สุทธิชัย หยุ่น และโลก(ไม่)ส่วนตัว

แล้วในที่สุด การกระทำด้วยข้ออ้างว่า ปกป้องการครอบงำกิจการจาก “ทุนสีเทา” ของสุทธิชัย หยุ่น และพลพรรคแห่งค่ายเนชั่น ซึ่งพยายามสร้างภาพตนเองเป็นกลุ่มสื่อที่มีธรรมาภิบาลของ “สื่ออิสระ” ที่เหนือกว่าสำนักอื่นๆ จนข้ามเส้นแบ่งที่รางเลือนของข้อกฎหมาย ก็ถูกตีโต้อย่างแรงด้วยคำสั่งศาลแพ่งเมื่อ วันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา


วิษณุ โชลิตกุล 

แล้วในที่สุด การกระทำด้วยข้ออ้างว่า ปกป้องการครอบงำกิจการจาก “ทุนสีเทา” ของสุทธิชัย หยุ่น และพลพรรคแห่งค่ายเนชั่น ซึ่งพยายามสร้างภาพตนเองเป็นกลุ่มสื่อที่มีธรรมาภิบาลของ “สื่ออิสระ” ที่เหนือกว่าสำนักอื่นๆ จนข้ามเส้นแบ่งที่รางเลือนของข้อกฎหมาย ก็ถูกตีโต้อย่างแรงด้วยคำสั่งศาลแพ่งเมื่อ วันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา

คำสั่งศาลดังกล่าว แม้จะยังไม่ถึงที่สุด แต่ก็เปิดเผยความด่างพร้อยของการหมกมุ่นกับ “มาตรฐานส่วนตัว” ที่เกินกว่าเหตุได้ชัดเจนอีกครั้งว่า การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของสุทธิชัย หยุ่น และพวกนั้น ไม่ได้มาอย่างง่ายดาย เพราะการปกป้องคุณธรรม “ที่มีแต่ตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล” ด้วยวิธีการที่ตรงกันข้ามกับคำกล่าวอ้างกำลังเดินเข้าสูตร “โฆษณาเกินจริง ทำลายผลิตภัณฑ์ที่เลว”

การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น NMG ที่โรงแรมแลนด์มาร์ค สุขุมวิท ในวันดังกล่าว สุทธิชัย หยุ่น กับพลพรรค มีเรื่องให้พูดถึงมากยิ่งขึ้น เพราะพวกเขาเดินหน้าไปไกลเกิน ถึงขั้นทำลายหลักธรรมาภิบาลของบริษัทมหาชนจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายบริษัทมหาชน อย่างน่าอัปยศ

การระดมชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่ง และประธานการประชุม (ทำการแทนสุทธิชัย หยุ่น ที่ยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการล่วงหน้าการประชุมไม่ถึง 1 วัน) สั่งการให้เจ้าหน้าที่ขัดขวางกลุ่มผู้ถือหุ้นและตัวแทนที่ถือเอกสารมอบฉันทะ ที่คาดว่าจะเป็นอริของกลุ่มผู้บริหาร โดยระบุถึงรายชื่อ “บุคคลต้องห้าม” ไม่ให้เข้าร่วมประชุม แล้วรวบรัดลงมติตามวาระที่กำหนดขึ้นมาเองโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถาม เปิดโปงเบื้องหลังภาพลักษณ์ประดิษฐ์ที่อำพรางเอาไว้จนล่อนจ้อน

พฤติกรรมของสุทธิชัย หยุ่นและพลพรรคในการประชุมครั้งนั้น เปรียบได้กับนิทานเรื่อง “อาภรณ์ใหม่พระราชา” ของฮันส์ คริสเตียน แฮนเดอร์เซ็น ไม่มีผิด

พฤติกรรมในการประชุมของสุทธิชัย หยุ่น และพลพรรคที่วางแผนมาอย่างดี  มุ่งหวังชัยชนะในการยึดอำนาจการบริหารจัดการบริษัท NMG อย่างดิบเถื่อนให้ยาวนานที่สุด ไม่เพียงแต่ผิดกฎหมายอาญา หากยังผิดวิสัยและปรัชญาคนที่อ้างตนมีคุณธรรม และอาชีวปฏิญาณของวิชาชีพสื่ออย่างถึงที่สุด

หากพฤติกรรมของสุทธิชัย หยุ่น และพวกถูกถือว่ามีธรรมาภิบาลสูงแล้วละก็ พวกเขาย่อมไม่สามารถกล่าวหาคนที่ไม่เชื่อใน “ผิดจากนี้ ไม่ใช่เรา” ว่า บกพร่องทางด้านจริยธรรมของวิชาชีพได้เลย

การกระทำดังกล่าวถือว่าละเมิดกฎหมายบริษัทมหาชนอย่างชัดเจน แต่เนื่องจากสุทธิชัย หยุ่น และพวกนั้น ไม่ใช่กลุ่มสื่อธรรมดา มีบารมีในระดับที่คนที่กุมกติกาทางกฎหมายอย่าง ก.ล.ต. และกระทรวงพาณิชย์ออกอาการ “เกรงใจ” อย่างผิดปกติ ทำให้มีการโยนเรื่องตัดสินใจไปมา ทำให้ล่าช้า

