พาราสาวะถี อรชุน
ยังคงเป็นประเด็นให้พูดถึงและตอบโต้กันไปมากรณีกลุ่มนปช.ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ล่าสุด เป็น สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลที่ตะเพิดให้แกนนำนปช.ไปส่องกระจกดูตัวเองว่ามีคดีความอะไรติดตัวหรือไม่ ก่อนจะคิดมาตั้งศูนย์ปราบโกง เป็นงานถนัดของกระบอกเสียงของรัฐบาล แต่ไม่ต้องไปดูคำตอบจากฟากแกนนำคนเสื้อแดงก็พอจะเห็นแนวทางที่ตอบโต้โฆษกไก่อูได้
ยังคงเป็นประเด็นให้พูดถึงและตอบโต้กันไปมากรณีกลุ่มนปช.ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ล่าสุด เป็น สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลที่ตะเพิดให้แกนนำนปช.ไปส่องกระจกดูตัวเองว่ามีคดีความอะไรติดตัวหรือไม่ ก่อนจะคิดมาตั้งศูนย์ปราบโกง เป็นงานถนัดของกระบอกเสียงของรัฐบาล แต่ไม่ต้องไปดูคำตอบจากฟากแกนนำคนเสื้อแดงก็พอจะเห็นแนวทางที่ตอบโต้โฆษกไก่อูได้
ต้องไม่ลืมว่า คดีความที่แกนนำนปช.มีกันอยู่นั้นเป็นเรื่องของการชุมนุมทางการเมือง เรียกร้องประชาธิปไตย หากจะพูดว่าเป็นคดีทางการเมืองก็อาจพอเรียกได้หรือบางส่วนก็เป็นคดีหมิ่นประมาท ซึ่งถามว่าร้ายแรงหรือไม่ ไม่ใช่ เพราะเรื่องเหล่านั้นมันไม่ใช่การทุจริต ประพฤติมิชอบ ดังนั้น การเลือกเกมสาดโคลนตรงนี้จึงคิดว่าน่าจะเป็นการเดินเกมผิดของโฆษกรัฐบาล
เพราะหากอีกฝ่ายยกประเด็นผังล้มเจ้ากำมะลอที่ตัวเองไปสารภาพกลางศาลว่าไม่มีอยู่จริง ต้องถามว่าอย่างไหนที่มันน่าอับอายขายขี้หน้ามากกว่ากัน ความจริงแล้วอย่างที่บอกตั้งแต่แรก กรณีศูนย์ปราบโกงดังกล่าวนั้น หากไม่มองเป็นประเด็นทางการเมืองหรือมีอคติมาบังตา ปล่อยให้มีการดำเนินการไปอย่างเต็มที่ อีกทาง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสนับสนุนพร้อมช่วยเหลือทุกทาง น่าจะเป็นผลดีมากกว่าสร้างความเสียหาย
เนื่องจากหากไม่มีการโกงใดๆ เกิดขึ้นจนสามารถเดินไปสู่การทำประชามติและทุกอย่างผ่านไปเรียบร้อย ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นตัวสร้างความชอบธรรมอีกทางหนึ่งให้กับผู้นำที่มาจากการรัฐประหาร ในทางตรงข้าม ยิ่งตีโพยตีพายแล้วให้บรรดาโฆษกทั้งหลายออกมาตอบโต้หรือหยิบประเด็นต่างๆ มากล่าวหารายวัน มันยิ่งจะทำให้คนเคลือบแคลงว่า เหตุใดผู้มีอำนาจจึงกลัวศูนย์ปราบโกงกันขนาดนั้น
คนที่เฉยๆ ก็จะเกิดความรู้สึกว่า หรือมีเจตนาที่จะโกงกันจึงไม่อยากให้ตั้งศูนย์ปราบโกง ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นแกนนำนปช.ออกมาท้าเหยงๆ ให้คสช.ใช้อำนาจพิเศษสั่งยุบศูนย์ดังกล่าวได้เลย เพราะถ้าทำจริง นั่นยิ่งจะกลายเป็นความอัปยศอดสูที่ผู้มีอำนาจกลัวการตรวจสอบ ทั้งๆ ที่ประกาศเป็นรัฐบาลโปร่งใสและร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นฉบับปราบโกง
ตรงนี้คือปัญหากวนใจ ที่จะว่าไปแล้วถือเป็นการพลาดของฝ่ายผู้มีอำนาจเพราะคิดว่า ปิดกั้นทุกอย่างดีพอแล้ว ใช้ศรีธนญชัยให้เขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายประชามติ โดยเชื่อมั่นว่าฝ่ายที่ไม่รับไม่สามารถขยับได้ ปรากฏว่ายังมีน้องศรีธนญชัย ที่เห็นได้ว่าเมื่อมีการใช้ช่องทางเจ้าหน้าที่รัฐนับล้านคนไปชี้แจงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญย่อมมีโอกาสที่จะกระทำความผิดได้ จึงใช้รูหายใจที่มีอยู่น้อยนิดนี้ตั้งศูนย์ปราบโกงขึ้นมา
นี่อาจเป็นบทพิสูจน์ที่ว่าสี่เท้ายังรู้พลาด เพราะการใช้คนจำนวนมากขนาดนั้นมีโอกาสที่จะพลาดเข้าข่ายชี้นำให้รับร่างรัฐธรรมนูญได้ โดยเฉพาะบรรดาครู ค ที่จะต้องลงไปในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ตำบล เกิดมีใครต้องการลองของขึ้นมา หลังการชี้แจงของครู ค แล้วตั้งคำถามว่า ที่อธิบายมาทั้งหมดสรุปให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
