พาราสาวะถี อรชุน
ยังถูกพูดถึงกันอย่างหนาหูเรื่องความใจดีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ปลดล็อกห้ามนักการเมืองเดินทางไปต่างประเทศ แต่เป็นการแก้ที่สมเหตุสมผลหรือไม่ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ โดยเฉพาะฝ่ายประชาธิปไตยที่เห็นว่า ถ้าให้แลกได้ระหว่างกรณีดังกล่าวกับการเปิดพื้นที่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ขอเลือกอย่างหลังดีกว่า
ยังถูกพูดถึงกันอย่างหนาหูเรื่องความใจดีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ปลดล็อกห้ามนักการเมืองเดินทางไปต่างประเทศ แต่เป็นการแก้ที่สมเหตุสมผลหรือไม่ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ โดยเฉพาะฝ่ายประชาธิปไตยที่เห็นว่า ถ้าให้แลกได้ระหว่างกรณีดังกล่าวกับการเปิดพื้นที่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ขอเลือกอย่างหลังดีกว่า
ขณะเดียวกันที่เป็นของแถมแต่ฝ่ายการเมืองอยากได้มากที่สุดคือ การเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมหรือจัดประชุมพรรคได้ โดยเฉพาะ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ขับเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ ซึ่งพอจะเข้าใจได้ หากคสช.เปิดทางให้ พรรคประชาธิปัตย์จะได้ใช้จังหวะนี้ประชุมเพื่อพิจารณามีมติอย่างหนึ่งอย่างใดต่อ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.และชาวคณะ
สิ่งที่เป็นหนามยอกอกของอภิสิทธิ์และผู้บริหารพรรคเก่าแก่คือ พฤติกรรมทั้งความไม่โปร่งใสในการบริหาร โดยเฉพาะล่าสุดที่ถูกสตง.ชี้มูลความผิดการจัดแสดงไฟลานคนเมืองมูลค่า 39.5 ล้านบาท ยังไม่นับรวมเรื่องมาตรการกระชับพื้นที่รุกไล่ไม่ให้คนทำมาค้าขายที่ทำกันมาอย่างยาวนานได้ดำเนินกิจการต่อไป ซึ่งเกิดขึ้นในหลายกรณี
สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบด้านลบที่จะมีต่อพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง ดังนั้น อภิสิทธิ์จึงอยากได้โอกาสจากคสช.เพื่อสะสาง มิเช่นนั้น กลายเป็นว่าเรื่องเหล่านี้จะเป็นภาพลักษณ์ที่ติดลบของพรรคเก่าแก่ไปจนถึงการเลือกตั้งพ่อเมืองคนกรุงฯที่จะมีขึ้นในปลายปีหน้า ถ้าไม่รีบล้างรีบเช็ด ความน่าจะเป็นที่จะเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ให้กับพรรคคู่แข่งหรือผู้สมัครอิสระย่อมมีสูง
แต่ดูท่าสิ่งที่พรรคการเมืองต้องการคงเป็นเรื่องยากที่จะได้รับการตอบสนอง ล่าสุด พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมายืนยันแล้วว่า ไม่อนุญาตให้มีการประชุมพรรคการเมืองได้ เพราะอาจก่อให้เกิดความสับสน และสร้างความขัดแย้งขึ้นอีก เมื่อตั้งป้อมกันอย่างนี้คงไม่มีพื้นที่ให้ได้แสดงออก ดูจากท่าทีที่แข็งกร้าวมาตลอด ช่องหายใจสำหรับพรรคการเมืองน่าจะเกิดขึ้นได้หลังการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
คงไม่ต้องอธิบายกันว่าเพราะเหตุใด การเขียนกฎหมายประชามติล็อกคอไม่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ โดยปล่อยให้กรธ.และองคาพยพที่มีเป็นเครือข่ายอธิบายข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญได้แต่เพียงอย่างเดียว นี่คือเดิมพันชิ้นสำคัญของผู้มีอำนาจ อย่างที่รู้กันหากผ่านประชามติไม่ใช่แค่รับรองความชอบธรรมให้กับคณะยึดอำนาจเท่านั้น หากแต่จะหมายถึงการคงอยู่และใช้อำนาจตามมาตรา 44 จะถือเป็นความชอบธรรมตามไปด้วย
จะเห็นได้ชัดเจนว่า การจัดทัพเพื่อชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการที่เรียกว่าครู ก ครู ข และครู ค นั้น ดำเนินการกันอย่างคึกคักและแข็งขัน จากเดิมทีบอกว่าพวกระดับนำจะไปชี้แจงเฉพาะการอบรมในระดับครู ก เท่านั้น แต่ทำไปทำมากลับพบว่าจะมีการลงลึกไปถึงระดับครู ข และอาจเลยไปถึงครู ค เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถมัดใจประชาชนให้มองเห็นข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้
