พาราสาวะถี อรชุน
ไม่มีปี่มีขลุ่ยแต่มีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงหรือไม่ อันนี้ตอบได้ทันทีว่ามีแน่นอน สำหรับการที่คสช.ประกาศยกเลิกกฎเหล็กห้ามนักการเมืองและวงการอื่นๆ ที่ถูกจับตามองเดินทางออกนอกประเทศ เหลือเพียงข้อแม้เดียวคือ คนที่มีคดีความอยู่ในศาลให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศหรือไม่
ไม่มีปี่มีขลุ่ยแต่มีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงหรือไม่ อันนี้ตอบได้ทันทีว่ามีแน่นอน สำหรับการที่คสช.ประกาศยกเลิกกฎเหล็กห้ามนักการเมืองและวงการอื่นๆ ที่ถูกจับตามองเดินทางออกนอกประเทศ เหลือเพียงข้อแม้เดียวคือ คนที่มีคดีความอยู่ในศาลให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศหรือไม่
ท่าทีผ่อนปรนของคสช.นั้นมองได้ 2 กรณีคือ หนึ่งแรงกดดันเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งจากภายในและนอกประเทศ อีกประการคือสร้างบรรยากาศผ่อนคลายก่อนที่จะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยก็เป็นการซื้อใจทำให้ต่างชาติเห็นว่า ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้มีความตั้งใจที่จะปิดกั้นประชาชนแต่อย่างใด
ในขณะที่ทีมโฆษกรัฐบาลและคสช.ต่างแถลงเป็นทำนองเดียวกันว่านี่เป็นการผ่อนปรน เพื่อให้บรรยากาศในประเทศดีขึ้น แต่ จาตุรนต์ ฉายแสง กลับมองว่า ไม่ได้ช่วยผ่อนคลายสิทธิเสรีภาพของผู้ที่แสดงความเห็นต่างที่ถูกจำกัด คำสั่งนี้ใช้ส่วนใหญ่กับผู้ที่ให้ไปรายงานตัว ถูกควบคุมตัว ผู้ที่ถูกเรียกไปปรับทัศนคติแล้วยังไม่หยุดวิจารณ์ ที่ถูกใช้เป็นเงื่อนไขข้อหนึ่งในการปล่อยตัว
เหตุผลจริงๆ ของเงื่อนไขนี้ เพื่อไม่ให้มีการวิจารณ์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะคสช. ทำให้หลายร้อยคนที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขไม่กล้าวิจารณ์ เลี่ยงการไม่ได้รับอนุญาตไปต่างประเทศ ซึ่งถือว่ามาตรการนี้ได้ผลในแง่ที่ทำให้มีการวิจารณิ์บิ๊กตู่พร้อมคณะคสช.น้อยลงมาก เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้ผู้มีอำนาจไม่ฟังเสียงที่แตกต่าง บริหารประเทศด้วยความเข้าใจผิด ได้ข้อมูลแบบผิดๆ ได้ยินแต่คำเยินยอ ไม่ได้ยินความเห็นที่แตกต่างมาตลอด 2 ปี
เหตุผลที่จาตุรนต์มองว่าการยกเลิกมาตรการนี้ไม่ค่อยเป็นประโยชน์เท่าไหร่ เพราะยังมีมาตรการอื่นๆ ที่คสช.ใช้จัดการอยู่อีก เช่น ระงับธุรกรรมการเงิน ดำเนินคดีต่อคนที่เรียกมาปรับทัศนคติแล้วยังไม่หยุดแสดงความคิดเห็น การดำเนินคดีสามารถใช้ข้อหาได้ง่าย ทั้งพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และความผิดทางอาญามาตรา 116 เกี่ยวกับความมั่นคง
จริงๆ แล้วการที่คสช.ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว มาจากแรงกดดันเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศและเวทีต่างประเทศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยรอบที่ 2 หรือเวทียูพีอาร์ ของสหประชาชาติ ซึ่งวิจารณ์ไทยหนักมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ฐานะประเทศไทยตกต่ำไปมาก คสช.จึงพยายามทำให้ดูดีขึ้น
การยกเลิกคำสั่งห้ามเดินทางไปต่างประเทศ ยังสวนทางกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ที่คนทั้งโลกห่วงใยอยู่ ยังไม่ได้รับการปรับปรุงใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งหากข้อจำกัดอื่นๆ ยังมีอยู่ โดยเฉพาะกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นการลงประชามติที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ขาดความชอบธรรมอย่างร้ายแรง วันข้างหน้าทำให้เกิดการไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ หรือการปกครองหลังประชามติ กลายเป็นความขัดแย้งทางสังคมที่หาทางออกได้ยาก