เกิดวิทยากรคนหนึ่งคนใดเผลอไผลไปตอบว่า “รับ” นั่นจะเข้าข่ายผิดกฎหมายประชามติทันที ตรงนี้นี่แหละที่ฝ่ายผู้มีอำนาจกังวลใจกันอยู่ไม่น้อย จึงกำชับย้ำกันในทุกระดับให้ระมัดระวังและตอบคำถามเท่าที่กรธ.เก็งไว้สี่สิบกว่าข้อเท่านั้น หากนอกเหนือจากนี้ห้ามใช้วิจารณญาณของตนเองเด็ดขาด ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วกลไกที่ใช้กันไปนั้น ไม่จำเป็นต้องแสดงท่าทีอย่างหนึ่งอย่างใด ใครๆ ก็รู้แล้วว่ามีเจตนาเพื่ออะไร
กล่าวสำหรับการทำประชามติหนนี้ มีคนแสดงความเห็นกันอย่างต่อเนื่องเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ล่าสุด เป็น ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอดีตคนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างน่าสนใจทีเดียว โดยตั้งปุจฉานำว่า คสช.คิดอย่างไรที่ทำประชามติ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น
ก่อนที่จะบอกต่อว่า บรรยากาศตอนนี้คือความมืดดำ ไม่รู้อะไรเลย ซึ่งจะมีผลต่อความชอบธรรมและความยั่งยืนของร่างรัฐธรรมนูญนี้ การทำประชามติที่ดีคือ ต้องเป็นธรรม รู้ว่าทางเลือกมีอะไรบ้าง ต้องมีเสรีภาพ ประธานกกต.อาจทำให้เกิดเสรีภาพในคูหาได้ แต่กระบวนการก่อนลงประชามติประชาชนจะมีสิทธิพูดได้มากแค่ไหน หากจะให้เป็นประชามติที่สมบูรณ์ต้องให้สองข้างแสดงความเห็นตามสมควร
ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ชายเดี่ยวที่ชอบโชว์อยู่คนเดียว กลับมองต่างมุมโดยอ้างว่า บรรยากาศขณะนี้ไม่ได้น่ากลัว อย่าดราม่ากันไปเอง สังคมดราม่ามากเกินไปหรือไม่ เพลงประชามติที่เขียนก็ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงเพียงแต่ต้องการกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด เอะอะอะไรก็ว่าเป็นการกำจัดสิทธิเสรีภาพ สังคมหวาดระแวงจนเกินไป หากคิดเช่นนี้ก็จะไม่มีความสุข
แต่ปริญญาย้ำว่า มาตรา 61 วรรคสองของกฎหมายประชามติ กติกาในมาตรานี้ทำให้การออกเสียงประชามติกระทบต่อหลักเสรีภาพ ถ้าไม่แก้ไขก็ต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญ คำว่าปลุกระดมไม่ควรจะมีอยู่ในกฎหมายนี้เนื่องจากมีกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ส่วนคำถามพ่วง ควรเป็นคำถามที่ชัดเจนกว่านี้ พร้อมเสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งประเด็นคำถามพ่วงให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เชื่อว่าน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ
น่าคิดอยู่ไม่น้อย คนที่เคยผ่านเหตุการณ์ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมายังคงหลักการอย่างมั่นคง ขณะที่คนซึ่งเคยทำงานในองค์กรที่เรียกตัวเองว่า องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย อย่างสมชัยวันนี้กลับแสดงท่าทีที่ไม่เป็นกลางอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการหลุดวลีต้องการให้เกิดการปลุกระดมไม่เคารพกฎหมายออกมาเดินขบวนเผาบ้านเผาเมืองอย่างนั้นหรือไม่ ชี้ให้เห็นถึงทัศนคติของคนคนนี้ได้เป็นอย่างดีว่ายืนอยู่ตรงกลางหรือเลือกข้างสนับสนุนกลุ่มการเมืองใด
แต่จะว่าไปกกต.ชุดนี้คงไม่ได้มีแต่สมชัย อาจจะเป็นกันทั้งคณะ ถอดรหัสจากเสียงวิจารณ์ของ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พูดถึงเพลงรณรงค์การทำประชามติที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเชิญชวนไปใช้สิทธิ์ลงประชามติ แต่เพลง 7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคงของกกต.ที่ถูกวิจารณ์ว่าลำเอียง เนื้อความในเพลง บางประโยคเหมือนกกต.จะเชิดชูร่างรัฐธรรมนูญ
คนอาจมองว่ากกต.กำลังสนับสนุนให้รับร่าง ซึ่งตามหลักสากลกกต.จะไม่มาร่วมรณรงค์อย่างเด็ดขาด ตรงนี้คงไม่ต้องสงสัย เพราะท่าทีของการไม่อยากจัดการเลือกตั้งเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จนนำมาซึ่งการรัฐประหาร ย่อมเป็นบทพิสูจน์ว่าผู้นำองค์กรแห่งนี้มีแนวคิดและแนวทางในการทำงานอย่างไร ยิ่งในภาวะที่อาจถูกกฎหมายมาตราวิเศษเล่นงานเมื่อไหร่ก็ได้ จึงยิ่งต้องห่วงเก้าอี้ของตัวเองมากกว่าหลักการประชาธิปไตยและหน้าที่อันสำคัญ