พาราสาวะถี อรชุน

เป็นประเด็นมาตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงบัดนี้ยังไม่สร่างซาต่อกรณีนปช.ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ นั่นเป็นเพราะผู้มีอำนาจตั้งแต่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงไปต่างมีปฏิกิริยาที่รุนแรงต่อศูนย์ดังกล่าว แม้ท่านผู้นำจะบอกว่ามองเห็นเป็นอากาศธาตุ แต่ดูเหมือนว่ามือรองลงไปอย่าง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เห็นเป็นเรื่องจริงจัง


เป็นประเด็นมาตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงบัดนี้ยังไม่สร่างซาต่อกรณีนปช.ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ นั่นเป็นเพราะผู้มีอำนาจตั้งแต่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงไปต่างมีปฏิกิริยาที่รุนแรงต่อศูนย์ดังกล่าว แม้ท่านผู้นำจะบอกว่ามองเห็นเป็นอากาศธาตุ แต่ดูเหมือนว่ามือรองลงไปอย่าง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เห็นเป็นเรื่องจริงจัง

ด้วยเหตุนี้จึงมีมาตรการทหารไปไล่เก็บป้ายศูนย์ปราบโกงตามจังหวัดต่างๆ บางแห่งต้องลงทุนควักกระเป๋าจ่ายตังค์เป็นค่าทำป้ายเหมือนอย่างเจ๊เพ็ญสองร้อยซาวที่ลำปาง นั่นเป็นเพราะจะได้หลักฐานไปแสดงกับเจ้านายว่าได้ดำเนินการล้มศูนย์ปราบโกงในพื้นที่ไปเรียบร้อยแล้ว บางที่อาจจะหนักหน่วงหน่อยด้วยการเชิญตัวแกนนำที่เป็นตัวตั้งตัวตีไปคุยกัน(ดีดี)ในค่ายทหาร

ทั้งหมดนี้ถามว่ามีใครได้ประโยชน์ ผลสำเร็จตกเป็นของแกนนำคนเสื้อแดง เพราะ จตุพร พรหมพันธุ์ ประกาศท้าเหยงๆอยู่ทุกวันให้ไปจับตัวได้เลยที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว หากเห็นว่าศูนย์ดังกล่าวผิดกฎหมายจริง แต่ปัญหามันก็คือ ไม่รู้ว่าจะไปดำเนินการเอาผิดด้วยข้อหาอะไร ถ้าไปจับตัวมาแล้วนำส่งฟ้องต่อศาลว่าคนๆนี้ผิดเพราะตั้งศูนย์ปราบโกงมันคงเป็นอะไรที่ไม่ตลกแน่นอน

ส่วนในต่างจังหวัดที่อ้างเรื่องของการหวั่นจะสร้างความวุ่นวาย หรือกลัวว่าจะมีคนใช้เป็นแบบอย่างก็เอาตามที่ผู้มีอำนาจสบายใจ อย่างที่ได้บอกไปตั้งแต่ต้น เรื่องนี้หากเฉยๆแล้วปล่อยให้เปิดกันไป ถ้าจะมีใครไปร้องผ่านศูนย์นี้ว่ามีการโกงประชามติ ศูนย์ดังว่าก็ไม่ได้มีอำนาจจะไปชี้ถูกผิด อย่างไรเสีย เรื่องก็ต้องไปจบที่กกต.

หากปล่อยผ่านแล้วให้ทุกอย่างเดินไปตามครรลอง คงไม่ต้องเห็นภาพบาดใจแกนนำเสื้อแดงไปยื่นร้องต่อองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย แล้ววันนี้ทางยูเอ็นก็นัดหมายให้แกนนำนปช.ไปพบอีกครั้ง เพื่อที่จะฟังบทสรุปว่า เมื่อวานที่ผ่านมาซึ่งประกาศเปิดศูนย์ปราบโกงกันทั่วประเทศนั้น มีคนถูกคุกคาม ข่มขู่อย่างไรหรือไม่

แน่นอนว่ายูเอ็นคงไม่ได้ฟังหรือรับข้อมูลเฉพาะทางฝ่ายนปช.เพียงอย่างเดียว น่าจะมีการส่งคนไปเก็บข้อมูลเป็นการเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งหากทุกอย่างตรงกัน สถานะของรัฐบาลและผลกระทบที่จะตามมาในอนาคตจะเป็นอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ทำอยากทำอะไรก็เชิญเหมือนอย่างที่บิ๊กป้อมประกาศไว้ เพราะถ้าไม่แคร์ต่างชาติจริง คงไม่เต้นกันทั้งเรื่องของไอเคโอและใบเหลืองอียู

ประเด็นเรื่องต่างชาติไม่รับฟังข้อมูลทางการไทยหรือฟังอย่างเสียมิได้นั้น ยืนยันมาจากคนกันเองของผู้มีอำนาจอย่าง ถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำกปปส.ที่โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ระบุว่า เวลานี้มีคนของพรรคประชาธิปัตย์สองรายคือ สุรินทร์ พิศสุวรรณ และ ศุภชัย พานิชภักดิ์ ต้องไปช่วยชี้แจงสถานการณ์ต่างๆของประเทศไทยให้ต่างชาติเข้าใจ

