พาราสาวะถี อรชุน

ปมแจ้งข้อกล่าวหาธัมมชโยโดยดีเอสไอถือหมายจับอยู่ในเวลานี้ ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงแบบไหน แต่ท่านผู้นำ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศกร้าวจับเมื่อไหร่ก็จับได้ ที่ไม่ทำเพราะกลัวจะบาดเจ็บล้มตายกันมาก สะท้อนท่วงทำนองของฝ่ายผู้กุมอำนาจได้เป็นอย่างดีว่ามีเป้าหมายอย่างไร แม้จะเงื้อง่าราคาแพงกันอยู่ในเวลานี้ก็ตาม


ปมแจ้งข้อกล่าวหาธัมมชโยโดยดีเอสไอถือหมายจับอยู่ในเวลานี้ ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงแบบไหน แต่ท่านผู้นำ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศกร้าวจับเมื่อไหร่ก็จับได้ ที่ไม่ทำเพราะกลัวจะบาดเจ็บล้มตายกันมาก สะท้อนท่วงทำนองของฝ่ายผู้กุมอำนาจได้เป็นอย่างดีว่ามีเป้าหมายอย่างไร แม้จะเงื้อง่าราคาแพงกันอยู่ในเวลานี้ก็ตาม

ในแง่ของตัวบทกฎหมายนั้นไม่มีใครเถียง เมื่อมีหลักฐานเชื่อมโยงว่าธัมมชโยเป็นผู้กระทำผิด ย่อมเป็นสิทธิ์ที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายจะต้องดำเนินการ มิเช่นนั้น จะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทว่าที่หลายคนสงสัยคือทำไมต้องโหมประโคมข่าวให้มันเป็นเรื่องราวใหญ่โตด้วย มิหนำซ้ำ ยังมีคนบางพวกคอยเสี้ยมคอยกระทุ้งให้มันหนักข้อเข้าไปอีก

ที่บิ๊กตู่บ่นว่าถ้าเจ้าหน้าที่ยังไม่จับธัมมชโยในเวลานี้ จะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ซึ่งเมื่อหันไปพิจารณากลุ่มที่ขู่ว่าดีเอสไอจะเข้าข่ายดังกล่าว ก็ล้วนแล้วแต่เป็นพวกเดียวกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น พุทธะอิสระ ไพบูลย์ นิติตะวัน และคนล่าสุดคือ มโน เลาหวณิช อดีตคนที่เคยบวชเป็นพระอยู่ในวัดพระธรรมกาย หรืออีกนัยคือ ที่ชูหน้าสลอนก็คือกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวตรวจสอบสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาส วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากมองไปยังตำบลกระสุนตกอย่างธรรมกายและธัมมชโยแล้ว กระแสสังคมย่อมถูกปลุกให้ตื่นตัวและตื่นเต้นกับปฏิบัติการณ์ดังกล่าวอย่างคึกคัก ส่วนหนึ่งที่สำคัญเพราะเจ้าอาวาสและวัดแห่งนี้ถือว่าเป็นบุคคลและสถานที่หนึ่งซึ่งมีคนหมั่นไส้ไม่น้อย จะด้วยวัตรปฏิบัติและความเว่อร์วังอลังการในการประกอบกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดก็สุดแท้แต่

ในมุมวิชาการ สุรพศ ทวีศักดิ์ ได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ น่าสังเกตคือ กลุ่มชาวพุทธที่ไม่เอาธรรมกายด้วยข้ออ้างที่ว่าคำสอนธรรมกายเป็นสัทธรรมปฏิรูป และ ธรรมกายเกี่ยวข้องกับการเมือง (สนับสนุนทักษิณ-พรรคเพื่อไทย) ก็ล้วนแต่เป็นชาวพุทธที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและอิงอำนาจรัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเองในลักษณะใดลักษณะหนึ่งอยู่แล้ว

แม้แต่สันติอโศกเองที่แยกออกจากการปกครองของมหาเถรสมาคมแล้ว แต่ก็ต่อสู้ทางการเมืองด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมและเสนอให้ใช้มาตรา 44 จัดการกับธัมมชโย ขณะที่กลุ่มพุทธะอิสระและศิษย์สวนโมกข์ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่านำศาสนามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไรบ้าง

แต่ก็ควรเข้าใจว่า การอ้างพุทธศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ถือเป็นประเพณี ที่ตกทอดมาจากรัฐยุคเก่า โดยเป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์ไทยที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้วไม่ถือว่าเป็นการเมืองแต่อย่างใด หรือถ้าอ้างพุทธศาสนาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็เป็นการเมืองที่ไม่ผิดหรือเป็นการเมืองที่ถูกที่ควรอยู่แล้ว

