เด็กดีของโลกพลวัต 2016
2 ปีมานี้ แม้ว่าจีนจะเผชิญกับภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจรุนแรง การเติบโตถดถอย และการ “ทำความสะอาดบ้าน” ยังไม่เสร็จ แต่แรงสนับสนุนจากตัวแทนของธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทำให้มีมุมมองว่า จีนได้กลายเป็น “เด็กดี” ที่สมควรได้รับคำชมเชย ทำให้ภาพลักษณ์จีนโดดเด่นอย่างมาก ชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
วิษณุ โชลิตกุล
2 ปีมานี้ แม้ว่าจีนจะเผชิญกับภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจรุนแรง การเติบโตถดถอย และการ “ทำความสะอาดบ้าน” ยังไม่เสร็จ แต่แรงสนับสนุนจากตัวแทนของธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทำให้มีมุมมองว่า จีนได้กลายเป็น “เด็กดี” ที่สมควรได้รับคำชมเชย ทำให้ภาพลักษณ์จีนโดดเด่นอย่างมาก ชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ล่าสุดวานนี้ นายเดวิด ลิปตัน รองผู้อำนวยการอันดับหนึ่งของ IMF ได้ออกมาให้ข้อมูลเชิงบวกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของจีนในระยะสั้นยังคงสดใส เนื่องจากการสนับสนุนด้านนโยบายจากทางภาครัฐ เพียงแต่เตือนว่า แนวโน้มระยะกลางเผชิญกับความเสี่ยงสูงขึ้น ท่ามกลางยอดการปล่อยสินเชื่อที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตลอดจนภาวะกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ยังได้แนะให้จีนใช้แผนรับมือกับหนี้สินเอกชนที่ขยายตัวในระดับที่สูงจนน่ากังวล และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีก ซึ่งจะต้องเร่งจัดการปัญหาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่รุนแรงตามมา ตามที่จีนให้คำมั่นว่าจะปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมหนี้สินที่ขยายตัวได้
นายลิปตันได้ระบุว่า หากจีนไม่เร่งจัดการเรื่องดังกล่าว อาจจะเผชิญกับความเสี่ยงสูงในระหว่างที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ จากที่พึ่งพาการส่งออกและการลงทุน ไปเป็นการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ อันเป็นส่วนหนึ่งของการปรับดุลยภาพทางเศรษฐกิจที่จีนใช้เป็นธงนำมา 3 ปีแล้ว
นายลิปตันระบุว่า เงินกู้ของภาคเอกชนในระบบธนาคารจีนราว 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ของจีน เป็นเงินกู้ของบริษัท (โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ) ที่ไม่มีเงินพอจ่ายชำระดอกเบี้ยคงค้าง ซึ่งหากไม่แก้ไข ก็จะทำให้ธนาคารขาดทุนเป็นจำนวนเงินมากเท่ากับ 7% ของจีดีพี
ปัญหาหนี้ท่วมระบบของจีน (เฉพาะบันทึกเป็นทางการ) ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตลอด 2 ปีมานี้ หนี้ครัวเรือน หนี้บริษัท และหนี้สาธารณะ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ถูกผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน และนักวิเคราะห์นำมาอ้างอิงว่า ระเบิดเวลาเรื่องหนี้จะทำให้ จีนจะต้องเจอภาวะ ฮาร์ด แลนดิ้ง ในอีกไม่นาน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เกิด และยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิด
แม้กระทั่ง โฆษกพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังยอมรับว่า ความเสี่ยงจากหนี้สินท่วมของจีนเป็นสิ่งที่น่ากังวล ทั้งของรัฐบาลจีนและของชาวโลก และระบุว่า การขยายธุรกิจที่เกินตัวด้วยการก่อหนี้ แล้วหมักหมมไว้ในระบบการเงินเป็น “บาปบริสุทธิ์ร่วมสมัย” และเสนอแนวทางลดการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะสั้น และการกระตุ้นทางการเงินแบบลูบหน้าปะจมูก แล้วหันมาปรับโครงสร้างอย่างจริงจัง
เพียงแต่ว่า ความผันผวนจากกระบวนการปรับโครงสร้าง 3 แนวทางพร้อมกันอย่างบูรณาการ เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังกว่าระดับปกติ คือ 1) เปลี่ยนจากการพึ่งพาการลงทุนอุตสาหกรรมพื้นฐาน และส่งออก เป็นการบริโภคภายใน และอุตสาหกรรมใหม่ที่ยกระดับคุณภาพการผลิตมากกว่าแรงงานราคาถูก 2) ใช้นโยบายเศรษฐกิจด้านอุปทาน หรือ supply-sided economy ขับเคลื่อน 3) ทำให้ค่าหยวนลอยตัวตามสภาพเป็นจริงมากขึ้นในฐานะเงินสากล
