พาราสาวะถี อรชุน

๑๑ความพิลึกพิลั่นของกฎหมายประชามติที่คลอดมาบังคับใช้ในการออกเสียงเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยนี่แหละ ที่เป็นตัวปัญหาทำให้เวลานี้ กกต.ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า สุรนันทน์ เวชชาชีวะ และ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ กระทำความผิดด้วยการใส่เสื้อที่มีคำว่า “รับหรือไม่รับ” โดยมีคนร้องเรียนผ่านไปยังแอปพลิเคชั่นตาสับปะรดของ กกต.


๑๑ความพิลึกพิลั่นของกฎหมายประชามติที่คลอดมาบังคับใช้ในการออกเสียงเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยนี่แหละ ที่เป็นตัวปัญหาทำให้เวลานี้ กกต.ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า สุรนันทน์ เวชชาชีวะ และ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ กระทำความผิดด้วยการใส่เสื้อที่มีคำว่า “รับหรือไม่รับ” โดยมีคนร้องเรียนผ่านไปยังแอปพลิเคชั่นตาสับปะรดของ กกต.
๑๑ทั้งๆ ที่ข้อความดังกล่าวไม่ได้มีแค่นั้น หากแต่ระบุว่า“รับไม่รับเป็นสิทธิ์ไม่ผิดกฎหมาย” เมื่อเป็นเช่นนั้นไม่ว่าจะมองด้วยหลักนิติศาสตร์อย่างเคร่งครัด ก็ไม่เห็นแง่มุมที่จะเอาผิดได้ ยิ่งมองด้วยหลักรัฐศาสตร์ยิ่งไม่ผิดไปกันใหญ่ แต่ฟังจากเสียงของ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ผู้ยิ่งใหญ่ที่งวดก่อนอุตส่าห์โพสต์สิ่งที่ทำได้และไม่ได้ในการทำประชามติแต่คนก็ยังไม่เข้าใจ หนนี้ก็เช่นเดียวกัน
๑๑ข้อความของสมชัยนั้นบอกว่าสิ่งที่ทั้งสองคนดำเนินการนั้นไม่ผิด พร้อมระบุว่าเป็นความเห็นส่วนตัวเนื่องจากใส่เสื้ออะไรเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แม้จะเอาคำว่ารับออกก็ตาม แต่สไตล์สมชัยย่อมมีลูกออกตัวตามมา โดยบอกว่าทั้งคู่จะผิดหากใส่เสื้อดังกล่าวจัดรายการทุกวัน ในลักษณะเชิญชวนปลุกระดม ยกเว้นพิสูจน์ว่ายากจนมีเสื้อใส่แค่ตัวเดียว
๑๑รวมทั้งช่วงจัดรายการมีการพูด เท็จ ปลุกระดม หยาบคาย ซึ่งทั้งสองคนคงไม่หลุด มีการแจกเสื้อแก่ผู้ฟัง เรียกเรตติ้งรายการ ซึ่งชัดเจนว่าผิดมาตรา 61 (2) แจกของเพื่อจูงใจลงคะแนน และมีการขายเสื้อและคนใส่มากๆ แล้วไปเดินขบวนก่อความวุ่นวาย แต่ผิดหรือไม่ผิด เป็นเรื่องของศาลตัดสิน ตนเพียงแค่แนะนำทั้งสองคนด้วยความเคารพเท่านั้น
๑๑นี่คือปัญหาของกฎหมายประชามติที่ผู้ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่าง กกต. ยังระบุให้ชัดเจนไปเลยไม่ได้ว่าอะไรทำแล้วผิดหรือไม่ผิด ทุกอย่างต้องนำไปสู่กระบวนการตีความ แล้วมันจะทำให้คนเชื่อถือเชื่อมั่นอย่างไร การทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ การรณรงค์ให้คนไทยออกไปใช้สิทธิในครั้งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดที่สุดในโลก
๑๑มากไปกว่านั้น นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ เห็นว่าคงไม่มีที่ไหนในโลกที่กำหนดมาตรฐานการทำประชามติเหมือนกับที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะก่อนการออกเสียงครั้งนี้ รัฐบาลได้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมการทำประชามติ ทำให้เสรีภาพในการแสดงความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องตัดสินใจมีข้อจำกัดและไม่สามารถถกแถลงกันได้อย่างที่ควรจะเป็น
๑๑ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วหากรัฐบาลมีความจริงใจในเรื่องนี้ เราคงเห็นการแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลายภายใต้ครรลองของระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญก็คงสรรหาข้อดีมานำเสนอ ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็คงเสนอความเห็นแย้งออกมาแบบหมัดต่อหมัด สิ่งเหล่านี้คือประโยชน์โดยตรงที่ประชาชนทุกคนจะได้รับ เพราะสามารถพิจารณาจากข้อมูลและเหตุผลต่างๆ ของแต่ละฝ่ายเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจออกเสียงประชามติต่อไปอย่างมีคุณภาพ
๑๑แต่เมื่อรัฐออกกฎหมายมาปิดกั้น ข้อจำกัดต่างๆ จึงกลายเป็นอุปสรรคในการทำความเข้าใจของประชาชน ต้องยอมรับว่ามีอยู่หลายหัวข้อในรัฐธรรมนูญที่ทำความเข้าใจได้ค่อนข้างลำบาก ดังนั้นเมื่อแต่ละฝ่ายไม่สามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรีและตรงไปตรงมา การปิดกั้นในลักษณะนี้จึงอาจทำให้การทำความเข้าใจในรายละเอียดผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริงได้โดยง่าย
