ปตท.กับท่อก๊าซลูบคมตลาดทุน
คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าเรื่องปตท.กับท่อก๊าซจะไม่จบลงง่ายๆ หากผู้ฟ้องยังไม่เป็น “ฝ่ายชนะ”
ธนะชัย ณ นคร
คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าเรื่องปตท.กับท่อก๊าซจะไม่จบลงง่ายๆ หากผู้ฟ้องยังไม่เป็น “ฝ่ายชนะ”
เพียงแต่ว่า “เปลี่ยนหน้า” กันมาฟ้องก็เท่านั้น
คดีดังกล่าว อย่างที่รับทราบกันไปแล้วว่า ศาลปกครองสูงสุดได้มีการตีความ และบอกออกมาว่า ปตท.ได้ส่งคืนท่อก๊าซครบถ้วนแล้วตามคำสั่งศาลฯ
ทว่า ฝ่ายผู้ฟ้องก็ยังบอกว่าไม่ครบ
เลยกำลังสงสัยว่า จริงๆ แล้ว ระหว่างการตีความของศาลปกครองสูงสุด กับการตีความของฝ่ายผู้ฟ้อง
เราจะต้องฟังการตีความของฝ่ายไหน
มีการพูดแบบแซวๆ กัน ว่าหากในครั้งนี้ศาลปกครองรับคำฟ้องและยังตีความเหมือนเดิม คือ ปตท.ส่งคืนท่อก๊าซครบแล้ว ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่ศาลฯ อาจถูกฟ้องด้วย
ล่าสุด แม้ว่าศาลปกครองกลางจะรับฟ้องกรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นฟ้อง ปตท. (อีกครั้ง)
ส่วนกระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ยังไม่ทราบว่าศาลปกครองกลางจะรับคำฟ้องไว้หรือไม่
แต่ในส่วนที่ไม่รับคำฟ้องก็จะเป็นกรณีการฟ้องบุคคลต่างๆ รวม 8 คน ที่มีทั้งอดีตผู้บริหารปตท. นักการเมือง อดีตข้าราชการประจำ เพราะไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางที่รับคำฟ้อง ก็ได้บอกให้ทาง ปตท.มาชี้แจงเฉพาะในส่วนที่ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.เป็นคำให้การภายใน 30 วัน
ปตท.ก็บอกว่า พร้อมจะชี้แจงกลับไป และยืนยันได้ปฏิบัติตามมติ ครม.ในวันดังกล่าวครบถ้วน
อาทิตย์ก่อนหน้านี้คุณบรรยง พงษ์พานิช ที่อยู่ในซูเปอร์บอร์ด ก็ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ค (ส่วนตัว) เรื่องปตท.กลับท่อก๊าซ ไว้อย่างน่าสนใจ
คุณบรรยง ได้ตั้งคำถาม 3 ประเด็น
ประเด็นแรก คุณบรรยงบอกว่า เป็นไปได้หรือครับ ที่ทั้ง 12 คน (ที่ถูกยื่นฟ้อง แต่ศาลไม่รับคำร้องฟ้อง 8 บุคคล) จะร่วมมือทุจริตคดโกง วางแผนต่อเนื่อง เพื่อเอาประโยชน์ไปแบ่งปันกัน ส่งมอบงานประสานกันต่างกรรมต่างวาระ
ใครจะเป็นผู้ประสานงาน ใครจะเป็นคนเชื่อมโยงสั่งการ
คนเหล่านี้ได้จริง ลองคิดดูตามความเป็นจริงสิครับ มันเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว
ประเด็นที่สอง ที่คุณบรรยงตั้งไว้คือ หากนี่เป็นการทุจริตจริง ใครจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการทุจริตนี้
ผมคิดยังไงก็ไม่ออกว่าทั้ง 12 คนนั้นจะได้ประโยชน์อะไรจากการทุจริตนี้ การคืนท่อก๊าซครบหรือไม่ครบนั้นไม่มีบุคคลที่ได้รับประโยชน์ใดๆ ถ้าจะมีก็จะเป็นผู้ถือหุ้นของปตท.ที่ “รัฐ” ถืออยู่ 65% และอีก 35% เป็นของผู้ถือหุ้นอีกหลายแสนคนทั้งในและต่างประเทศ
มูลค่าที่ว่า 32,000 ล้านบาทนั้น ไม่ถึงร้อยละ 4 ของมูลค่ารวมของปตท. หรือคิดเป็นประมาณ 11 บาท/หุ้น (จากราคาตอนนั้น 301 บาท)
จริงๆ แล้วผลกระทบที่สำคัญกว่าคือการส่งสัญญาณว่ารัฐไทยดำเนินการยึดคืน ทรัพย์สินเอกชน (Nationalization) (ซึ่งศาลก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐนะครับ)
คุณบรรยง ยังได้ตั้งประเด็นที่สามว่า ถ้าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องไม่ถูกไม่ต้อง เป็นเรื่องชั่ว ขายชาติ ปล้นชาติอย่างที่หลายกลุ่มพยายามประโคม แล้วทำไม 120 ประเทศถึงตั้งหน้าตั้งตาแปรรูปกันกว่า 20,000 รายการใน 20 ปี (มันจะขายกันทั้ง 120 ชาติเลยหรือ)
แล้วทำไมทุกๆ รัฐบาลของไทย ทุกๆ หน่วยงานจึงร่วมมือส่งทอดนโยบายกันตลอดมา
นโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น มีระบุตั้งแต่ในแผน 5 ยุคนายกฯ เปรม (ติณสูลานนท์) มาสมัยคุณอานันท์ (ปันยารชุน) ก็เร่งรัดให้ทำ
ชวน (หลีกภัย) 2 วางแผน และมาขายปตท. จริงสมัยทักษิณ (ชินวัตร)
“การดำเนินงานก็ต้องทำไปตามที่ศาลตัดสิน (ตีความ) แต่เนื่องจากศาลเป็นคนสั่ง เป็นคนตีความ ก็เลยต้องกลับไปปรึกษา ไปถามศาล ซึ่งศาลก็พิจารณาแล้วบอกว่าโอเค โอนแค่นี้ได้ ถือว่าทำตามคำพิพากษาแล้ว เป็นอันสิ้นสุด”
คุณบรรยง ตบท้ายว่า มันเป็นเรื่องของการที่จะเอาชนะ
ส่วนตัวผมก็ว่าไว้อย่างนั้นเช่นกัน
หากไม่ชนะไม่เลิก