โดยถาวรย้ำว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลคสช.ถูกจำกัดด้วยเป็นรัฐบาลทหาร การประชุมหรือหารือในหลายองค์กรไม่ยอมรับ ต้องรอดูว่าจะมีการปฏิเสธหรือโต้กลับจากฝ่ายรัฐหรือไม่ หรือจะเกรงใจเพราะเป็นพวกเดียวกัน แต่อย่างน้อยกรณีนี้ก็เป็นสิ่งยืนยันแล้วว่า ที่บรรดาโฆษกทั้งหลายแหล่ของรัฐบาลอ้างว่านานาชาติยอมรับนั้นเป็นความจริงแค่ครึ่งเดียวหรือเพียงน้อยนิดเท่านั้น

สิ่งที่น่าสนใจประการต่อมากับการโพสต์เฟซบุ๊กของถาวรก็คือ การอ้างว่าได้มีการพูดคุยกับสุรินทร์ในฐานะอดีตเลขาธิการอาเซียน ประเมินผลงานของรัฐบาลคสช.ถือว่า”สอบตก” หลังการรัฐประหารการเลือกตั้งหยุดชะงัก มีการเปลี่ยนแปลงบ้างคือ การใช้มาตรา 44 หรือแม้แต่การลดความเหลื่อมล้ำโดยใช้กฎหมายเก็บภาษีมรดก แต่การออกพระราชบัญญัติเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกลับไม่ชัดเจนว่า นำเงินนี้ไปดูแลคนยากจน

เช่นเดียวกับ กรณีการใช้มาตรา 44 ให้เรียนฟรี 15 ปี ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นเรื่องพรรคประชาธิปัตย์ทำมาก่อนหน้านั้นแล้ว (ความจริงคงต้องบอกด้วยว่าพรรคอื่นซึ่งหมายถึงเพื่อไทยก็ทำมาด้วยเช่นกัน) แต่เรื่องที่ต้องขีดเส้นใต้คือ สถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่นและการรวมศูนย์อำนาจยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจยิ่งเป็นการทำลายหลักการเดิมโดยใช้ระบบอุปถัมภ์มากขึ้น

ส่วนปัญหาเศรษฐกิจ พืชหลักราคายังตกต่ำ ธนาคารไม่ปล่อยกู้ให้ลงทุนหรือการซื้อที่อยู่อาศัย แต่กลับปล่อยให้นักธุรกิจรายใหญ่ การเบิกจ่ายจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐล่าช้า โดยสรุปรัฐบาลนี้แก้ไขปัญหาเฉพาะด้านความสงบเรียบร้อยได้เรื่องเดียว เรื่องอื่นๆแก้ไม่ได้ ถ้าเป็นคนพรรคเพื่อไทยหรือนปช.น่าจะได้เห็นการตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนจากโฆษกรัฐบาลและคสช. แต่ในฐานะอดีตแกนนำม็อบที่เปิดประตูให้เกิดการรัฐประหาร ปฏิกิริยาโต้กลับไม่น่าจะเกิดขึ้นหรือถ้ามีก็จะเป็นไปในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่า

ทั้งนี้ กรณีของเรียนฟรี 15 ปีที่ล่าสุดมีคำสั่งมาตรา 44 ให้ดำเนินการต่อนั้น มีการตั้งคำถามมาจาก จาตุรนต์ ฉายแสง ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยมีผลบังคับใช้ คำสั่งคสช.หรือกฎหมายที่ไปปรับปรุงตามคำสั่งนี้จะยังมีผลต่อไปหรือไม่ น่าเป็นห่วงคือเมื่อถึงเวลานั้น หากมีการตีความกันขึ้น เช่น ผู้ที่พึงได้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญอย่างเช่น เด็กเล็ก เด็กอนุบาลหรือเด็กม.ต้นได้รับการดูแลไม่เพียงพอ อาจเรียกร้องให้มีการตีความ คำสั่งนี้จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ถ้ารัฐบาลใดทำตามคำสั่งนี้ก็อาจเป็นการขัดรัฐธรรมนูญได้ หรือพูดง่ายๆอีกแบบคือถ้าไม่ต่างกันหรือขัดกันก็ไม่จำเป็นต้องออกคำสั่ง แต่ถ้าต่างกันคำสั่งก็จะไม่มีผล ทำไมเรามาอยู่ในจุดนี้ สาเหตุสำคัญหนีไม่พ้นกรธ.ชุดนี้ ที่มีความคิดแปลกๆจึงได้ร่างกันมาตามความคิดของตน ไม่ใช่เรื่องหลงลืมหรือมองข้าม มีคนทักท้วงกันไม่น้อย แต่กรธ.ก็ไม่ฟัง

พอมีเสียงวิจารณ์กันมากจนกระทั่งกลัวว่าเรื่องเรียนฟรีแค่ 12 ปีนี้จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านในการลงประชามติ จึงมาหาทางออก ซึ่งก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาจริง คำถามที่ต้องตอบให้ได้ก็คือ สมควรหรือไม่ที่ คสช.จะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของตนมาเที่ยวอุดช่องว่างช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญล่วงหน้า ทั้งๆที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้อยู่ระหว่างการทำประชามติและยังไม่รู้เลยว่าจะผ่านความเห็นชอบของประชาชนหรือไม่

Back to top button