ช่วงที่มีเสียงวิพากษ์รุนแรงเมื่อต้นปีนี้ แรงสนับสนุนสำคัญของจีนในการประชุม World Economic Forum ในเมืองดาวอส ปีนี้ มาจากนาย โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนดังของธนาคารโลก ได้ออกมาปกป้องว่า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนถูกนักการเงินและตลาดทุนตีความเลยเถิด ประหนึ่งว่าจีนกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ทั้งที่อัตราเติบโตของ จีดีพี ที่ระดับใกล้เคียงกับ 7% หรือต่ำกว่านิดหน่อยนั้น ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และภาวะฮาร์ดแลนดิ้ง นั้นจะไม่เกิดขึ้นกับจีนแน่นอน
โดยข้อเท็จจริง มูลค่าหนี้ทั้งระบบที่เป็นทางการของสถาบันการเงินจีนล่าสุด อยู่ที่ระดับ 27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 122 ล้านล้านหยวน ใหญ่กว่ายอดหนี้รวมของสถาบันการเงินในสหรัฐฯถึง 2 เท่าตัว และทำให้เกิดคำถามกับปัญหา “น้ำลดตอผุด” ของสถาบันการเงินในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโตช้าลง
ตัวเลขดังกล่าว แม้ว่าจะไม่ได้ถูกนำไปอ้างอิงโดยผู้จัดการกองทุนเก็งกำไรและนักวิเคราะห์ ซึ่งทางการจีนมองว่าเป็นการ “ใส่ไข่” มากเกิน เพราะขัดแย้งกับตัวเลขสถิติของทางการจีนเองที่คณะกรรมการกำกับดูแลภาคธนาคารจีน (CBRC) ระบุเองว่า ระบบธนาคารจีนมีสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 1.67% ของสินเชื่อทั้งระบบในปี 2558 คิดเป็นมูลค่า 1.27 ล้านล้านหยวน (1.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่ก็ยังไม่ได้รบกวนต่อตัวเลขกำไรสุทธิรวมกันทั้งระบบ 1.59 ล้านล้านหยวนของปี 2558
ยิ่งกว่านั้น เคยมีผลการศึกษาของทั้งนักกลยุทธ์ตะวันตก และนักเศรษฐศาสตร์ในจีน ที่ระบุตรงกันหรือใกล้เคียงว่า ตราบใดที่หนี้เน่าของระบบธนาคารสูงไม่เกินกว่าปีละ 10 ล้านล้านหยวน หรือ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ไม่ถือว่าเข้าขั้นอันตรายสำหรับตลาดเงินจีน
ปัญหาที่ยุ่งยากแสนสาหัสในปฏิบัติการ “ทำความสะอาดบ้าน” คือผลข้างเคียงที่ควบคุมและคาดเดาได้ยาก ดังตัวอย่างที่เป็นฝันร้ายของปี 2014 ในการล้างหนี้และป้องกันฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ทำให้เงินทุนส่วนหนึ่งหายไปหลบซ่อนในต่างประเทศ ผ่านกระบวนการโพยก๊วน หรือ แคร์รี่เทรด ย้อนศร แล้วอีกส่วนหนึ่ง เคลื่อนย้ายมาเก็งกำไรที่ตลาดหุ้น และออกฤทธิ์จนเกิดฟองสบู่ตลาดหุ้นในต้นปี 2015 ที่ต้องแก้ไขด้วยการนำเอาทุนสำรองมาล้างผลาญเพื่อพยุงสถานการณ์ฟองสบู่ตลาดหุ้นแตก ซึ่งทำให้หนี้เสียในระบบเพิ่มขึ้นมากถึง 30%
นอกจากนั้น ทางออกเพื่อลดหนี้ของรัฐวิสาหกิจผ่านการแปรรูปรัฐ และระดมทุนในตลาดหุ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระภาครัฐ ถูกพบว่า กลับกลายเป็นการย้ายภาระหนี้จากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา จากหนี้รัฐวิสาหกิจ ไปอยู่ในหนี้ของนักเก็งกำไรผ่านระบบซื้อขายหุ้นที่เรียกว่า มาร์จิ้นเทรดดิ้ง ที่สามารถหลบเลี่ยงจากเรดาร์ของทางการได้
มีนักวิเคราะห์ตลาดเงินในฮ่องกง (ซึ่งได้รับการรับรองว่าค่อนข้างใกล้เคียงโดย นักวิเคราะห์ของ มอร์แกน สแตนเลย์(เจ้าของดัชนี MSCI) ) ระบุว่า หากตัวเลขหนี้เน่าในระบบธนาคารจีน มีไม่เกินกว่า 8 ล้านล้านหยวน หรือ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สภาพคล่องและเงินกองทุนของธนาคารจีน จะสามารถแบกรับไว้ได้ โดยไม่ต้องกระทบกระเทือนให้รัฐต้องเอาทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเข้ามาโอบอุ้มช่วยเหลือแต่อย่างใด
คำชี้แนะของ IMF ล่าสุดเมื่อวานนี้ ทำให้นายโจว เสี่ยว ฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ขานรับทันควันว่า จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ IMF โดยครอบคลุมถึงประเด็นต่างๆ ของประเทศทั่วโลก และเศรษฐกิจของจีนพร้อมกันไป แต่ก็ถือว่า ภาพลักษณ์ “เด็กดี” ของโลกนั้น จีนกำลังเล่นบทบาทอย่างแนบเนียนระดับออสการ์ยิ่งนัก