๑๑ตรงนี้ก็ต้องมองย้อนกลับไปยังร่างรัฐธรรมนูญ หากเป็นร่างที่ดีไร้ที่ติคงไม่เป็นปัญหา ซึ่งความจริงร่างรัฐธรรมนูญที่ดีควรเขียนให้เข้าใจง่าย ไม่กำกวม และต้องไม่เปิดช่องให้ตีความกันได้ตามอำเภอใจ โดยประโยคต่างๆที่เขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญควรระบุให้ชัดเจนไปเลยว่าหมายถึงอะไร ไม่ใช่เขียนกันแบบสองแง่สองง่าม อยากให้เป็นประโยชน์หรือโทษกับใครก็แปลกันไปอย่างไม่มีหลักการ
๑๑เหล่านี้ต่างหากคือสิ่งที่คนยกร่างแม้กระทั่ง มีชัย ฤชุพันธุ์ เองก็ยังชี้แจงไม่กระจ่าง วันๆ ได้แต่ตีสำบัดเล่นสำนวนกระแนะกระแหนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น ไปในทำนองว่าเป็นพวกโง่อ่านร่างรัฐธรรมนูญไม่จบแล้วยังสะเออะมาวิจารณ์ ทั้งๆ ที่เนื้อในนั้นส่วนไหนที่มันไม่เป็นประชาธิปไตย มีการหมกเม็ดเพื่อหวังต่อการสืบทอดอำนาจมันฟ้องไปในตัวอยู่แล้ว
๑๑โดยเฉพาะประเด็นการแถเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีแล้วนำไปผูกกับวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม ยิ่งเป็นการย้อนแย้งและประจานตัวเองแบบล่อนจ้อน เพราะมันสะท้อนถึงความคิดตั้งต้นว่าคนที่ยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดการเลือกตั้งแบบนี้มีผลสุดท้ายเพื่ออะไร และมันก็ไปเชื่อมโยงกับที่มาของนายกฯโดยอัตโนมัติ แค่ปมตรงนี้ไปขึ้นเวทีดีเบตที่ไหนเชื่อว่ามีชัยและชาวคณะก็หักล้างฝ่ายเห็นต่างได้ลำบาก
๑๑แต่ก็อีกนั่นแหละ มาถึง พ.ศ.นี้จะไปเรียกร้องอะไรคงไร้ประโยชน์ เนื่องจากหากมองกลับไปถึงจุดตั้งต้นของการรัฐประหารโดย คสช. ก็ทำให้เห็นรูปรอยของการกระทำที่จะตามมาซึ่งจะไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว เหมือนอย่างที่ คะนึง จิตต์กูลสัมพันธ์ เขียนบทความเรื่องปริศนาถุงมือเหลืองรองเท้าแดง กับประชาธิปไตยที่หล่นหายไว้อย่างน่าสนใจ
๑๑โดยมีการชี้ให้เห็นว่าการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยหรือเหมาเข่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ท่ามกลางการคัดค้านของประชาชนและไม่เห็นด้วยของฝ่ายค้านจนประกาศลาออกทั้งหมด คือที่มาของการยุบสภาเพื่อผ่าทางตันของระบบ และเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กับการเลือกตั้ง ซึ่งทุกอย่างน่าจะเป็นไปตามกลไกของระบบ
๑๑แต่เสียงส่วนน้อยที่อยู่ในระบบไม่ยอมร่วมมือกับระบบ ระบบจะเดินไปอย่างไร กปปส.ประกาศไม่ยอมรับการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ พร้อมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ขณะที่พรรคที่เคยเป็นฝ่ายค้านประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งโดยไม่ส่งผู้ลงสมัคร ส่วนองค์กรอิสระที่จัดการเลือกตั้งทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ และศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นแขนขาของระบบตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ แล้วประชาธิปไตยจะเดินไปอย่างไร
๑๑วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จึงคือวันฆาตกรรมประชาธิปไตย ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคมปีเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ประกาศการจากไปของประชาธิปไตยอย่างเป็นทางการ และวันที่ 22 พฤษภาคมจึงเป็นวันเผาเรือนร่างที่ไร้ชีวิตของประชาธิปไตย หากการฆาตกรรมครั้งนี้ไม่ใช่การสมรู้ร่วมคิด อย่างน้อยก็เป็นการร่วมมือและส่งไม้ต่อจนระบบไม่อาจต้านทานและเดินไปอย่างปกติได้
๑๑กล่าวอีกนัยหนึ่งการล่มสลายของประชาธิปไตยเกิดจากปัญหาภายในของมันเอง เกิดจากเสียงส่วนน้อยที่ไม่ยอมรับการค้ำจุนของระบบต่อเสียงส่วนใหญ่ เกิดจากองค์กรที่เป็นแขนขาสร้างปัญหาให้ระบบเอง ด้วยเหตุนี้เสียงท้วงติงเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะกรณีกฎหมายประชามติหรืออื่นใดก็ตาม ย่อมไม่มีความหมายใดๆ เพราะทุกอย่างได้ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระบบมาแล้ว
/////

Back to top button