พาราสาวะถี อรชุน
ยิ่งแสดงความเห็นยิ่งเป็นการตบหน้าตัวเอง ความจริงแล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ควรจะไปตอบโต้ใดๆ ต่อการที่นปช.ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ เพราะการพูดว่าตอนจำนำข้าวไม่เห็นตั้งศูนย์อะไรเลย ไม่รู้ว่าท่านลืมไปหรือเปล่า คดีดังว่า เวลานี้กำลังพิจารณากันในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใครจะกล้าไปก้าวล่วงเว้นเสียแต่คนที่มีอำนาจวิเศษ
ยิ่งแสดงความเห็นยิ่งเป็นการตบหน้าตัวเอง ความจริงแล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ควรจะไปตอบโต้ใดๆ ต่อการที่นปช.ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ เพราะการพูดว่าตอนจำนำข้าวไม่เห็นตั้งศูนย์อะไรเลย ไม่รู้ว่าท่านลืมไปหรือเปล่า คดีดังว่า เวลานี้กำลังพิจารณากันในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใครจะกล้าไปก้าวล่วงเว้นเสียแต่คนที่มีอำนาจวิเศษ
นี่เป็นแค่ศูนย์ที่ตั้งขึ้นเพื่อดูเฉพาะกรณีการทำประชามติ เมื่อยืนยันกันตั้งแต่ลูกหาบไปจนถึงลูกพี่ใหญ่ทุกอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ก็ไม่เห็นจะต้องไปออกลีลาแสดงความโมโหโกรธาใดๆ ในขณะที่กฎหมายปิดปากห้ามวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญก็สกัดกั้นฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้อยู่แล้ว ดังนั้น ฝ่ายที่ตัวเองไม่ชอบขี้หน้าขยับทำอะไร อยู่เฉยๆ หรือพูดจาในทำนองสนับสนุนน่าจะได้แรงหนุนมากกว่าการถูกมองแบบไม่ไว้วางใจ
ยิ่งดิ้นยิ่งแสดงอาการ ยิ่งทำให้คนทั่วไปสงสัยได้ว่ามันมีอะไรซ่อนอยู่ในการทำประชามติหรือ ถึงไม่อยากให้มีการตั้งศูนย์ปราบโกง ดีเสียอีกจะได้เป็นหูเป็นตาแทนผู้มีอำนาจ และหากทุกอย่างผ่านพ้นไปจนถึงวันทำประชามติแล้วร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบ ยิ่งจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เสียด้วยซ้ำไป
เข้าใจคนที่ถนัดใช้แต่อำนาจ ชี้นิ้วสั่งการ ทุกอย่างต้องมีพระเดชนำ หากจะทำอย่างนั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปผ่อนปรนกติกาใดๆ หรือแม้กระทั่งการเปิดให้มีการทำประชามติ ให้ใช้ความเด็ดขาดจัดการให้ทุกอย่างจบแบบใจต้องการ แต่เมื่อเลือกที่จะเดินด้วยวิถีที่มองว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว ความใจกว้างเป็นคุณสมบัติของผู้ที่ยึดหลักการแบบนี้
ความจริงแล้ว หากจะมองว่าการโกงประชามติครั้งนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็อย่างที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ระบุ มีการโกงตั้งแต่ต้น เพราะไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเคลื่อนไหวแสดงออกอย่างมีเสรีภาพ ทั้งที่เสรีภาพคือหัวใจของการลงประชามติ ซึ่งทั่วโลกไม่มีการจับใครที่ระบุว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่นี่จะเป็นแห่งเดียวในโลก ยิ่งใกล้วันประชามติยิ่งต้องการความเงียบจากประชาชน ทั้งที่บรรยากาศช่วงประชามติควรอึกทึกคึกคัก
เช่นเดียวกับ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่เปรียบเทียบการทำประชามติครั้งนี้กับการชกมวย โดยมีกติกาที่อนุญาตให้ฝ่ายหนึ่งชกได้เต็มที่ ขณะที่อีกฝ่ายถูกมัดมือข้างหนึ่ง ขาข้างหนึ่งและปิดตาอีกข้างหนึ่ง บางคนเห็นว่าไม่ควรลงไปแข่งในกติกาเช่นนี้ บางคนบอกว่าควรขึ้นชกเผื่อฟลุก เรื่องนี้ยากที่จะตัดสินและถกเถียงกันได้อีกมาก
