KC ขายของเก่ากิน
สิ่งที่อาจารย์อยากจะพูดถึงเป็นลำดับแรก คงเป็นเรื่องเกี่ยวธุรกรรมของหุ้น KC ซึ่งเป็นการฉายภาพให้เห็นถึงความล้มเหลวในเชิงธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาหุ้นในกระดาน พร้อมกับเป็นการฉีกหน้ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ก๊วนเดิมอย่าง “งามอัจฉริยะกุล”
คุณวันเพ็ญ จากลำสาลี กรุงเทพฯ เล่าให้ฟังว่า เธอได้ติดตามดูหุ้น KC หรือ บริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) มาระยะเวลาหนึ่ง และสิ่งที่ปรากฏให้เห็นคือ ปัจจัยพื้นฐานไม่ได้เรื่อง ทุกอย่างมีแต่ราคาคุย สุดท้ายรายย่อยติดหุ้นราคาสูงกันเป็นเบื่อ ล่าสุดมีข่าวออกมาเกี่ยวกับการขายที่ดินมูลค่ากว่า 400 ล้านบาทเพื่อนำไปใช้หนี้ แสดงว่าบริษัทเดินมาถึงทางตันแล้วใช่ไหมค่ะ
สิ่งที่อาจารย์อยากจะพูดถึงเป็นลำดับแรก คงเป็นเรื่องเกี่ยวธุรกรรมของหุ้น KC หรือ บริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการฉายภาพให้เห็นถึงความล้มเหลวในเชิงธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาหุ้นในกระดาน พร้อมกับเป็นการฉีกหน้ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ก๊วนเดิมอย่าง “งามอัจฉริยะกุล”
รวมถึงคนใหม่อย่างที่เข้ามารับไม้ต่ออย่าง “ภัทรภพ อิทธิสัญญากร” ซึ่งเคยนั่งเป็นกรรมการใน บริษัท เอเซีย จอยท์ พาโนราม่า จำกัด (มหาชน) หรือ AJP โดยในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อไปเป็น บริษัท ดีมีเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DCORP
ความต่อเนื่องของเรื่องดังกล่าวมีหลากหลายเรื่องราว ต่อให้พูดสามวันสามคืนก็ยังไม่จบ เพราะกลุ่มคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องมีประวัติไม่ธรรมดา บวกกับธุรกิจที่ทำทุกวันนี้ ยังคาบลูกคาบดอก หนทางที่จะทำให้บริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จึงเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ แต่ยังสัมฤทธิ์ผลทุกครั้ง เมื่อราคาหุ้นเริ่มกระชากขึ้นแรงๆ
ประเด็นเหล่านี้ดูได้จากราคาหุ้นที่ทะยานขึ้นอย่างร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี 58 จากหุ้นที่มีราคาแค่ 1.60 บาท พุ่งทะยานขึ้นไปถึง 5.20 บาท ก่อนจะตกลงทำดีลซื้อขายหุ้นที่ราคา 2.61 บาท มันเป็นตัวที่บ่งบอกให้ทุกคนรู้ว่า หุ้นตัวนี้มาด้วยเกมราคาหุ้นอย่างแท้จริง และจะจบลงอย่างเจ็บปวดรวดร้าวไม่ช้าก็เร็ว
ในที่สุดก็เป็นจริงอย่างที่ว่า เมื่อบริษัทประกาศว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติการขายสินทรัพย์ประเภทที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และสิทธิในการพัฒนาที่ดิน รวม 5 รายการ มูลค่ารวมรวม 420.6 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อนำเงินบางส่วนที่ได้จากการขายสินทรัพย์ไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ ลดภาระดอกเบี้ย และบางส่วนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการดำเนินโครงการอื่นๆ ที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมต่อไป รวมถึงยังช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัท
นั่นเป็นการตอกย้ำว่า KC เป็นเพียงสมบัติที่ผลัดกันชม และเมื่อมีการเชยชมกันอย่างเต็มที่ จนไม่หลงเหลืออะไรที่น่าพิสมัยอีกต่อไป ในไม่ช้าก็จะกลายเป็นบริษัทขี้โรค มีปัญหาขาดทุนเรื้อรัง และรอวันที่จะมีคนใหม่เข้ามารับเซ้งกิจการไปอีกทอดหนึ่งอย่างแน่นอน
เนื่องจาก KC เป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์มากถึง 2,000 ล้านบาท มีหนี้สินแค่ 670 ล้านบาท แต่มีสวนทุนสูงถึง 1,370 ล้านบาท ซึ่งเป็นแรงดึงดูดให้พวกพ่อมดทางการเงินเข้ามาสวมกิจการ พร้อมกับปั้นโปรเจ็กต์ขายฝันเหมือนเช่นที่ผ่านมา และสุดท้ายก็กลายเป็นรายย่อยที่ติดหุ้นอีกตามเคย
การขายสมบัติกินในคราวนี้ จึงเป็นการบอกให้ทุกคนรู้เป็นนัยว่า ธุรกิจเดินมาถึงทางตันจริงๆ และตัวเลขขาดทุนที่มีเป็นจำนวน 3.50 ล้านบาทในไตรมาส 1 ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า ขืนทนทู่ซี้ทำต่อไปเรื่อยๆ มีหวังขาดทุนป่นปี้แน่ๆ ก็เท่านั้นเองครับ
…
กราฟประกอบข่าว : Aspen, ราคาปิด ณ วันที่ 3 มิ.ย.59