แก้ปัญหาสถานีเดียวขี่พายุ ทะลุฟ้า

กระบวนการทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ทำเรื่องที่ไม่ยุ่งให้เป็นเรื่องยุ่งขึ้นมาได้ คงไม่มีที่ไหนแล้วจะทำได้เหมือนที่นี่ ประเทศไทย


ชาญชัย สงวนวงศ์

 

กระบวนการทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ทำเรื่องที่ไม่ยุ่งให้เป็นเรื่องยุ่งขึ้นมาได้ คงไม่มีที่ไหนแล้วจะทำได้เหมือนที่นี่ ประเทศไทย

รางรถไฟฟ้าข้ามสะพานสาทรไปฝั่งธนฯ สร้างเสร็จเป็น 2-3 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถจะเอารถบีทีเอสวิ่งข้ามไปได้ เพราะรัฐบาลท้องถิ่นกทม.กับรัฐบาลกลางมาจากคนละพรรคกัน

คนฝั่งธนฯต้องแหงนคอดูเฟอร์นิเจอร์ลอยฟ้าเป็น 2-3 ปี รถไฟฟ้าถึงจะข้ามไปหาได้

รถไฟฟ้าเส้นสีแดง ช่วงสายย่อยตลิ่งชัน-บางซื่อก็เช่นกัน วางรางเสร็จนานจนขึ้นสนิมแดงหมดแล้ว แต่รถไฟฟ้าเส้นนี้ก็ยังเปิดวิ่งไม่ได้เสียที

เหตุผลก็บรมเขลามากเลย เพราะยังสร้างสถานีปลายทางที่บางซื่อไม่สำเร็จ รถไฟฟ้าเส้นนี้ก็เลยไม่มีที่ลง

กระบวนการสร้างรถไฟฟ้าในบ้านเมืองเรานี่ก็แสนแปลก ไม่เหมือนเมืองนอกเมืองนาที่พากันยกโขยงไปดูงานเขามาหรอก

ของประเทศต้นตำรับทั้งหลาย เขาจะสร้างจากใจกลางเมืองแผ่ออกไปรอบนอก ปีหนึ่งสร้างได้กี่สถานี ก็ค่อยทยอยเปิดวิ่งไปเลย ไม่ต้องรอให้สร้างเสร็จทั้งเส้นทางก่อน จึงถึงค่อยเปิดเดินรถ

มันถึงใช้เวลานานไง รถไฟฟ้าสีหนึ่งใช้เวลาก่อสร้างกัน 6-7 ปี ช่วงระหว่างสร้างก็ยึดพื้นที่ถนนหลวง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนแสนสาหัส

แต่แทนที่จะเร่งสร้างสถานีให้มันเรียงตามลำดับกันไป แต่ละปี สร้างได้กี่สถานี ก็ทยอยเปิดกันไป เพื่อย่นระยะเวลาทุกข์ทรมานแสนสาหัสของประชาชนลงให้มากที่สุดที่จะมากได้

กลับไม่เป็นเช่นนั้น!

มันจะต้องโยกโย้ปล่อยให้ประชาชนคอยไป 6-7 ปี เพราะถือว่า “เวลา” ไม่มีราคาและไม่มีต้นทุน

ความเดือดร้อนของประชาชน ก็ไม่มีคุณค่าราคาให้คำนึงถึงด้วยเช่นกัน

คอยดูไปเถอะ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเส้นสีน้ำเงินหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ที่สร้างกันแบบแหว่งวิ่น เดี๋ยวหัวเดี๋ยวกลางหรือปลาย มันก็จะเข้าอีหรอบเดียวกันกับที่ว่านี้

เรื่องที่คลาสสิคเอามากๆ เลยในเวลานี้ ก็คือ ปัญหาเส้นทางสถานีเตาปูนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะวิ่งไปเชื่อมต่อสถานีบางซื่อของสายสีน้ำเงิน เพียงแค่สถานีเดียวนี่แหละ

ได้เห็นภาพโกลาหลกันน่าดู

รถไฟฟ้าสายสีม่วง กำหนดจะเปิดเดินรถในวันที่ 6 ส.ค. 59 อีกไม่ถึง 2 เดือนข้างหน้านี้อยู่แล้ว แต่ยังหาทางเชื่อมต่อไปยังสถานีบางซื่อไม่ได้ ทั้งที่วางรางเชื่อมต่อกันไว้หมดแล้ว

ปัญหาก็อยู่ตรงที่ยังหาผู้เดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายไม่ได้ครับ

เย่อกันไปเย่อกันมาอยู่อย่างนี้แหละ จะว่าจ้างบริษัท BEM ซึ่งเป็นผู้เดินรถสายสีม่วงให้เดินรถต่อไปอีก 1 สถานี ทางเอกชนก็อ้างเหตุขัดข้องเรื่องจะต้องมีการเพิ่มขบวนรถและสัญญาจ้างก็ไม่นานมันไม่คุ้ม

จริงๆ แล้ว ในเมื่อส่วนต่อขยายเส้นบีทีเอสไปบางหว้าและไปปากน้ำ ยังอนุมัติให้บีทีเอสเจ้าเดิมได้เดินรถต่อยังได้เลย

ทำไมส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ไม่ให้เจ้าเดิมคือ BEM เขาได้ไปบ้างเล่า

ที่ผ่านมา ในราว 11-12 ปี บริษัท BEM ที่ลงทุนไปประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ก็ยัง “ขาดทุนช่วยชาติ” มาทุกปี เพราะมีผู้โดยสารน้อยเกินไป ตอนนี้ยังแค่วันละ 2.7 แสนคน ขณะที่บีทีเอสใกล้จะ 7 แสนคนไปแล้ว

ถ้าฝ่ายรัฐจะเจรจากับ BEM ให้จบกันไปคราวนี้ในเรื่องส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินเลย ก็น่าจะเป็นเรื่องเหมาะควรด้วยประการทั้งปวง

มันจะได้ประโยชน์วิน-วินไปด้วยกันทุกฝ่าย ทั้งผลตอบแทนรัฐ ความคุ้มค่าในการลงทุนของเอกชน และคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่จะมีความสุขมากขึ้นจากการเชื่อมโยงรถไฟฟ้า 2 สีเข้าด้วยกันที่เตาปูน

น่าดีใจอยู่อย่างหนึ่งนะครับ ที่บอร์ดรฟม.เห็นชอบให้เปิดเจรจาตรงส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินกับ BEM โดยไม่ใช้วิธีเปิดประมูลหาเอกชนมาเดินรถแล้ว

ถ้าตกลงกับ BEM ได้ สิ้นปี 59 หลังเปิดสายสีม่วงแค่ 4 เดือน สถานีคลาสสิคเตาปูนกับบางซื่อก็จะเชื่อมเข้าหากันได้แล้ว

ไม่ต้องแหงนถ่อรอไปถึงปี 62 ให้สายสีน้ำเงินส่วนขยายเสร็จทั้งสายเสียก่อน

ปัญหาที่เหลืออยู่ก็คงอยู่ที่ฝ่ายการเมือง ทั้งรมว.อาคม ดร.สมคิด และนายกรัฐมนตรีประยุทธ์เท่านั้นแหละ จะทำให้ปัญหาสถานีรถไฟแค่สถานีเดียว จะเป็นเรื่องสั้นหรือเรื่องยาว

คำตอบมันน่าจะชัดเจนในตัวแล้วนะครับ

 

 

 

 

 

 

Back to top button