แม่น้ำแยกสายแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
การลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ของนายญนน์ โภคทรัพย์ ที่จะมีผลวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ทั้งที่ดำรงตำแหน่งมาได้ 1 ปีเศษ เป็นเรื่องน่าแปลกใจ แต่ไม่ได้ถึงกับทำให้โลกของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่มีกำไรสูงสุดหลายปีซ้อนถึงกับถล่มทลาย
การลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ของนายญนน์ โภคทรัพย์ ที่จะมีผลวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ทั้งที่ดำรงตำแหน่งมาได้ 1 ปีเศษ เป็นเรื่องน่าแปลกใจ แต่ไม่ได้ถึงกับทำให้โลกของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่มีกำไรสูงสุดหลายปีซ้อนถึงกับถล่มทลาย
เช้าวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา SCB ได้แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร มีมติอนุมัติการลาออกของนายญนน์ โภคทรัพย์ จากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยมีผลตั้งแต่ 1 ก.ค. 59 เป็นต้นไป แต่นายญนน์ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการ และกรรมการบริหารของธนาคารฯ ต่อไป
การลาออกกะทันหันนี้ มีเหตุผลของนายญนน์ตามสไตล์อเมริกันร่วมสมัยว่า “…เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะได้นำประสบการณ์และสิ่งที่เรียนรู้จากความสำเร็จที่สั่งสมมาไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตามความประสงค์ส่วนตัวและของครอบครัว… “ซึ่งเหตุผลดังกล่าว ไม่พอเพียงจะทำให้เชื่อโดยปราศจากเครื่องหมายคำถามว่า ทำไมถึงลาออกกะทันหัน
โดยทั่วไปแล้ว การลาออกกะทันหันของผู้บริหารมืออาชีพในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ มักจะมีสาเหตุหลัก 4 ประการ คือ 1) มีการกระทำบกพร่องหรือผิดพลาดที่จะเกิดความเสียหายต่อองค์กรมาก จึงต้องออกก่อนจะถูกบีบให้ออก 2) มีความขัดแย้งชนิด “ยากจะลงเอยด้วยดีได้” ในการทำงานกับคนร่วมทีม จนเกิดปัญหาต้องแยกทางกันเดินไปคนละทาง 3) ได้งานใหม่ที่ดีกว่าเดิมในองค์กรอื่นที่ทำงานแสดงศักยภาพได้มากขึ้นตามสูตร “เอาที่พี่สบายใจ” 4) มีปัญหาสุขภาพจนทำงานได้ไม่เหมือนเดิม
หากพิจารณตามเหตุผลและปรากฏการณ์รูปธรรมแล้ว สาเหตุข้อที่ 1) และ 4) ไม่น่าจะใช่ เพราะนายญนน์อายุเพียงแค่ 54 ปี ยังทำงานได้อีกมากจากศักยภาพที่มีอยู่ ส่วนจะเป็นข้อ 2) หรือ 3) ….ต้องให้คนขี้สงสัยไปค้นกันเอาเอง
มองจากมุมของการบริหารจัดการ การลาจากของมืออาชีพอย่างนายญนน์ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเส้นทางของผู้บริหารคนนี้ มาจาก “คนนอก” ที่เพิ่งตามติดนางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่เป็นลูกหม้อเก่าแก่ของยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) มายาวนาน แล้วข้ามห้วยมาเป็นนายธนาคารในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ ในปี2550 นี้เอง
นายญนน์ โภคทรัพย์ เริ่มต้นการทำงานที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2550 ในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ แต่ก่อนหน้านั้นผ่านมาที่ไม่ใช่ธนาคารมายาวนาน
ปูมหลังเดิม นับแต่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมซอฟต์แวร์จาก Imperial College, University of London นายญนน์ รับผิดชอบงานด้านสินค้าอุปโภคบริโภคมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่เครือซิเมนต์ไทยในปี พ.ศ. 2529 ต่อจากนั้นในปี พ.ศ. 2532 ได้ร่วมงานกับยูนิลิเวอร์ โดยมีตำแหน่งสุดท้ายคือกรรมการผู้จัดการ ยูนิลิเวอร์ฟู้ด และในปี พ.ศ. 2549 ได้ร่วมงานกับกลุ่มดัชมิลล์ โดยมีตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ ก่อนจะมาร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มลูกค้าบุคคลและกลุ่มลูกค้าธุรกิจ
