พาราสาวะถี อรชุน

ครบรอบ 2 ปีของการรัฐประหารโดยคสช.ไปหมาดๆ เมื่อวาน ถามว่ามีผลงานอะไรเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ คำตอบผ่านโพลคนกันเองอย่างรังสิตโพล พบว่า 2 ปีคสช.สอบผ่านแบบก้ำกึ่ง โดยพบว่าคะแนนนิยมของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และชาวคณะลดลงเมื่อเทียบกับการสำรวจในโอกาสครบรอบ 1 ปีคสช. โดยที่ผู้สำรวจบอกว่า เป็นปกติธรรมดา ไม่ว่ารัฐบาลไหนพออยู่เกินปีไปแล้ว คนจะเริ่มเบื่อ


ครบรอบ 2 ปีของการรัฐประหารโดยคสช.ไปหมาดๆ เมื่อวาน ถามว่ามีผลงานอะไรเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ คำตอบผ่านโพลคนกันเองอย่างรังสิตโพล พบว่า 2 ปีคสช.สอบผ่านแบบก้ำกึ่ง โดยพบว่าคะแนนนิยมของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และชาวคณะลดลงเมื่อเทียบกับการสำรวจในโอกาสครบรอบ 1 ปีคสช. โดยที่ผู้สำรวจบอกว่า เป็นปกติธรรมดา ไม่ว่ารัฐบาลไหนพออยู่เกินปีไปแล้ว คนจะเริ่มเบื่อ

แต่นั่นคงไม่ใช่สาระสำคัญ สิ่งที่น่าสนใจกลับเป็นเมื่อถามถึงคะแนนความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของแต่ละกระทรวงของรัฐบาลคสช. พบว่า 3 อันดับแรกแทนที่จะเป็นกระทรวงเกี่ยวกับเศรษฐกิจทั้งหมดหรือกระทรวงด้านการปกครองที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับการแก้ไขปัญหาปากท้อง ความเดือดร้อนของประชาชน กลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น

เพราะ 3 อันดับแรก เป็น สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกระทรวงหลังถือว่าไม่มีอะไรน่าแปลก แต่สองหน่วยงานแรกเป็นอะไรที่ต้องขีดเส้นใต้ หมายความว่าอะไร การแก้ไขปัญหาของประชาชนทั้งหมด ต้องขึ้นอยู่กับท่านผู้นำแต่เพียงผู้เดียวอย่างนั้นหรือ และทุกความเดือดร้อนของประชาชนต้องทหารเข้าไปจัดการเท่านั้นใช่หรือไม่

เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเกิดคำถามตามมาว่า แล้วทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวหน้าทีม ชูนโยบายประชารัฐพร้อมกับอีกสารพัดโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำไมกลายเป็นบุคคลที่ประชาชนลืม ตรงนี้บิ๊กตู่ต้องนำไปวิเคราะห์ เพราะหากโครงการที่ทุกอย่างเหมือนกับที่ไทยรักไทยเคยทำในอดีต เพียงแค่นำมาเปลี่ยนชื่อและปรับไส้ในนิดหน่อย ทำไมประชา(ชน)ถึงไม่นิยม

ทั้งที่ได้ต้นตำรับซึ่งทำงานร่วมกับ ทักษิณ ชินวัตร มาแท้ๆ แล้วจะแก้เกมสร้างความเชื่อถือกับประชาชนได้อย่างไร เพราะผลโพลดังกล่าวก็ระบุชัดว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขหรือทำให้สำเร็จก่อนการเลือกตั้งคือ ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน ตรงนี้ต่างหากคือสิ่งที่ต้องยอมรับความจริงกันว่า ภาวะเศรษฐกิจที่เกิดผลกระทบนั้น ชาวบ้านในระดับกลางลงไปได้รับผลกระทบไปเต็มๆ

แม้จะไม่ได้มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจมากนักสักเท่าไหร่ แต่เท่าที่ได้ยินได้ฟังมานั่นก็คือ ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ไม่เหมือนคราวต้มยำกุ้งปี 2540 ที่พบว่า ผู้ได้รับผลกระทบเวลานั้นเป็นผู้มีอันจะกิน สถาบันการเงิน เรียกได้ว่าขาใหญ่ทั้งหลายแหล่นั่นแหละ บางรายก็ล้มบนฟูก แต่สถานการณ์ปัจจุบันคนที่ได้รับผลกระทบรับกันไปเต็มๆ คือ คนรากหญ้าที่ไม่มีฟูกให้ล้ม

สิ่งที่ได้ยินมานั้นสอดรับกับที่ จาตุรนต์ ฉายแสง บอกไว้ว่า 2 ปีของรัฐบาลคสช.นั้นเห็นได้ชัดว่า ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว เติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาค และทำให้ประชาชนคนที่มีรายได้ รวมถึงเกษตรกร คนยากจน ต้องเดือดร้อนมากกว่า ทุนขนาดใหญ่เท่านั้นที่ยังพอทำธุรกิจกันไปได้

