พันธมิตรของผู้แพ้แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

คำประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกันระหว่าง บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR และ บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPOLY มีความหมายไม่ธรรมดา


คำประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกันระหว่าง บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR และ บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPOLY มีความหมายไม่ธรรมดา

ทั้งสองบริษัทร่วมกันแถลงว่า  ได้ก่อตั้ง กิจการร่วมค้า SLTT ที่เป็นการร่วมมือระหว่าง SOLAR และ TPOLY มีลงทุนในธุรกิจติดตั้ง โซลาร์รูฟท็อป โดยจะดำเนินการในรูปแบบรับบริหารแผงโซลาร์

ล่าสุด กิจการร่วมค้า SLTT เข้าประกวดราคาและประมูลงานก่อสร้าง Tesco Thailand Roof Top Solar Project กับบริษัท เอกชัย-ดีสทริบิวชั่น ซิสเท็ม จำกัด โดยชนะการประกวดราคาและทำสัญญากับบริษัท เอกชัย-ดีสทริบิวชั่น ซิสเท็ม จำกัด จำนวน 13 อาคาร  มูลค่า 419.50 ล้านบาท กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559

นอกจากนั้น ในอนาคตอันใกล้ กิจการร่วมค้านี้ยังเตรียมประมูลสร้างโซลาร์รูฟท็อป ของเทสโก้ โลตัส เพิ่มอีกประมาณ 200 อาคาร จึงคาดว่าช่วงที่เหลือของปี เทสโก้ โลตัส ที่ประเทศอังกฤษจะทยอยติดตั้งแผงดังกล่าวเพิ่มเติมอีก

ข่าวดีดังกล่าว ตอกย้ำว่า ผู้บริหารของบริษัททั้งสองยังคงมุ่งมั่นในการพลิกฟื้นฐานะของกิจการอย่างจริงจัง ไม่ได้งอมืองอเท้ารอตกเป็นเหยื่อของชะตากรรม

การจับมือกันของ SOLAR และ TPOLY เป็นการสร้างพันธมิตรที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

ที่ผ่านมา ทั้ง 2 บริษัท ล้วนเผชิญข่าวร้ายกันมาหลายไตรมาส หาข่าวดีได้น้อยเต็มที

หลายปีนี้ TPOLY มีความต้องการแก้ปัญหาการเงินที่รุมเร้า ทั้งด้านสภาพคล่อง และชำระหนี้ หลังจากมีตัวเลขขาดทุนมายาวนานกว่า 3 ปีเศษจากธุรกิจก่อสร้าง ถึงขนาดสิ้นเดือนธันวาคม 2557 มีส่วนผู้ถือหุ้นเหลืออยู่เพียง 25.70 ล้านบาทเท่านั้น  และปี 2558 นี้แม้จะเพิ่มทุนไปแล้วครั้งหนึ่ง ขายในราคาสูงกว่าพาร์ คือ 4 บาทต่อหุ้น (พาร์ 1 บาท) ก็ทำให้มีส่วนผู้ถือหุ้นใหม่เพียงแค่ 192.61 ล้านบาท ไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจก่อสร้าง เสียโอกาสมหาศาล

TPOLY ต้องหาทางเอาตัวรอดจากปัญหาการเงินในปี 2558 ด้วยปฏิบัติการ “ขายลูกกิน” อย่างช่วยไม่ได้…ถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก ขายหุ้นที่ถือใน บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH ทำธุรกิจพลังงานทางเลือกที่มีอนาคตโดดเด่น ในวันที่ 30 กันยายน 2558  ออกไปแล้ว 2.5 ล้านหุ้น ได้เงินมานิดหน่อยซึ่งไม่เพียงพอ

ครั้งที่สอง ตัดใจขายยกล็อต 37,500,000 หุ้น หรือ 9.35% ของหุ้นรวมของ TPCH ให้กับ “นักลงทุนที่สนใจโดยตรง” ในราคาหุ้นละ 17.80 บาท ดีกว่าที่ตั้งเป้าไว้หุ้นละ 2.27 บาท รวมแล้วเกินเป้าไปมากถึง 85.125 ล้านบาท

 การขายดังกล่าว ทาง TPOLY ย้ำอีกครั้งว่า จะเป็นการขายครั้งสุดท้าย ไม่ขายอีกแล้ว เพราะขืนขายมากกว่านี้ สัดส่วนการถือครองหุ้นใหญ่จะลดลงกว่า 41.26% ไม่ดีแน่สำหรับอนาคต 