ขณะที่กติกาเป็นเช่นนี้และผู้มีอำนาจก็ควรที่จะเดินหน้าไปสู่การทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ด้วยความมุ่งมั่น แต่กลับกลายเป็นว่า มีเสียงครหาพร้อมคำถามถึงโอกาสที่จะล้มประชามติเกิดขึ้นมาหนาหูมากขึ้น ซึ่งอย่างที่เคยบอกไว้ มันมีมาก่อนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสองของกฎหมายประชามติขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราวเสียด้วยซ้ำ
จนมาถึงวันนี้บิ๊กตู่เองก็ยังไม่กล้ายืนยันจะเอาไง ทั้งๆ ที่กรณีกฎหมายดังกล่าวแม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุหรือเกิดผลกระทบต่อกระบวนการทำประชามติแต่ประการใด ดังนั้น ท่าทีแทงกั๊กของผู้มีอำนาจนี่เอง ที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามออกมาพูดทุกวันว่า ขอให้แข็งใจเดินไปถึงวันที่ 7 สิงหาคมนี้ให้ได้ อย่าล้ม
แทนที่ผู้มีอำนาจจะยืนกรานเพื่อไปถึงวันทำประชามติและดำเนินการตรวจสอบ จับผิดฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กลับเป็นเรื่องตรงข้าม ฝ่ายไม่รับที่ไม่สามารถทำอะไรได้ กลับต้องแสดงท่าทีเพื่อประคับประคองให้สถานการณ์ไปถึงวันลงประชามติ โดยประกาศกันอย่างยียวนกวนโมโหท่านผู้นำว่า พวกตนจะไปรอที่คูหาและกาตามที่เราเชื่อ
บนเส้นทางสงบราบคาบที่ฝ่ายถืออำนาจพิเศษต้องการจะให้เป็นนั้น แท้ที่จริงแล้วคงไม่ได้เป็นเช่นนั้น แน่นอนว่าภาพภายนอกอาจมองเห็นว่า ไม่มีกลุ่มไหนเคลื่อนไหวท้าทาย อาจมีบ้างแต่ก็ถือว่าไม่ใช่กลุ่มการเมืองปฏิปักษ์ที่ถูกจับตามองมาตั้งแต่การรัฐประหาร เมื่อเป็นเช่นนั้นทำไมพลเอกประยุทธ์จึงหลุดประโยคสำคัญผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
ท่านผู้นำบอกว่า ถ้าทุกคนรู้อย่างที่ผมรู้นะจะหนาวอีกเหมือนกัน ผมอดทนทุกอย่าง คือแรงไปก็ไม่ได้ ทั้งที่เลวร้ายนะ น่ากลัวที่เขาทำกันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าพูดมากๆ ประเทศก็ไม่ปลอดภัย คนเหล่านี้เขาสนใจไหม พูดทุกวันนี้แล้วก็จะมาเป็นรัฐบาลกันอีกหรือ หากไม่ใช่พูดเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม นี่คือสัญญาณที่น่ากลัวสำหรับผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างนั้นหรือ
หากเป็นเช่นนั้นนั่นเท่ากับว่า ปฏิบัติการณ์ด้านข่าวสารรวมทั้งการใช้อำนาจด้านความมั่นคงอย่างเข้มข้น ก็ไม่สามารถที่จะลบล้างการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายหรือความเชื่อทางการเมืองที่ผ่านมาได้ หรืออีกนัยหนึ่งหากมองด้วยใจที่เป็นธรรม อาจเป็นเพราะว่าผู้มีอำนาจนำพาตัวเองไปเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ประเด็นนี้หลายคนเชื่อว่ามีความเป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม นพดล ปัทมะ ออกมาเรียกร้อง ขอให้ผู้มีอำนาจเปิดเผยว่าใครหรือขบวนการใดที่วางแผนเลวร้ายทำร้ายประเทศชาติ เพื่อให้สังคมได้รู้ชัดไปเลยว่าเป็นใคร กำลังทำอะไร ไม่อยากให้สังคมสับสนไปตีความกันเอง เพราะตั้งแต่มีคสช. ไม่เห็นว่ามีขบวนการใดที่เคลื่อนไหวจนสามารถสั่นคลอนความมั่นคงของคสช.และรัฐบาลได้
การชุมนุมในบางครั้งก็กระทำในเชิงสัญลักษณ์ และคสช.เองก็ระบุว่าสถานการณ์สงบ จึงยกเลิกข้อห้ามเดินทางไปต่างประเทศของนักการเมือง ดังนั้น ต่อจากนี้ไปจนถึงการทำประชามติและอาจจะยาวไปจนถึงการเลือกตั้ง จึงไม่เชื่อว่าจะมีใครทำให้เกิดความไม่สงบจนกระทบต่อความมั่นคงของคสช.ได้ เพราะคสช.และรัฐบาลมีอำนาจและกองทัพสนับสนุน ตรงนี้แหละที่น่าสนใจ เป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยังออกอาการสั่นไหวให้เห็น แล้วมันจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมั่นกันได้อย่างไร