ปัญหานี้เป็นผลสืบเนื่องจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ เศรษฐกิจที่เป็นคู่ค้ากับประเทศชะลอตัวก็จริง แต่ถูกซ้ำเติมด้วยการขาดวิสัยทัศน์ ประสบการณ์ ความรู้ในการทำงาน การวางคนที่ไม่เหมาะกับงาน เอาคนที่ไม่มีความรู้ด้านการบริหารมาคุมกระทรวงสำคัญๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ โดยคนที่มีความรู้ทางเศรษฐกิจไม่สามารถทำอะไรได้

นอกจากนั้น ท่านผู้นำยังขาดความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ ความรู้ในการบริหารประเทศ มักแสดงความเห็นแบบผิดบ้างถูกบ้าง พูดเผื่อๆ ไว้ จนไม่มีใครรู้ว่านโยบายรัฐบาลคืออะไรกันแน่ แทบทุกเรื่องปัญหาซ้ำเติมมากกว่านี้ เนื่องจากประเทศไทยต้องคบค้ากับต่างประเทศ รวมทั้งมีเรื่องที่ต้องแก้ไขด้วยการเจรจา แต่ประเทศต่างๆ ก็จะไม่ร่วมมือ ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย

เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า เนื้อหารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย การลงประชามติก็ไม่มีความเสรี และเป็นธรรม รวมทั้งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก และฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐก็ไม่ได้ตอบสนองเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ข้อเรียกร้องจากประชาคมระหว่างประเทศ ทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ขาดความเชื่อมั่นว่า ประเทศจะมีเสรีภาพ พัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปได้

นี่ถือเป็นค่าใช้จ่ายและความเสียหายที่แพงมาก จากการรัฐประหารและการปกครองแบบไม่เป็นประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องล้มเหลวที่สำคัญ อาทิ ความล้มเหลวการปฏิรูป การแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศ การคืนประชาธิปไตย การที่จะให้ประเทศอยู่ในสภาพที่ปกครองโดยกฎหมายเป็นกฎหมาย และผู้คนปฏิบัติตามกฎหมายที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น จึงเป็นความล้มเหลวในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา และยังไม่เห็นว่าจากนี้ไปจะดีขึ้น

โดยในมุมของกฎหมายนั้น โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ ได้เผยแพร่รายงาน 5 ชิ้นในวาระ 2 ปี การยึดอำนาจของคสช. ภายใต้ชื่อ 24 เดือนคสช.อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม” โดยระบุว่า เมื่อทหารทำตัวเป็นตำรวจ เมื่อทหารทำตัวเป็นศาลและอัยการ เมื่อทหารทำตัวเป็นผู้คุม เมื่อทหารทำตัวเป็นกองเซ็นเซอร์ และ เมื่อทหารไม่ได้คืนแต่ความสุข

ไอลอว์ระบุอีกว่า ตลอดสองปีที่คสช.อยู่ในอำนาจ รัฐเลือกที่จะปราบปรามคนที่แสดงออกในทางไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศของคสช.อย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะปราบปรามด้วยกระบวนการกฎหมายปกติหรือกฎหมายพิเศษก็ตาม ภายหลังการยกเลิกกฎอัยการศึก คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ที่อาศัยอำนาจมาตรา 44 ก็เข้าแทนที่

ผลในทางปฏิบัติ คือ การใช้อำนาจปราบปรามอย่างไร้ขอบเขตยังมีอยู่ต่อเนื่องไม่ต่างกัน คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/255 ยังสถาปนาเจ้าหน้าที่ทหารให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม โดยมีอำนาจสอบสวนร่วมกับตำรวจ ให้อำนาจทหารควบคุมตัวบุคคลได้สูงสุด 7 วัน ในช่วงระยะ 7 วัน เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารส่งไม้ต่อให้ตำรวจส่งฟ้อง เจ้าหน้าที่ทหารก็ยังสามารถเข้าร่วมเป็นพนักงานสอบสวนกับตำรวจได้

สุดท้ายเมื่อจำเลยถูกศาลสั่งให้ต้องอยู่ในเรือนจำ ในยุคคสช. ยังมีการจัดตั้งเรือนจำพิเศษขึ้นภายในค่ายทหาร ทำให้ทหารเข้ามาอยู่เหนือระบบยุติธรรมแบบครบวงจร เมื่ออำนาจทหารอยู่เหนือระบบยุติธรรม คนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองของทหารย่อมได้รับผลกระทบ นับถึงวันครบสองปีของการรัฐประหาร มีคนอยู่ในเรือนจำเพราะการแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 44 คน และมีคนต้องลาจากแผ่นดินที่เป็นบ้านเกิดอย่างน้อย 200 คน นี่คือผลงานอันเอกอุของคสช.ในห้วง 2 ปีนี้

Back to top button