พาราสาวะถี อรชุน
ขณะที่กฎหมายประชามติมาตรา 61 วรรคสองถูกศาลรัฐธรรมนูญรับไว้วินิจฉัยว่าขัดกับมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือไม่ กกต.โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร ก็ยกเอามาตราดังกล่าวมาขู่เอาผิดกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่เผยแพร่คลิปมิวสิควิดีโอไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังอุตส่าห์แสดงความหวังดีหากมีการเผยแพร่ก่อนกฎหมายประชามติจะมีผลบังคับใช้ให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
ขณะที่กฎหมายประชามติมาตรา 61 วรรคสองถูกศาลรัฐธรรมนูญรับไว้วินิจฉัยว่าขัดกับมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือไม่ กกต.โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร ก็ยกเอามาตราดังกล่าวมาขู่เอาผิดกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่เผยแพร่คลิปมิวสิควิดีโอไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังอุตส่าห์แสดงความหวังดีหากมีการเผยแพร่ก่อนกฎหมายประชามติจะมีผลบังคับใช้ให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
ไม่รู้ว่าเป็นเจตนาดีหรือกลัวถูกรุมกระหน่ำอีกว่า กกต.มีหน้าที่ทำให้การลงประชามติโปร่งใสและเปิดโอกาสให้คนได้แสดงออกต่อร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่มีหน้าที่ไปแจ้งความเอาผิดกับคนที่เขามีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่ก็อีกนั่นแหละ จะไปถือสาหาความอะไรกับคณะบุคคลที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งแต่ไม่อยากจัดจนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาซึ่งการรัฐประหาร
แม้กระทั่งการตีความกฎหมายประชามติแล้วคลอดเป็นกติกามาเพื่อหวังให้คนเข้าใจ ยังถูกด่ากระเจิง สรุปแล้วก็คือ กกต.ชุดนี้ทำทุกอย่างที่จะรักษาเก้าอี้ของตัวเองมากกว่าจะรักษาไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ในกระบวนการไปใช้สิทธิลงคะแนนของประชาชน ทั้งๆ ที่กรณีประชามติตัวเองคือผู้มีอำนาจเต็ม แต่ดูเหมือนว่าจะคอยเงี่ยหูฟังท่วงทำนองของผู้มีอำนาจอยู่ตลอดเวลา
ด้วยท่าทีในลักษณะเช่นนี้เอง กลุ่มที่ถูกมองว่ากระทำผิดกฎหมายประชามติจึงแสดงการท้าทาย โดยไม่ยอมรับคำขู่ดังกล่าวของกกต. รายแรก อานนท์ นำภา ทนายความและแกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ออกมาบอกว่า กรณีดังกล่าวถ่ายทำและเผยแพร่กันก่อนกฎหมายประชามติจะบังคับใช้ แต่ทางกลุ่มยืนยันว่าถึงแม้มีกฎหมายประชามติแล้ว ก็ยังเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวของกลุ่มไม่ได้ผิดต่อกฎหมายแต่ประการใด
โดยยืนยันว่าเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ แม้แต่มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติประชามติก็รับรองไว้ โดยระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย
คลิปดังกล่าวเป็นการรณรงค์ใช้ถ้อยคำในชีวิตประจำวัน ไม่มีคำรุนแรง ก้าวร้าว การที่กกต.ออกมาพูดเรื่องนี้มีเจตนาสกัดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่จะพูดแง่ร้ายหรือข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากเป็นข้อดีกลับพูดได้ ดังนั้น จึงยืนยันว่าคลิปนี้ไม่ผิดกฎหมายจะเผยแพร่ต่อไป มันมีแค่การเต้นใส่เพลง เป็นการแสดงออกโดยสงบสันติอย่างถึงที่สุดของประชาชน ถ้าแค่เต้นไม่ได้ก็ไม่รู้จะทำประชามติกันไปทำไม
ด้าน “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ บอกว่า สำหรับเขาเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร กฎหมายประชามติก็บังคับใช้เอาผิดในลักษณะนี้ เป็นกระบวนการที่มารับรองการประชามติที่ไม่เสรี จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำตามคำแนะนำของสมชัย ที่ให้ไปลงบันทึกประจำวันแสดงความบริสุทธิ์ใจเพราะไม่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ซ้ำ ถ้าจะมีประชามติก็ต้องรับเรื่องเหล่านี้ให้ได้
