ยุทธศาสตร์หอยทาก…EFORL แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

ไม่มีใครทำสถิติที่ชัดเจน จึงไม่มีใครยืนยันว่า นายธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬห์รักข์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL สร้างความหวัง แล้วทำให้นักลงทุนผิดหวังกี่ครั้งกันแล้ว นับตั้งแต่กู้เงินจากธนาคาร 2 พันล้านบาท เพื่อซื้อกิจการที่ตลาดหุ้นหลายปีก่อน


ไม่มีใครทำสถิติที่ชัดเจน จึงไม่มีใครยืนยันว่า นายธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬห์รักข์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL สร้างความหวัง แล้วทำให้นักลงทุนผิดหวังกี่ครั้งกันแล้ว นับตั้งแต่กู้เงินจากธนาคาร 2 พันล้านบาท  เพื่อซื้อกิจการที่ตลาดหุ้นหลายปีก่อน

โครงการศัลยกรรมกิจการเพื่อทำกำไรทั้งทางตรงและทางลัด ถูกประดิษฐ์มานำเสนอครั้งแล้วครั้งเล่า …ผลลัพธ์ที่นักลงทุนเฝ้ารอมาสองปีนี้คือ กำไรที่ถดถอยลง

ปีนี้ หลังจากไตรมาสแรกที่ทำกำไรติดลบ…หรือ ขาดทุน น่ะแหละ…มากถึง 32.26  ล้านบาท นายธีรวุทธ์ก็เพิ่งออกมางานแรกในรอบหลายเดือนใน วันออปเดย์ ของตลาดฯ กล่าวว่า…ปีนี้มีกำไรแน่นอน เพราะช่วงครึ่งปีหลังถึงช่วงสิ้นปีเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ… แต่อาจจะต่ำกว่าปีก่อนที่ทำได้ระดับ 210.39 ล้านบาท

ถือว่างานนี้ นายธีรวุทธ์ เล่นกับกระแสเป็นมากกว่าเดิม เพราะ…มามาดใหม่ ลดแรงกดดันให้ตัวเองแต่เนิ่นๆ… จากที่เคยบอกว่าจะกลับมาทำกำไรสวย…แล้วผิดหวัง..มาเป็นกำไรน้อย…แต่หากกำไรเกินคาด..รับความดีไปเต็มๆ…อิ อิ อิ

รากเหง้าความเป็นมาของ EFORL ที่ทำแบ็กดอร์ บริษัท แอปโซลูท อิมแพค จำกัด (มหาชน) หรือ AIM ที่มีปัญหาการเงินเมื่อปี 2556 พร้อมธุรกิจขายเครื่องมือแพทย์ของเดิมมาเป็นทรัพย์สิน แล้วเลือกยุทธศาสตร์โตทางลัด เข้าซื้อหุ้นของ บริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (WCIG)

WCIG แม้จะมีงบการเงินที่ดี แต่ก็มีหนี้สินตกค้างประมาณ 1 พันล้านบาท จากการขยายตัวธุรกิจเกินขนาด โดยมีเจ้าหนี้คือ Wise Thai Company Limited

การเข้าซื้อ WCIG ที่มีขนาดธุรกิจใหญ่กว่า ของ EFORL เข้าข่าย “ปลาเล็กกินปลาใหญ่” โดยการระดมทุนผ่านทางเลือกใช้สูตรผสมใช้เงินสดที่มีบางส่วน และกู้เงินบางส่วนจาก 2 เจ้าหนี้รายใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคาร CIMBT ร่วมปล่อยกู้ร่วม 2,000 ล้านบาท ถือเป็น LBO (leverage buyout) ที่มีพันธะสูงลิ่ว เพราะกู้เงินมาซื้อ  

โครงสร้างของ EFORL หลังซื้อกิจการวุฒิศักดิ์ฯ จึงค่อนข้างซับซ้อนเพราะมีการตั้งบริษัทลูกขึ้น บริษัท ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WCIH ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท แล้วให้ WCIH ไปถือหุ้น 60% ใน WCIG จากนั้น EFORL ก็จะให้ WCIG กู้ยืมเงิน 1 พันล้านบาท เปลี่ยนการกู้ยืมภายนอก มาเป็นยืมกันเอง

ข้อดีในช่วงแรกคือหลังดีลจบ รายได้ของ EFORL พุ่งชัดเจน จากรายได้สิ้นปี 2556 ที่ 170 ล้านบาท กระโดดมาเป็น 1,490.21 ล้านบาทสิ้นปี 2557 และครึ่งแรกของปี 2558 นี้ก็พุ่งขึ้นอีก เป็น 2,299.73 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิ ที่เคยต้วมเตี้ยม 26.46 ล้านบาท ในสิ้นปี 2556 มาเป็น 240.73 ล้านบาทในปี 2557 แต่เริ่มถดถอยลงในปี 2558 เหลือแค่ 210.39 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิลดฮวบฮาบที่เคยสูงระดับ 15% ขึ้นไป เหลือแค่ 4.64% ก่อนมาประเดิมขาดทุนไตรมาสแรกปีนี้

กำไรที่สวนทาง เพราะปัญหาแบกภาระหนี้จากธุรกรรม LBO ซึ่งกดดันพุ่งน้อยกว่ารายได้ ทำให้ ราคาหุ้นของ EFORL กลายเป็นหุ้นที่ทำให้นักลงทุน “ติดยอด” ไร้ความหวังกันทั่วหน้า ไม่รู้ว่าเมื่อใดจะฟื้นตัว

หลายคนยิ่งซื้อถัวเฉลี่ย ยิ่งขาดทุนหนักกว่าเดิม

แม้ว่าผู้บริหารจะพยายามหลากหลายวิธีในการ “เก็บเกี่ยวเร็วกว่ากำหนด (early harvest)” ด้วยการขายเงินลงทุนเพื่อถอดสลัก LBO ที่เป็นภาระอยู่ แต่ก็ยังจมปลักกับปัญหาเก่าที่แก้ไม่ตก

ล่าสุด นายธีรวุทธ์ยอมรับว่า หนี้ LBO จากสถาบันทางการเงินที่ใช้ในการเข้าซื้อกิจการ WCHI ยังเหลืออยู่อีก 800 ล้านบาท และมั่นใจว่าจะคืนหนี้ทั้งหมดในปีนี้

พร้อมกันนั้น ก็ยังออกมายืนยันสไตล์ธุรกิจของ EFORLว่า ยังคงเดินหน้าทำธุรกิจไปต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้งเซ็นสัญญาร่วมทุนกับพันธมิตร iHealth Lab Inc ของสหรัฐฯ ตั้งบริษัทร่วมทุน ไอเฮลธ์ วี-แคร์ จำกัด เพื่อรองรับการจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์พื้นที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมายรายได้ปีนี้ 5,000 ล้านบาท จากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ 2,000 ล้านบาท ธุรกิจของ WCIG  อีก 2,500  ล้านบาท ธุรกิจคอสเมติกส์ 500 ล้านบาท ธุรกิจผลิตเมือกหอยทากราว 160 ล้านบาท  และธุรกิจ Health 100 ล้านบาท

เรียกว่า จากนี้ไป…EFORL จะเติบโตแข็งแกร่งแน่นอน..แต่ด้วยยุทธศาสตร์หอยทาก…ไม่ก้าวกระโดด

ดังนั้น หากจะรัก…ต้องรอนานหน่อย

รอไม่ไหว ก็ขายตัดขาดทุนออกไป

หึ หึ หึ

 

Back to top button