน แซคส์ ซึ่งน่าจะเป็นคนเดียวกับที่เคยพูดถึงราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 20 ดอลลาร์เมื่อหลายเดือนก่อนนั่นเอง

นักวิเคราะห์ของวาณิชธนกิจชื่อดังสหรัฐฯ  โกลด์แมน แซคส์ ประกาศปรับเพิ่มตัวเลขราคาน้ำมันดิบ WTI ในปีนี้โดยระบุว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI จะมีค่าเฉลี่ยที่ระดับ 45 ดอลลาร์ในช่วงไตรมาส 2 และอยู่ที่ 50 ดอลลาร์ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้  และคาดว่า ราคาน้ำมันดิบจะมีค่าเฉลี่ยที่ระดับ 52.5 ดอลลาร์ในปีหน้า ลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 57.5 ดอลลาร์

ตัวเลขดังกล่าว อาจจะมีความหมายไม่มากนัก เพราะอาจผิดหรือถูกได้ แต่ที่น่าสนใจ และถือเป็นกุญแจสำคัญตรงที่ระบุออกมาชัดเจนว่า ตลาดน้ำมันได้สิ้นสุดภาวะน้ำมันล้นตลาดที่ได้ดำเนินมาเกือบ 2 ปีแล้ว หลังจากเกิดการชะงักงันในการผลิตน้ำมันทั่วโลก ซึ่งทำให้เกิดการเข้าสู่ภาวะขาดแคลนน้ำมันเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยจะประสบภาวะดังกล่าวในเดือนนี้ จากผลกระทบของอุปสงค์ในระดับสูง และการผลิตที่ดิ่งลง

รายงานระบุว่า ภาวะชะงักงันของการผลิตน้ำมันได้ทำให้การผลิตน้ำมันลดลงอย่างมากนับตั้งแต่เดือนมีนาคม และล่าสุดกรณีไฟไหม้ป่าในแคนาดา และการโจมตีแหล่งผลิตในไนจีเรีย ที่ทำให้เกิดการชะงักงันชั่วคราว สมทบด้วยตัวเลขการผลิตที่ลดลงอย่างจริงจังในเวเนซุเอลา สหรัฐฯ และจีน เป็นปัจจัยที่ทำให้จำต้องปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับตลาดน้ำมันเสียใหม่ จากเดิมที่เคยเตือนเกี่ยวกับสต๊อกน้ำมันจำนวนมาก และราคาที่อาจทรุดตัวลง

แม้จะมองว่าภาวะดุลยภาพของอุปทาน-อุปสงค์น้ำมันจะกลับมาได้ในครึ่งหลังของปี แต่โกลด์แมน แซคส์ ก็ระบุเตือนว่า หากราคาน้ำมันดิบพุ่งเกินกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีก  ก็จะเป็นแรงจูงใจใหม่ให้โลกกลับมาเผชิญกับภาวะน้ำมันล้นตลาดอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2017 ได้

ผลพวงจากการเปลี่ยนมุมมอง ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นต่อไปเข้าสู่ระดับสูงสุดใหม่ในรอบหลายเดือน  สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมิถุนายนในตลาดนิวยอร์ก เพิ่มขึ้น 1.22 ดอลลาร์  หรือ 2.64% สู่ระดับ 47.43 ดอลลาร์/บาร์เรลในทันที และทำให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกในค่ำวานนี้ตามเวลาในไทย ปรับตัวขึ้นตามไปด้วยเพราะราคาหุ้นพลังงานเป็นบวก หรือติดลบน้อยลงจากข่าวดีดังกล่าว

ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่พ้น เป็นข่าวดีทางอ้อมที่ส่งต่อมายังชาติกำลังพัฒนาที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เป็นสินค้าขาออกสำคัญ

ที่สำคัญ ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่ใน 2 ปีมานี้ ราคาน้ำมันที่ร่วงลงมารุนแรงเป็นปฐมเหตุของปัญหาตลาดหุ้นพังทลายทั่วโลก

ดังที่ทราบกันดี สาเหตุของการที่ราคาน้ำมันดิ่งเหวไม่ได้เกิดขึ้นจากธรรมชาติของอุปทานและอุปสงค์อย่างเดียว แต่เกิดจากสงครามแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดระว่างซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐฯเป็นสำคัญ

สหรัฐฯและชาติสมาชิกโอเปกนำโดยซาอุดีอาระเบีย ได้ ลงมือประกาศสงครามราคาอย่างไม่เป็นทางการ  ด้วยเหตุผลที่ไม่เปิดเผย แต่ในระหว่างที่ราคาน้ำมันเริ่มดิ่งเหวนั้น  ชาติสมาชิกโอเปกนำโดย อิรัก และ ซาอุดีอาระเบียพากันขุดน้ำมันออกมาขายอย่างหนักจนเกินจำนวนเป้าหมายวันละ 31.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณล้านบาร์เรลต่อวัน