ไม่เพียงแค่นั้น การประชุมดังกล่าว ยังพยายามออกมติที่ประหลาดเกี่ยวกับสิทธิของผู้ถือหุ้นโดยรวมด้วย โดยมีมติหลายประการ เช่น 1)  ประกอบด้วยการรับรองผลการดำเนินงานปี 2557 และงบการเงินของบริษัท 2) จ่ายปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 0.028 บาท รวมเป็นเงิน 92.86 ล้านบาท 3) แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีและค่าตอบแทน 4)  อนุมัติออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาท และ 5) อนุมัติค่าตอบแทนให้กรรมการบริษัทประจำปี 2558

การเดินเรื่องฟ้องศาลของผู้ที่ถูกกีดกันไม่ให้เข้าใช้สิทธิ์ร่วมการประชุมจึงเกิดขึ้น และดำเนินมาปีเศษก่อนจะมีคำสั่งศาลออกมา

ศาลแพ่ง ได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 780/ 2559 ระหว่าง บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 6 คน เป็นโจทก์ และมี บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยกรณีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ในวันที่ 29 เมษายน 2558 ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย เพราะมีการวางแผนกีดกัน “ผู้ถือหุ้นที่ไม่พึงประสงค์”  ไม่ให้เข้าร่วมการประชุม

ข้ออ้างของสุทธิชัย หยุ่นและพลพรรค ที่ว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นที่ไม่พึงประสงค์นั้น ร่วมกันสมคบคิดเข้าถือหุ้นของ NMG เกินกว่าร้อยละ 30 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดเพื่อครอบงำกิจการของจำเลย และการได้มาซึ่งหุ้นของคนเหล่านี้ไม่ชอบ เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมของผู้ถือหุ้นของ NMG ก่อน

นอกจากนั้น สุทธิชัย หยุ่นและพวก ยังใช้ข้ออ้างว่าการเข้าถือหุ้นอาจขัดต่อหลักเกณฑ์การป้องกันการผูกขาด โดยทึกทักเอาเอง ซึ่งปราศจากคำวินิจฉัยของหน่วยงานใดว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นดังกล่าวกับพวกเข้าถือหุ้นของ NMG โดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายเรื่องการครอบงำกิจการ ตามประกาศ 

ศาลได้สรุปว่า การเข้าครอบงำกิจการจะมีจริงหรือไม่ เป็นคนละประเด็นกับการที่คณะกรรมการบริษัทมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องให้ความสะดวกในการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นอย่างสะดวกและเท่าเทียมกัน ไม่อาจกระทำการใดอันเป็นการละเมิด หรือ ลิดรอนสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นได้ตาม พ.ร.บ.มหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 102 รับรองสิทธิ์ไว้ในการที่ผู้ถือหุ้นจะเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงมติได้

การกระทำซึ่งกีดกันผู้ถือหุ้นที่มีชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งได้รับการรับรองการเป็นผู้ถือหุ้นและมีสิทธิ์เข้าร่วมประชุม และร่วมลงมติ จึงมีผลทำให้การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของ NMG ในวันดังกล่าวเป็นการประชุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายและมีผลทำให้มติของที่ประชุมในวันนั้นไม่มีผลบังคับใช้

คำสั่งศาลดังกล่าว ตอกย้ำชัดเจนว่า โมหาคติที่สุทธิชัย หยุ่นและพลพรรค ที่เชื่อว่ากลุ่มตนเองคือทุกอย่างของ NMG ทำให้พวกเขาเพิกเฉยข้อเท็จจริงว่า กฎหมายบริษัทธุรกิจของไทย ไม่ได้มีข้อความใดที่เปิดช่องให้กับ การตัดหรือลดทอนสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นบางกลุ่ม แล้วเพิ่มสิทธิ์หรือให้อภิสิทธิ์กับกลุ่มผู้ถือหุ้นบางกลุ่ม

คำสั่งศาลดังกล่าว ยืนว่าพฤติกรรมของ สุทธิชัย หยุ่น และพลพรรค “เหนือกฎหมาย” ที่ชัดเจน  ซึ่งทำให้มีคำถามใหญ่กว่าตามมา นั่นคือ ธรรมาภิบาลและอาชีวปฏิญาณที่พวกเขากอดยึดเอาไว้เป็นเกราะกำบัง ซึ่งเป็นคุณค่าส่วนตัว จะถือว่าเหนือกว่าและทรงคุณค่ามากกว่า กฎหมายโดยปริยายด้วยหรือไม่

NMG เป็นบริษัทที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียน ทำการระดมทุนจากคนทั่วไปเพิ่มเติมจากทุนเดิมผู้ก่อตั้ง จนกลายเป็นสื่อที่มีเครือข่ายใหญ่โตน่าเกรงขาม โดยมีสุทธิชัย หยุ่นเป็นตำนานที่มีชีวิตอยู่ของเครือ ในฐานะสัญลักษณ์หรือ แบรนด์ แอมบาสซาเดอร์  แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า กฎกติกาของสังคม จะยอมให้พวกเขาสถาปนา “โลกส่วนตัว” ที่เป็นอิสระจากพันธกรณีอื่นๆ ด้วย หากเข้าใจถ่องแท้ปราศจากโมหาคติของนิยาม “สื่อมวลชน” ที่แท้จริง ไม่ใช่แค่คำขวัญประดิษฐ์จากอหังการส่วนตน

คำตอบดังกล่าว จะยิ่งเห็นได้ชัด ถ้าหากว่าผลการประชุมของบอร์ดบริษัท NMG ที่จะชี้แจงต่อคำถามของตลาดหลักทรัพย์ฯในเรื่องนี้ จะออกมาเช่นใด แต่นั่นก็คงไม่ใช่คำตอบทั้งหมด หากเป็นแค่บางส่วนเท่านั้น

   

 

Back to top button