ทหารก็หงอเอ็นจีโอขี่พายุ ทะลุฟ้า

นับเป็นครั้งที่ 2 แล้วสินะ ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต้องยอมล่าถอย ไม่กล้าขัดใจกลุ่มเอ็นจีโอ


ชาญชัย สงวนวงศ์

 

นับเป็นครั้งที่ 2 แล้วสินะ ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต้องยอมล่าถอย ไม่กล้าขัดใจกลุ่มเอ็นจีโอ

ครั้งแรก ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่21 ภายใต้ระบบสัมปทาน เมื่อเดือนต.ค. 57

กลุ่มเอ็นจีโอผนึกกำลังกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คัดค้านขอให้ยกเลิกประกาศ และเรียกร้องให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมโดยให้นำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้ทดแทนระบบสัมปทาน

ระบบแบ่งปันผลผลิต อ้างว่าจะทำให้รัฐได้รับผลตอบแทนสูงกว่าระบบสัมปทาน โดยมีสมมุติฐานว่า ประเทศไทยมีแหล่งปิโตรเลียมมหาศาล และผลิตปิโตรเลียมได้มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

พล.อ.ประยุทธ์ยอมทบทวน และสั่งให้มีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม ส่วนอดีตรัฐมนตรี ดร.ณรงค์ชัย ก็ต้องยอมยกเลิกประกาศ ซึ่งจนบัดนี้กฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่แล้วเสร็จ

มาหนนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติหรือกพช. ได้พิจารณาแหล่งก๊าซธรรมชาติที่จะหมดอายุลง 2 แหล่งในปี 2565 และ 2566 คือแหล่งเอราวัณของบริษัทเชฟรอน และแหล่งบงกชของปตท.สผ.

ตามมติวันที่ 14 พ.ค. 58 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ให้กระทรวงพลังงานไปหาเอกชนมาดำเนินการเพื่อให้การผลิตเป็นไปอย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลา 1 ปี

มติกพช.ที่แถลงออกมาโดยพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงกับทำให้คนในวงการพลังงานสั่นสะท้าน

นั่นคือ ที่ประชุมกพช.มีมติให้เปิดประมูลแหล่งสัมปทานทั้ง 2 แหล่ง แทนการเจรจากับเอกชนเจ้าเดิม

มติดังกล่าวค่อนข้างจะลนลานมาก บอกแต่เพียงให้เปิดประมูล แต่จะประมูลในระบบใด ระหว่างระบบสัมปทานกับระบบแบ่งปันผลผลิต ก็ไม่ระบุออกมาให้ชัด

อย่างนี้ ดูท่าจะลากยาวแน่นอน ซึ่งกระบวนการประมูลปกติ ก็ยืดยาว ไม่น่าจะทันได้ผู้ผลิตรายใหม่ในปี 65-66 ที่สัมปทานจะหมดอายุลงอยู่แล้ว

มาเจอเอากับความไม่แน่ชัด เพราะเจ้ากระทรวงผู้เป็นทหาร หวาดกลัวเอ็นจีโอลนลานจนไม่กล้าระบุว่าจะเอาระบบแบบไหน อย่างนี้คงต้องลากยาวออกไปไม่มีกำหนดแน่นอน

ความเสี่ยงก็คือ ประชาชนอาจจะต้องใช้ไฟแพงขึ้นถึงยูนิตละ 85 สตางค์ เพราะไม่มีก๊าซจากอ่าวไทยขึ้นมาให้ใช้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง

เอ็นจีโอจะมารับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายให้ประชาชนไหม

นอกจากนั้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศ ซึ่งต้องพึ่งพาก๊าซในอ่าวไทยเป็นหลัก ก็ต้องได้รับผลกระทบด้วย ตัวเลขการส่งออกที่หดตัวอยู่แล้ว ก็จะยิ่งติดลบบานเบอะเข้าไปใหญ่

อันที่จริง ระบบสัมปทานแบบ “ไทยแลนด์ 3” ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็มิได้เลวร้ายอะไรนักหรอก อาจจะเรียกว่าให้ผลประโยชน์เข้ารัฐดีกว่าระบบสัมปทานโทรคมนาคมที่ผ่านมาเสียอีก

ประกอบด้วย 1.ค่าภาคหลวงแบบขั้นบันได 5-15% 2.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จ่ายจากผลกำไรร้อยละ 50 ซึ่งจ่ายมากกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลทั่วไปร้อยละ 20 ด้วยซ้ำ

และ 3.ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษรายปีแบบขั้นบันได ร้อยละ 0-75 ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีผู้รับสัมปทานมีกำไรสูงกว่าปกติจากการพบแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่หรือจากการที่ราคาปิโตรเลียมในตลาดโลกสูงขึ้นมาก

ก็จะเห็นได้ว่าเป็นระบบสัมปทานที่มีความเขี้ยวอยู่ไม่ใช่น้อย

ข้อสันนิษฐานของพวกเอ็นจีโอ ที่ให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตดีกว่า ไม่ได้อ้างอิงกับข้อเท็จจริงหรือแบบแผนทางวิชาการที่ผ่านบทพิสูจน์ใดๆ เลย

ข้ออ้างไทยมีแหล่งปิโตรเลียมมหาศาล ก็เป็นเรื่องทึกทักกันขึ้นมาเอง เป็นเรื่องมโนนึกโดยแท้

ซึ่งแท้จริงแล้ว แหล่งปิโตรเลียมของไทย มิได้มีสภาพเป็นแหล่งขนาดใหญ่ แต่มีสภาพเป็นกระเปาะเล็กๆ กระจายตัวทั่วไป จึงต้องทำการขุดเจาะสำรวจแหล่งข้างเคียงไปเรื่อยๆ

ต้นทุนก็ย่อมสูงกว่าแหล่งปิโตรเลียมแหล่งใหญ่เป็นธรรมดา

การลงทุนโดยทั่วไปนั้น ก็ต้องคำนึงถึงผลตอบแทนของผู้ลงทุนด้วย จะคิดเองเออเองให้รัฐได้ผลประโยชน์ที่มากมายเกินจริงได้อย่างไร

การเรียกร้องเปลี่ยนระบบที่เว่อร์เกินเหตุ อาจนำมาซึ่งค่าไฟที่แพงขึ้น และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จะพังเอา ทหารไปกลัวอะไรกับเอ็นจีโอ

Back to top button