จินตนาการชั้นเดียวที่ไร้สติ

หนึ่งในคำอธิบายของการขายหุ้นทิ้งปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาทั่วโลก และทำให้ตลาดผันผวนสลับฟันปลา คือ การลงประชามติของอังกฤษที่จะถอนตัว หรือยังคงดำรงสถานะสมาชิกของสหภาพยุโรปต่อไปอีกหรือไม่


พลวัต 2016 : วิษณุ โชลิตกุล

 

หนึ่งในคำอธิบายของการขายหุ้นทิ้งปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาทั่วโลก และทำให้ตลาดผันผวนสลับฟันปลา คือ การลงประชามติของอังกฤษที่จะถอนตัว หรือยังคงดำรงสถานะสมาชิกของสหภาพยุโรปต่อไปอีกหรือไม่

สัปดาห์นี้ เหตุผลเดิมนี้ ยังจะถูกนำมาใช้อ้างกันต่อไป ส่วนจะออกหัวหรือก้อย ยากคาดเดา

การคาดเดาผลลัพธ์ล่วงหน้าที่ยากนี้ สำหรับนักลงทุนในตลาดเก็งกำไรที่มีประสบการณ์ มักยึดถือเป็นข้อเตือนว่า การลงประชามติของอังกฤษ กับ การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทย แตกต่างกันแค่รายละเอียดเท่านั้น เพราะว่าก่อนจะรู้ผลลัพธ์ของประชามติ จะเกิดภาวะ “หลุมดำของความไม่แน่นอน” เกิดขึ้น

หากถือตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยพฤติกรรมของการลงทุนแล้ว ถือว่ามีความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้สูงมาก

แฟรงค์ ไนท์ นักเศรษฐศาสตร์การเงินแห่งชิคาโก สรุปว่า ความเสี่ยงจากปัจจัยที่สามารถวัดและประเมินได้ (โอกาสที่จะล้มเหลว) สามารถควบคุมโดยการตัดค่าเสียหายล่วงหน้าได้ แต่ความไม่แน่นอน เกิดปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ และประเมินไม่ได้

ความไม่แน่นอน คือ ความเสี่ยงที่ยากจะตัดความเสียหายได้ และทำให้นักลงทุนเหลือทางเลือกแค่ 2ทาง คือ1) อยู่ในตลาดต่อไปโดยลดพอร์ตลงทุนไม่ให้เกิน50% เพื่อจะลดความเสี่ยงหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามคาด

หลังการฆาตกรรม ส.ส.หญิง พรรคเลเบอร์อังกฤษ ซึ่งสนับสนุนให้อังกฤษดำรงสมาชิกภาพสหภาพยุโรปต่อไป ถูกนักลงทุนในนิวยอร์ก (ต่อมานักลงทุนที่อื่นก็พลอยพยักตามไปด้วย) พากันตีความที่เป็นบวก ทำให้เกิดแรงซื้อในช่วงซื้อขายกลางตลาดที่พลิกผันให้ดัชนีดาวโจนส์วันพฤหัสบดี ร่วงแรงกว่า100 จุดเมื่อเปิดตลาดช่วงต้น กลับบวกท้ายตลาดแรงเกือบ100 จุด แต่ต่อมาวันศุกร์ก็กลับร่วงต่อ โดยอ้างว่ายังคงกังวลเรื่องดังกล่าวต่อ ทั้งที่เมื่อวันศุกร์ราคาน้ำมันทั่วโลกรีบาวด์กลับแรงมาก ก็ห้ามไม่อยู่

ความแปรปรวนทางอารมณ์ของนักลงทุนในอเมริกาและยุโรป ต่อกรณีอังกฤษมีเหตุผลตรงที่ว่า หลังการฆาตกรรม ข้อมูลข่าวสารทุกอย่างหายไปเกือบสิ้นเชิง ด้านหนึ่งดี เพราะมีการสาดโคลน หรือชี้นำ แต่อีกด้านหนึ่งไม่มีใครคาดเดาได้เลยว่าเมื่อเข้าสู่คูหาลงประชามติแล้ว ใครจะชนะหรือแพ้

ความไม่อาจคาดเดาได้จากความไม่แน่นอนนี้ เป็นอันตรายมากกว่าความเสี่ยง ยิ่งกว่าการโยนหัวหรือก้อยเพื่อเสี่ยงทายด้วยซ้ำ

ในตลาดวอลล์สตรีท มีคำเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า” Black Swan Event” ซึ่งอธิบายว่าความเสี่ยงที่เกินเลย ส่งผลรุนแรงกว่าคาดเสมอ และกลายเป็นเหตุผลสำหรับปรากฏการณ์ใหม่ที่เสมือนหนึ่งมีความสมเหตุสมผลในตัวเอง (ทั้งที่ไม่ใช่เลย)

กรณีลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทยต้นเดือนสิงหาคม เราจะได้ยินนักลงทุนจำนวนมากพูดและคิดง่ายๆแบบ “โลกสวย” ว่า ควรให้ผ่าน เพราะหากผ่านไปแล้วจะมีผลดีทำให้หุ้นวิ่งขึ้นแรง เพราะ1) สถานการณ์ทางการเมืองจะกลับสู่ปกติ (โดยที่ไม่มีใครนิยามว่าความปกติที่ว่าคืออะไร) 2) จะมีเลือกตั้งกันเสียทีได้รัฐบาลที่ไม่มีคนโกงเข้ามา เพราะร่างรัฐ

ธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมา เพื่อปราบนักการเมืองขี้โกง (ทหาร ตำรวจ หรือข้าราชการจะโกงบ้าง รับได้) 3) เศรษฐกิจจะดีขึ้นเพราะต่างชาติจะขนเงินกลับเข้ามาลงทุนระลอกใหม่

ข้อเท็จจริงที่ตรงกันข้ามกับท่าที “โลกสวย” คือ

– วาระแห่งชาติของปฏิบัติการรัฐประหารปี 2557โดยกองทัพ จนถึงปัจจุบัน คือ การกระทำในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เรียกว่าจารีต “ล้อมวังในช่วงเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งไม่แน่ชัดว่าจินตนาการเบื้องหลังการกระทำนี้ เป็นยุทธการ “เกินสั่ง”  หรือ “ตามสั่ง” ของใคร และเพื่อใคร หรือไม่ได้เพื่อใครเลย (โดยที่หนึ่งในวาระนี้คือทำลายล้างอิทธิพลทุกด้านของทักษิณ ชินวัตรและพวก โดยที่ข้ออ้างอันสมเหตุสมผลไม่ชัดเจน) ดังนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ปกติหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่มีสาระชัดเจนว่าเลวร้ายอย่างที่สุดนับแต่ร่างกันมา แต่อยู่ที่ทหารในกองทัพไม่ยอมคลายอำนาจ เพราะหาทาง “ลงจากหลังเสือ” ไม่ได้

– การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ทำให้สภานิติบัญญัติมีฐานะแค่ “ตรายางรองรับอำนาจ” ของกลุ่มคนหยิบมือที่สมคบคิดยึดอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และได้รัฐบาลที่มีฐานะ “เจว็ด” ของผู้นำกองทัพและกลุ่มสมคบคิดที่เชื่อด้วยอคติบัดซบว่าตนเองรู้ดีและทำได้ดีกว่ามวลประชาชน ปฏิเสธหลักพื้นฐานประชาธิปไตยร่วมสมัยแห่งยุคดิจิตอล ว่าด้วย “ความฉลาดของมวลชน” (the wisdom of crowd)  ซึ่งจะยิ่งทำให้การฉ้อฉลกลโกงกระทำหลังม่านเพื่อแย่งยื้อ “ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ” จากการผูกขาดตัดตอนเชิงโครงสร้าง

-2 ปีเศษนับแต่การรัฐประหาร ผู้นำกองทัพและคณะรัฐประหาร ไม่เคยมีความสามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นแม้แต่น้อย ดังนั้นการตั้งสมมติฐานแบบ “โลกสวย” ว่ารัฐบาลหุ่นหลังการเลือกตั้ง จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว จึงเป็นจินตนาการแบบสร้าง “บัลลังก์เมฆ” บนความโง่เขลาของคนที่เชื่อเช่นนี้

-สาระอันเลวร้ายของร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมวิธีเอาชนะให้ร่างดังกล่าวผ่านประชามติ(ด้วยกฎหมายลงประชามติ    การโหมโฆษณาชวนเชื่อฝ่ายเดียวทุกช่องทาง และการควบคุมอย่างบิดเบือนของ ก.ก.ต.) เพื่อลด “ความไม่แน่นอนของผลลัพธ์” ซึ่งเป็นพฤติกรรม “สินค้าเลว โฆษณาเลว” ที่นอกจากดูหมิ่นเหยียดหยามประชาชนไทยที่มีพื้นฐานโดยธรรมชาติรักเสรีภาพแล้ว ยังเป็นการ “ข่มขืนกระทำชำเรา” เสรีภาพในการเลือกของประชาชนอย่างบัดสี

อีกด้านหนึ่งของการสมคบคิดเพื่อให้ชนะประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญนั้น ยังให้ข้อมูลอีกทางหนึ่งว่า มีแผนรองรับล่วงหน้าก่อนและหลังลงประชามติในกรณีที่คาดว่าจะไม่ผ่าน คือ 1) ทำให้เกิดกรณี “ไม่มีการลงประชามติ ด้วยข้ออ้างบางประการหรือเลื่อนไปไม่มีกำหนด จนกว่าจะมั่นใจระลอกใหม่แล้ว 2) ลงประชามติไม่ผ่าน ใช้มาตราดิบเถื่อนอย่าง ม.44 ใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ผ่านไปเลย หรือเขียนรัฐธรรมนูญใหม่แล้วประกาศใช้แทน โดยอ้างความจำเป็นว่าเพื่อให้ทันการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะใช้ทางเลือกไหน ล้วนแล้วแต่โน้มนำไปสู่ความไม่แน่นอนมากขึ้นทั้งสิ้น ความเชื่ออย่างชั้นเดียวของนักลงทุนที่ว่า “ผ่านไปเถอะ ยังไงทหารก็คงอยู่ในอำนาจไปอีกนาน” เพื่อที่ว่าประเทศจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (ที่ไม่รู้ว่าคืออะไร) เสียที

นักลงทุนที่ใช้จินตนาการในการตัดสินใจแบบนี้ ไม่ต่างอะไรกับการตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นเน่าๆ หรือ “หุ้นซอมบี้” ที่ขาดทุนเละเทะ ด้วยความเชื่อว่าเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์สวยงาม… แล้วก็ไม่เรียนรู้วิธี “ตัดขาดทุน” เสียอีกด้วย

มีแต่เจ๊ง ไม่มีเจ๊า ไม่ต้องพูดถึงกำไร

Back to top button