ในขณะที่ต้นปีนี้ อิหร่านที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกน้ำมันเสรีอีกครั้ง หลังข้อตกลงนิวเคลียร์มีผลบังคับใช้ ก็เริ่มส่งออกน้ำมันอย่างมากมายเพื่อชดเชยระหว่างที่ถูกคว่ำบาตรมานานกว่า 5 ปี ก็ช่วยซ้ำเติมให้ราคาดิ่งเหวมากยิ่งขึ้นอีกในต้นปีนี้

แม้ว่าในช่วงแรกของการต่อสู้ บริษัทขุดเจาะน้ำมันสหรัฐอเมริกาก็ไม่ย่นระย่อ เพราะว่ามีการเพิ่มหลุมขุดเจาะน้ำมันมากขึ้นจนปริมาณสำรองน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตสัปดาห์ละประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ในที่สุดก็ลดการผลิตลง มีการปิดหลุมเจาะน้ำมันลงจำนวนมาก หลังจากเริ่มพบว่า อุปสงค์ของตลาดทั่วโลกไม่ได้เพิ่มมากขึ้นเท่ากับผลผลิตที่ระบายออกมา

 การลดลงของผลลิตในสหรัฐฯ และต่อมาในจีน ผสมโรงเข้ากับความพยายามของรัสเซียและโอเปกในการที่จะพยุงราคาน้ำมันโดยสร้างอุปสงค์เทียมชั่วคราวว่าจะมีการทำข้อตกลงตรึงผลผลิตน้ำมัน  มีส่วนทำให้ราคาน้ำมันถูกแรงเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ล่วงหน้า พลิกกลับมาไต่ระดับขาขึ้นระลอกใหม่ในสองเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีคำเตือนล่วงหน้าว่าอาจจะเกิดภาวะตลาดพังได้ง่ายขึ้นก็ตาม

ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกพุ่งขึ้น ฝ่าแนวต้านกลับมายืนแข็งแกร่ง ยังได้รับการเสริมแรงจากการที่เฟดฯไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ยนโยบายระลอกใหม่ หลังจากที่ได้ขึ้นมาแล้วในเดือนธันวาคมปีก่อน ยังผลให้ค่าดอลลาร์อ่อนลงเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ

การที่เงินดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นเงินสกุลกลางที่ใช้ซื้อขายน้ำมัน และค่าดอลลาร์จะสวนทางกับราคาน้ำมันเสมอโดยตลอด ดังนั้นเมื่อดอลลาร์อ่อนค่าลง ราคาน้ำมันก็ดูดีขึ้นสวนทางกัน

ความหวังที่เคยเลื่อนลอยว่าน้ำมันจะขึ้นแข็งแกร่งอีกครั้งได้อย่างไร เริ่มคลี่คลายตัวลงในครึ่งเดือนที่ผ่านมา เมื่อมีหลายสถานการณ์ที่บ่งบอกว่า การใช้น้ำมันทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการที่ราคาร่วงลงยาวนาน ซึ่งส่งผลต่อดุลยภาพของตลาดน้ำมันที่ชัดเจนมากขึ้น

ความจริงแล้ว เมื่อเดือนมีนาคม นักวิเคราะห์ของสำนัก โกลด์แมน แซคส์ ได้เคยออกบทวิเคราะห์สถานการณ์ใหม่ว่า การลงทุนสำรวจขุดเจาะและการปิดหลุมในหลายประเทศ โดยเฉพาะทวีปอเมริกาเหนือ จะทำให้ปลายปีนี้ อุปทานและอุปสงค์ตลาดที่เปลี่ยนไป จะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 50% จากระดับ 30 ดอลลาร์ ไปที่ระดับ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ในสิ้นปีนี้

การกลับลำล่าสุดที่ระบุว่า ดุลยภาพของตลาดกลับมาเร็วเกินคาด ถือเป็นข่าวดีสำหรับตลาดน้ำมัน และมีผลต่อบรรยากาศตลาดหุ้นโดยตรง

โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยนั้น ราคาน้ำมันบวก และดอลลาร์อ่อน ถือเป็นข่าวดีทั้งสิ้น เพราะสามารถกลบข่าวร้ายและแรงกดดันจากการเมืองใต้อำนาจเผด็จการทหารที่นับวันจะนำสังคมไปสู่มุมอับขึ้นทุกขณะ

 

Back to top button