ไตรมาสแรกของปีนี้ งบการเงิน TPOLY  ก็พลิกกลับมาเป็น กำไรสุทธิ 17.31 ได้สำเร็จ แต่ก็ยังคงถือว่ามีกำไรเปราะบางต้องหาทางสร้างรายได้ที่มีกำไรสูงขึ้น

ส่วน SOLAR ก็เพิ่งสร้างตำนาน “งบอุบาทว์” เป็นที่ลือเลื่องไปทั่ววงการ ในไตรมาสแรกของปีนี้ และงบการเงินของปีที่แล้วที่เชื่อมโยงกันไปด้วย เพราะงบการเงินที่มีการแก้ไขถึง 2 ครั้ง เริ่มตั้งแต่งบการเงินไตรมาสแรกของปี 2559 ที่รายงานผลประกอบการออกมาว่า SOLAR และบริษัทย่อย ขาดทุนสุทธิ 21.61 ล้านบาท หรือขาดทุนหุ้นละ 0.04 บาท  เทียบกับปีก่อน กำไรสุทธิ 2.39 ล้านบาท แต่ต่อมา มีการแก้ไขตัวเลขการขาดทุนจากที่แจ้งไปแล้วครั้งแรก กลายเป็นตัวเลขใหม่ที่ปรับปรุงแล้วที่ทำให้เกิดตัวเลขการขาดทุนลดฮวบ มาอยู่ที่เพียงแค่ ขาดทุนสุทธิเพียง 2.61 แสนบาท ขาดทุนแค่หุ้นละ 0.01 บาท

ผลจากการแก้ไขตัวเลขงบการเงินตไรมาสแรกปีนี้ ทำให้ต่อมา SOLAR ก็ได้แจ้งต่อตลาดฯว่าขอแก้ไขงบการเงินสิ้นงวดปี 2558 ใหม่ ในหลายประเด็นพร้อมกัน โดยที่สำคัญสุดคือ ขาดทุนสุทธิสำหรับปี เพิ่มขึ้นจาก 39.43 ล้านบาท เป็น 60.08 ล้านบาทและ ขาดทุนต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน จากเดิม 0.07 บาทต่อหุ้น เป็น 0.11 บาทต่อหุ้น

แถมระหว่างที่วุ่นวายเรื่องแก้ไขงบการเงินนี้ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 2 อันดับหัวแถว ได้แก่ นาย นริศ จิระวงศ์ประภา ผู้ถือหุ้นอันดับสองของ SOLAR ขายหุ้นออกมา 0.37% ตามมาด้วยหมอพงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี ขายหุ้นเกือบเหี้ยนจากเดิมที่ถือมากกว่า 14% ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าเป็นการขายเพราะใช้ข้อมูลวงในหรือไม่

การขายหุ้นทิ้งของรายใหญ่ 2 รายหัวแถว ทำให้บริษัท SOLAR เสมือนเรือที่ไร้หางเสือ หุ้นที่ไร้เจ้าภาพ แต่ล่าสุด นายอัครเดช โรจน์เมธา กรรมการบริหารและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ระดับ 3.96% ก็ออกมาระบุว่า แผนธุรกิจบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบและยังคงเดินหน้าได้ตามปกติ ถึงแม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม 2 ราย ขายหุ้นทิ้งทั้งหมด           

 ขณะที่นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SOLAR ก็ยืนยันว่า นับจากนี้ไปบริษัทจะไม่เกิดเหตุการณ์ประกาศแก้ไขงบการเงินบริษัทอีกแล้ว รวมถึงข้อมูลงบการเงินของบริษัทที่ผ่านมาไม่มีการรั่วไหลและไม่มีใครได้ทราบก่อนล่วงหน้า

การสร้างพันธมิตร ที่เน้นจุดเด่นของแต่ละฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมีแผงวงจรโซลาร์ อีกฝ่ายมีความช่ำชองธุรกิจก่อสร้าง แม้ว่าอาจจะยังไม่ได้มีสัญญาณบ่งชัดว่าจะเป็นพันธมิตรที่ประสบความสำเร็จโดดเด่น แต่อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นการดิ้นรนที่ไม่อยู่กับที่ ไม่ยอมแพ้แก่ชะตากรรม

สู้อย่างนี้… ก็น่าจะเรียกขวัญและกำลังใจกลับมาสู่ผู้ถือหุ้นได้ไม่น้อย

วันนี้ อาจจะเป็นพันธมิตรของผู้แพ้…แต่วันหน้า พันธมิตรของผู้ชนะ อาจจะเป็นโมเดลที่เป็นกรณีศึกษา..ใครจะรู้

อิ อิ อิ

 

Back to top button