การนำศาสนามาเกี่ยวข้องกับการเมืองจะเป็นเรื่องที่ผิด เมื่อสนับสนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเท่านั้น เมื่อธรรมกายซึ่งเป็นองค์กรศาสนาขนาดใหญ่ มีมวลชนจำนวนมาก ถูกมองว่าอยู่ฝ่ายพรรคเพื่อไทย ย่อมเป็นปรากฏการณ์ที่ขัดต่อจารีตเก่า ของพุทธศาสนาเถรวาทไทยอย่างรุนแรง และไม่อาจจะปล่อยเอาไว้ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองจากหลักการประชาธิปไตยสมัยใหม่ ไม่ว่าศาสนาจะสนับสนุนขั้วอำนาจเก่าหรือขั้วอำนาจใหม่ในการต่อสู้ทางการเมือง ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องทั้งนั้น แต่ข้อเท็จจริงคือ ไม่ว่ากลุ่มชาวพุทธที่รังเกียจคำสอน แนวปฏิบัติแบบธรรมกายและฝ่ายธรรมกายเองก็ตาม ต่างก็พยายามอิงแอบอำนาจรัฐในลักษณะใดลักษณะหนึ่งด้วยกันทั้งนั้น

ฝ่ายที่รังเกียจธรรมกาย นอกจากจะอ้างศาสนาต่อสู้ทางการเมืองสนับสนุนขั้วอำนาจเก่าแล้ว ยังเรียกร้องอำนาจรัฐเอาผิดทางธรรมวินัยกับฝ่ายธรรมกาย ซึ่งย่อมขัดหลักเสรีภาพทางศาสนาตามกรอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ส่วนฝ่ายธรรมกายก็อาศัยกลไกอำนาจคณะสงฆ์และอำนาจรัฐบาลในการขยายอิทธิพลของตัวเองไปยังวัดต่างๆ (จัดบวชพระทีละเป็นแสนรูปแล้วส่งไปอยู่ยังวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น)

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการขยายการเผยแผ่ศาสนาแบบของตัวเองเข้าไปยังโรงเรียนและหน่วยงานราชการต่างๆ กระทั่งมีหลักสูตรวิชาพุทธศาสนาแบบธรรมกายในโรงเรียนรัฐบาล อีกทั้งยังสนับสนุนการบัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งก็ขัดต่อหลักเสรีภาพทางศาสนาตามกรอบประชาธิปไตยสมัยใหม่เช่นกัน

ฉะนั้น เมื่องมองรวมๆ แล้ว กลุ่มชาวพุทธที่ขัดแย้งกันอีนุงตุงนังอยู่ทุกวันนี้ ไม่มีกลุ่มไหนเลยที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าต้องการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ ทุกกลุ่มล้วนแต่คิดว่าพุทธศาสนากับรัฐควรมีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ต่อกันเหมือนในยุคเก่า คือต่างเห็นว่ารัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ควรทำหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองป้องกันการบ่อนทำลายพุทธศาสนาแบบรัฐยุคเก่า

โดยจิตสำนึกที่ว่ารัฐมีหน้าที่ในการอุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนา ส่งเสริมการเผยแผ่พุทธศาสนา รักษาธรรมวินัยที่ถูกต้องตามพระไตรปิฎกและจัดการเอาผิดพระนอกรีตที่ทำผิดธรรมวินัย ก็คือจิตสำนึกที่สร้างขึ้นในรัฐยุคเก่าที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน กลายเป็นว่าชาวพุทธไทยที่อยู่ในยุครัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ (ถึงยังไม่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เราก็บอกว่าต้องเป็นให้ได้) ยังมีสำนึกเสมือนว่าตนเองยังอยู่ในยุครัฐยุคเก่า

มีความพยายามขับเน้นให้โฉมหน้าความเป็นรัฐพุทธศาสนาเถรวาทไทยแจ่มชัดและน่ากลัวมากยิ่งขึ้น ผ่านร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ที่อาจเป็นกลไกล่าแม่มดทางศาสนายิ่งกว่ารัฐยุคเก่าเสียอีก ยิ่งเมื่อมองร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบอลัชชี ยิ่งเห็นทะลุไปถึงโฉมหน้ารัฐพุทธศาสนาเถรวาทไทย ที่ทำให้รัฐไทยย้อนยุคไปไกลและถอยห่างจากความเป็นรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่หลายปีแสง

จังหวะเคลื่อนกันในลักษณะเช่นนี้ ยิ่งมองภาพรวมว่าด้วยการปฏิรูปควบคู่ไปด้วย น่าจะเข้าทำนองกับสิ่งที่เรียกว่า สัทธรรมปฏิรูป ได้เป็นอย่างดี เพราะหมายถึง พระสัทธรรมเทียม พระสัทธรรมปลอม พระสัทธรรมอันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเลือนหายไป ความเลือนหายแห่งพระสัทธรรมหรือสัทธรรมปฏิรูป เกิดขึ้นจากเหตุผล 5 ประการ

นั่นก็คือ พุทธบริษัท 4 ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ ไม่เคารพยำเกรงในสิกขาและไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ เพราะผู้ที่ถืออำนาจยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเองและชาวคณะเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและเหนือกว่าคนอื่นๆ ทั้งปวงนั่นเอง

Back to top button