เมื่อสตรีเหล็ก อย่างนางกรรณิกา ละมือ “ล้างมือในอ่างทองคำ” เมื่อต้นปี 2558 กรรมการของ SCB ก็ได้ทำการจัดโครงสร้าง ผู้บริหารที่ให้ นายอาทิตย์ นันทวิทยา ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) รับผิดชอบหลักในด้านยุทธศาสตร์และนโยบาย และนายญนน์ โภคทรัพย์ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ (President) รับผิดชอบงานบริหารทั่วไป โดยให้รายงานตรงต่อ ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร
ภายใต้โครงสร้างใหม่นี้ SCB ให้เหตุผลว่า ความต้องการของลูกค้าซับซ้อนมากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจมีความผันแปร วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีก้าวหน้าในอัตราสูง ตลอดจนระเบียบกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงที่เข้มงวดขึ้น โดยทั้งนายอาทิตย์ และนายญนน์ มีความสามารถและประสบการณ์ที่โดดเด่นและส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การทำงานร่วมกันของผู้บริหารทั้งสอง จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธนาคารและเพื่อให้ธนาคารเป็นธนาคารที่ทุกคนเลือกตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้
ผลการทำงานภายใต้โครงสร้างดังกล่าว ถือว่าไปได้ดีในปี 2558 หากไม่นับกรณี “บาดแผลของหนี้ SSI” หลายหมื่นล้านบาทที่ทำให้กำไรสุทธิปี 2558 ลดไปเกือบ 3 พันล้านบาท และยังดีต่อมาในไตรมาสแรกของปีนี้
ไตรมาสแรกของปีนี้ กำไรสุทธิของ SCB หากพิจารณารายละเอียดจะพบว่า การดำเนินงานตามงบเฉพาะของธนาคารเพิ่มขึ้น 9.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียม (รายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 5.5% รายได้ค่าธรรมเนียมลดลง 33%) ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงเมื่อเทียบปีก่อน (อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.64% ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 2.89%) ถือว่าเฉพาะกิจการบริษัทแม่อย่างเดียว ยังคงเดินหน้าสวยงามด้วยฝีมือผู้บริหาร
สิ่งที่พลาดพลั้งไป มาจากบริษัทลูก โดยเฉพาะ SCB LIFE ที่เดิมเป็น “ลูกรักหัวแถว” มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีโดยได้คำนวณสำรองประกันชีวิตและมีการจัดประเภทรายการเงินลงทุนใหม่ ซึ่งปรากฏเป็นตัวเลขรายจ่ายจากการรับประกันภัย เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีเพียงแค่ 8,889 พันล้านบาท ได้พุ่งขึ้นใตรมาสนี้เป็น 2.722 หมื่นล้านบาท
นอกจากนั้น ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจโผล่เข้ามาคือ ตัวเลขตั้งสำรอง “หนี้สูญ หรือ หนี้สงสัยจะสูญ และการขาดทุนจากการด้อยค่า” ที่เพิ่มจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ 3.600 พันล้านบาท มาเป็น 5.010 พันล้านบาท ในปีนี้
การลาออกกะทันหันจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของนายญนน์ โดยที่ยังเหลือเยื่อใยเป็นกรรมการ และกรรมการบริหารต่อไป จึงไม่เกี่ยวข้องกับผลงานในการทำงาน แต่คำถามก็คือ เยื่อใยดังกล่าวจะยาวกว่า “เยื่อสายบัว” แค่ไหน
ข้อเท็จจริงที่บังเอิญประจวบเหมาะ เหมือนนัดกันไว้คือ วันที่ 1 กรกฎาคม ที่จะถึง ตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ว่างพอดี เพราะนายบุญทักษ์ หวังเจริญ หมดวาระพอดี และช่วงนี้กำลังสรรหากันใหม่พอดี….
โป๊ะเชะ… เหมือนไม่บังเอิญ
ความเป็นไปได้ที่นายญนน์ จะลาออกจาก SCB ด้วยเหตุผลข้อ 3 จึง…. มีโอกาสสูง เพราะ TMB นั้นต้องการผู้บริหารที่รอบรู้เรื่องretail banking และ consumer banking อย่างยิ่ง
แต่….นี่ก็เป็นแค่สมมติฐานที่ไม่มีใครยืนยัน เพราะยังไม่มีทั้งควัน และไฟโผล่มาให้เห็นเลย
มโนมากเกินไป …. อาจจะถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ได้ง่ายๆ เอานะเออ…จะบอกให้
อิ อิ อิ