สิ่งที่จาตุรนต์มองด้วยความเป็นห่วงคือ คาดหวังได้ยากว่ามาตรการอื่นๆ จะได้รับการผ่อนปรนจากหัวหน้าคสช. เพราะมาจนถึงป่านนี้ไม่มีท่าทีหรือแนวโน้มว่า ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็ดเด็ดขาด จะยอมรับฟังคำวิจารณ์จากในและต่างประเทศ และเข้าใจว่าคสช.มุ่งให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติให้ได้ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมอีกต่อไป
ความเห็นของจาตุรนต์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเวทียูพีอาร์นั้น ถ้ามองย้อนกลับไปจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การตอบคำถามข้อห่วงใยของชาติสมาชิกนั้น ชาญเชาว์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรมและคณะ ไม่ได้ชี้แจงในรายละเอียด แต่พูดรวมๆ โดยอ้างว่า การบังคับใช้กฎหมายจำเป็นเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย โดยคนส่วนใหญ่ยังมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การชี้แจงของคณะผู้แทนไทยเป็นไปอย่างอึดอัด ขณะที่ประเทศต่างๆ ได้ตั้งคำถามอย่างแหลมคมว่า การใช้อำนาจของรัฐบาลทหารและเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจหรือไม่ การอ้างว่ามีการยุยงปลุกระดม เป็นภัยกับความมั่นคง การนำไปปรับทัศนคติ รวมถึงการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ประเทศไทยต้องให้คำตอบกับที่ประชุมว่าจะสามารถทำตามข้อชี้แนะและเรียกร้องได้มากน้อยแค่ไหน
แน่นอนว่า ข้อเสนอ 181 ประการที่คณะของชาญเชาว์ไปรับมานั้น จะต้องมีคำตอบก่อนที่ยูพีอาร์จะนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่คณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหรือ HRC ในการรับรองรายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศต่อไป ด้วยเหตุนี้ปัญหาสิทธิมนุษยชนจึงเป็นภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียและน่าละอายอย่างยิ่งของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลทหารก็ตระหนักดีว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร
ด้วยเหตุนี้การสร้างวาทกรรม “ชักศึกเข้าบ้าน” ที่บรรดาลิ่วล้อของคณะผู้มีอำนาจสาดโคลนเข้าใส่บุคคลหรือกลุ่มคนที่เรียกร้องให้ต่างชาติเข้ามาตรวจสอบเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือแม้แต่กระทั่งการสังเกตการณ์การลงประชามติ จึงมีข้อสงสัยว่า การชักศึกเข้าบ้านนั้นใครกันแน่เป็นผู้กระทำ คนที่เรียกร้องให้ต่างชาติเข้ามา หรือฝ่ายที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน
น่าจะเป็นมหากาพย์ที่หาทางจบกันได้ยาก กรณีดีเอสไอกับธัมมชโย เพราะความจริงคือสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่คดีความรับของโจรหรือการฟอกเงิน แต่ข้อเท็จจริงสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องที่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับการเมืองว่าด้วยเรื่องของสีเสื้อ มากไปกว่านั้นเป้าประสงค์หลักอย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้น การเด็ด (หัว) ธัมมชโย ต้องการให้สะเทือนไปถึง สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ที่ต้องได้รับการเสนอชื่อให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่
กลายเป็นว่า ปมธัมมชโยที่ฝ่ายผู้ถือกฎหมายยกเหตุผลร้อยแปดมายืนยันนั้น คนส่วนใหญ่คงไม่มีใครติดใจสงสัย หากแต่สิ่งที่คนทั่วไปมองกลับเป็นว่า การใช้ข้อกฎหมายเพื่อสร้างความชอบธรรมนั้น จะเป็นการขยายผลเพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการล้มล้างฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามผู้มีอำนาจหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ก็น่าห่วงว่าโอกาสที่บ้านเมืองยังจะวนเวียนจมปลักอยู่กับความขัดแย้งจึงมีอยู่สูงยิ่ง