เช่นเดียวกับ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด ที่ย้ำว่า จะไม่ไปลงบันทึกประจำวันตามคำแนะนำและไม่เห็นว่าคลิปรณรงค์ดังกล่าวเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะไม่ใช่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย หรือไปปิดคูหา หรือขัดขวางประชามติ ขณะที่กกต.ควรมีบทบาทส่งเสริมให้ประชาชนไปลงประชามติ และได้แสดงออกทางความคิดไม่ว่าจะเป็นความคิดแบบไหนก็ตาม
คำถามที่น่าสนใจก็คือ กกต.ที่ใช้เงินภาษีประชาชนเดินทางไปดูการทำประชามติในประเทศต่างๆ มีประเทศไหนบ้างที่มีกฎหมายแบบนี้ น่าจะมีแต่ประเทศไทยนี่กระมังที่นอกจากกฎหมายจะปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแล้ว องค์กรที่มีหน้าที่ในการดูแลการทำประชามติและน่าจะส่งเสริมเรื่องดังกล่าวของประชาชน กลับไล่ขู่ที่จะเอาผิดประชาชนอย่างที่เห็น
หรือว่านี่เป็นเรื่องตลก เหมือนอย่าง หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล เขียนบทความวิจารณ์ท่านผู้นำไปก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะถูกลิ่วล้อของผู้มีอำนาจตอกกลับ กลายเป็นเรื่องตลกที่มีการสาดโคลนกันไปมา บนคำถามว่า “ฝ่ายไหนเคยสร้างประโยชน์ให้ประเทศบ้าง” แต่จะอย่างไรคงเหมือนที่ คำผกา คอลัมนิสต์คนดังสะกิดเตือนว่า ไม่ว่าจะอ้างอย่างไรก็ตาม แต่บรรทัดฐานการตัดสินคนของทั้งสองฝ่ายนั้นเป็น มารยาทมาตรฐานแบบคนชั้นกลางในเมือง
การใช้มาตรฐานดังกล่าวเป็นตัวตั้งในการวิจารณ์คนการเมืองมันอันตราย และส่งผลลึกซึ้งต่อการทำงานเชิงอุดมการณ์ในสังคมลึกมาก การพูดจา ท่วงท่า ภาษา อะไรทั้งหมดที่วิจารณ์ผู้มีอำนาจนั้น ยืนอยู่บนการให้คุณค่าของคนบนมาตรฐานของผู้ดีมีการศึกษา ถามว่าคุณฝันอยากมีนายกฯมีความสุขุม ลุ่มลึก พูดจาไพเราะ บุคลิกดี แต่ถ้าคุณได้คนแบบนี้ตามจินตนาการของคุณ โดยเป็นนายกฯที่มาจากการรัฐประหาร คุณรับได้หรือไม่
ในมุมนี้ไม่ได้แปลว่าเราไม่ควรวิจารณ์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่สิ่งที่หม่อมปลื้มวิจารณ์นั้น เป็นการนำทางที่ผิดเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกฯว่า ต้องพูดดี ต้องไม่เป็นตัวตลกหรืออะไร ประเด็นคือ ต่อให้เรามีนายกฯที่ดูตลกแค่ไหน ทว่ามาจากการโหวตของคนส่วนใหญ่ในประเทศก็ต้องยอมรับ และสิ่งที่เราต้องทำหากเราไม่ชอบคือ โน้มน้าวสังคมให้เห็นว่านายกฯที่มาจากการเลือกตั้งคนนี้ไม่ดีอย่างไร และคราวหน้าคนจะได้ไม่เลือกเข้ามาอีก
แต่ก็อีกนั่นแหละ ขึ้นชื่อว่ามาตรฐานคนดี ต่อให้พูดจาตลบตะแลงขนาดไหนก็ยังได้รับการยอมรับ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับ คนคนหนึ่งที่เคยพูดให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำไปแล้วค่อยมาแก้ทีหลัง ครั้นเมื่อเกิดการแก้เพื่อจะให้มีส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดอันเป็นวิถีที่ถูกต้องของประชาธิปไตย คนดีดังว่าที่มีอำนาจวินิจฉัยการกระทำดังกล่าว กลับเป็นว่า สิ่งนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
วันนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของคนดังว่า ต่อกระบวนการพิจารณากฎหมายประชามติที่เจ้าตัวบอกว่า ความล่าช้าคือความอยุติธรรม ต้องดูว่าจะมีการเร่งรีบพิจารณาและผลของการวินิจฉัยจะเป็นไปตามตัวบทกฎหมายหรือเอาใจผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกันแน่ นี่คือคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของคนดีคือพร้อมที่จะตอแหลเพื่อให้พวกคนดีได้มีพื้นที่ชูคอต่อไป