ความเป็นไทยไม่มืออาชีพทายท้าวิชามาร
สำนักข่าวต่างประเทศตีข่าวผู้ช่วยนักบินส่งไลน์ เม้าท์ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะเป็น “เหยื่อออนบอร์ด” แล้วก็มีเพื่อนยุ “โหม่งโลกเลย”
ใบตองแห้ง
สำนักข่าวต่างประเทศตีข่าวผู้ช่วยนักบินส่งไลน์ เม้าท์ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะเป็น “เหยื่อออนบอร์ด” แล้วก็มีเพื่อนยุ “โหม่งโลกเลย”
ใช่ครับ ก็เม้าท์กันขำๆ ไม่มีใครทำจริงหรอก แต่มันเป็นเรื่องใหญ่เพราะผิดจรรยาบรรณวิชาชีพนักบินที่เอาชีวิตและความปลอดภัยของผู้โดยสารมาเล่นตลกไม่ได้ ไม่ว่าผู้โดยสารคนนั้นเป็นใคร รัก ชอบ หรือเกลียดขี้หน้าแค่ไหน ต่อให้กลับกัน ถ้านักบินคนนั้นเกลียดเผด็จการ เห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเครื่องแล้วสัพยอก “กามิกาเซ่ซะดีไหม” ก็สมควรประณามโดยไม่ละเว้นเช่นกัน
นี่เป็นคนละเรื่องกับความรักชอบทางการเมือง หรือการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะที่ยิ่งลักษณ์หรือ พล.อ.ประยุทธ์เป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล (เพียงแต่วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้นะ เพราะเราไม่ได้เลือกท่านมา) แต่เมื่อคุณทำหน้าที่ คุณต้องมีจรรยาบรรณเป็น “มืออาชีพ”
กรณีผู้ช่วยนักบินก็ไม่ต่างกับกรณีแอร์โฮสเตสสายการบินหนึ่ง ที่โพสต์ว่าอยากเอากาแฟราดลูกสาวทักษิณ ซึ่งท้ายที่สุดต้องลาออก แม้ไม่ได้ทำจริงเช่นกัน แต่แค่นั้นก็เสียหายต่อวิชาชีพและองค์กรต้นสังกัด ซึ่งพอดีว่าเป็นบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจบริการ ต้องรักษาความเชื่อถือทางสังคม
เรื่องของผู้ช่วยนักบิน (ซึ่งเพียงแต่คึกคะนอง) หรือแอร์โฮสเตสยังเป็นเรื่องเล็ก เมื่อเทียบกับการละเมิดจรรยาบรรณของคนในวิชาชีพต่างๆ ในรอบสิบปีที่สังคมไทยขัดแย้งกัน เรามีตัวอย่างบาดใจให้เห็นกว่านี้เยอะ เช่น ในม็อบ กปปส.มีหมอชูป้าย “หนีคนไข้มาไล่อีปู” (แม้รู้หรอกว่าออกเวรมา ไม่ได้หนีจริง) มีหมอสูตินรีเวช ระดับอาจารย์อาวุโส ขึ้นเวทีไปกล่าววาจาลามกหยาบคายกับอดีตนายกฯ มีกระทั่งศิลปิน กปปส.ประกาศห้ามฝ่ายตรงข้ามใช้ฟอนท์ตัวอักษรของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ตัวเองประดิษฐ์ขึ้น
ย้อนหลังไป ครั้งตำรวจสลายม็อบพันธมิตรหน้ารัฐสภาเมื่อปี 51 แพทย์จุฬาฯ ก็ขึ้นป้ายไม่รับรักษาตำรวจ (แต่พอปี 53 ไม่ยักมีหมอขึ้นป้ายไม่รักษาทหาร)
ล่าสุดยังมีอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์แขวะเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล จนเด็กย้อนถามจรรยาบรรณวิชาชีพครู แล้วก็อ้างว่าตัวเองไม่ได้โพสต์
คนไทยไม่เพียงแต่ละเมิดจรรยาบรรณวิชาชีพด้วยความเกลียดชังทางการเมือง ที่แย่กว่านั้นยังใช้วิชาชีพเป็นอาวุธทางการเมือง ในการทำร้ายฝ่ายตรงข้าม ซึ่งไม่ใช่แค่นักการเมืองแต่ยังรวมถึงประชาชนด้วยกันที่มีความเห็นต่าง
ไม่ว่าจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ จรรยาบรรณวิชาชีพนักวิชาการ ซึ่งยอมบิดเบือนหลักวิชาที่ตัวเองสอนเพื่อรับใช้เป้าหมายทางการเมือง ไปจนกระทั่งใช้อำนาจหน้าที่กลั่นแกล้งนักวิชาการฝ่ายตรงข้าม นักวิชาการที่ถูกกาหัวว่า “แดง” บางคนกว่าจะได้ตำแหน่งศาสตราจารย์เลือดตาแทบกระเด็น ไม่ต้องพูดถึงการให้ทุนวิจัย หรือการได้ตำแหน่งแต่งตั้งต่างๆ
กระทั่งในวงการ “ประชาสังคม” ก็ยังเคยมีกรณีเว็บไซต์ประชาไทถูกตัดเงินทุนสนับสนุนจาก สสส.ในยุคที่อดีตผู้จัดการ สสส.เดินเข้าทำเนียบรัฐบาลไปบริจาคสนับสนุนม็อบพันธมิตร
ในแวดวงสื่อก็เป็นที่รู้กันนะครับว่า เอเยนซีส์ส่วนใหญ่ไปเป่านกหวีดกับลุงกำนัน ฉะนั้นถ้าคุณเป็นสื่ออีกข้าง ก็อย่าหวังได้โฆษณาง่ายๆ ต้องต่อสายตรงเจ้าของสินค้าโน่น
แต่อะไรก็ไม่เป็นปัญหาเท่ากระบวนการยุติธรรม ซึ่งเกิดวิกฤติตุลาการภิวัตน์ จากความเชื่อว่าตัวเองเลือกข้างความดี ความถูกต้อง แล้วใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณที่ต้องรักษาความเที่ยงตรงและยุติธรรม
ซึ่งถ้าเทียบกันแล้ว กรณีผู้ช่วยนักบิน ยังเป็นเรื่องเด็กๆ ไปเลย