มาถึงตรงนี้คงไม่ต้องพูดถึงประเด็นการได้เปรียบเสียเปรียบ เจตนามันชัดเจนอยู่แล้ว ที่หลายฝ่ายเฝ้าจับตาดูอยู่คือ บรรดาองคาพยพชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องไม่พลาดตกม้าตายด้วยการทำผิดกฎหมายประชามติเสียเอง หากใครไปเผลอพูดให้ช่วยรับร่างรัฐธรรมนูญนี้จะถูกฝ่ายที่ตรวจสอบอยู่ ดำเนินการทางกฎหมายทันที
ที่ตั้งท่ากันก่อนหน้านี้และดำเนินการอย่างจริงจังคือกลุ่มนปช. โดยจะมีการตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ จะมีพิธีเปิดศูนย์ดังกล่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ ซึ่ง จตุพร พรหมพันธุ์ ได้ส่งทีมงานไปยื่นหนังสือต่อกกต.ให้จัดวิทยากรมาบรรยายในวันเปิดศูนย์ดังกล่าวด้วย ทฤษฎีของฝ่ายนี้เชื่อว่า การที่ฝ่ายรัฐใช้มือไม้กว่าล้านรายช่วยชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ ย่อมมีโอกาสที่จะทำผิดชี้นำประชาชนได้ทุกเมื่อ
นี่เป็นผลของกฎหมายประชามติที่ไปเขียนล็อกไว้และท่านผู้นำก็ประกาศชัดเจนด้วยตัวเองเสียด้วย ห้ามรณรงค์ทั้งรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นเช่นนั้นฝ่ายตรงข้ามย่อมสบช่อง หากคนของรัฐกระทำผิดจะเป็นจังหวะให้เกิดการยื่นตีความ ซึ่งผู้ที่จะวินิจฉัยคือกกต. เมื่อนั้นจะเป็นบทพิสูจน์ว่าองค์กรอิสระแห่งนี้มีบรรทัดฐานในการตีความกฎหมายประชามติอย่างไร
ขณะที่หลายคนทุ่มเถียงหรือตั้งข้อสังเกตต่อท่าทีอันผ่อนปรนของหัวหน้าคสช. ปลอดประสพ สุรัสวดี กลับมองไปอีกมุม วิพากษ์ 2 ปีของคสช.เรียบเรียงเรื่องที่ผู้มีอำนาจไม่ควรทำใน 2 ปีที่ผ่านมาว่ามีอะไรบ้าง พร้อมๆ กับตั้งความหวังว่าในวันหน้า (ถ้ามี) ท่านจะไม่ทำอีก โดยสามารถรวบรวมสิ่งที่ไม่ควรทำของคสช.ไว้ทั้งสิ้นถึง 12 ประการ
อย่างแรกคือ ไม่ควรรีบร้อนอนุมัติให้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกขุดลอกแหล่งน้ำ เพราะไม่มีวิศวกร ไม่มีเครื่องจักรและไม่มีประสบการณ์ ไม่ควรห้ามนักการเมืองและนักวิชาการที่เห็นต่างจากท่านเกือบ 500 คน เดินทางไปต่างประเทศ ตอนนี้เหมือนจะยอมเลิกแล้ว แต่ต้องถามว่าเจ็บพอหรือยัง ไม่ควรเอาคนเห็นต่างไปกักตัวเพื่อปรับทัศนคติ ตอนนี้เลิกแล้ว เพราะปรับอย่างไรทัศนคติก็ไม่เปลี่ยน เพราะท่านผิดแน่ๆ จะให้บอกว่าถูกได้อย่างไร
ไม่ควรจับกุมดำเนินคดีกับคนที่ไปยืนเฉยๆ ยกมือเฉยๆ หรือทำสามนิ้วโดยกล่าวหาว่า เป็นการแสดงอุจาด ที่จะนำไปสู่ความไม่สงบ แล้วจะให้ปูผ้ากราบไหว้หรือไงท่านผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ควรขัดขวางความพยายามตรวจสอบการทุจริตคดโกง เช่น กรณีอุทยานราชภักดิ์ การขุดลอกหนองที่พิษณุโลก แต่ไม่ขัดขวางการไปด่าทูตสหรัฐ
ไม่ควรเพิกเฉยปล่อยให้มีการกล่าวจาบจ้วง กล่าวหาสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพราะศาสนาจะพัง ไม่ควรโยกย้ายข้าราชการระดับปลัดกระทรวงและอธิบดีกว่า 30 ท่านไปตบยุงและชำเลืองแลตัวเงินตัวทองหรือเหี้ยว่ายน้ำที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งๆ ที่บางคนไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรผิด หากใช้เงินพวกท่านจ่ายเงินเดือนผมจะไม่พูดสักคำ
ไม่น่าจะออกรายการวิทยุ ทีวี ทุกวี่วันเพื่อโฆษณางานของตัวเอง ในขณะที่ผู้คนเขาอยากจะดูหนังดูละคร แก้เครียด เพราะไม่มีเงินใช้ ทั้งที่บอกว่าเศรษฐกิจดีมีความสุขไงล่ะ ไม่น่าห้ามพรรคการเมืองประชุม แต่พวกคุณประชุมกันได้ ครั้นถูกกดดันหนักๆ ก็มาเรียกพรรคการเมืองประชุมเพื่อขอหารือเรื่องการเมือง เช่น เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติ อย่างนี้เขาเรียกทำตามใจนี่หว่า
สุดท้าย ไม่ควรบริหารประเทศโดยใช้ทหารเก่าเป็นรัฐมนตรีและประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจมากมายอย่างนี้ ท่านต้องยอมรับในวิชาชีพที่แตกต่างไปจากการทหาร สำหรับทหารหนุ่มๆ ก็ต้องพลอยติดตามรับใช้นายเก่า เดินเพ่นพ่านกันเต็มกระทรวง ทบวง กรม แทบจะชนกันตาย เอาเวลาไปปราบผู้ก่อการร้ายไม่ดีกว่าหรือ นี่คือ มุมของปลอดประสพตรงใจใครหรือไม่ไม่ทราบ ที่แน่ๆ ขัดใจผู้มีอำนาจที่ไม่ชอบให้วิจารณ์ชัวร์