พาราสาวะถี อรชุน
สงสัยไปอินเดียเที่ยวนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะดูหนังแขกมาเยอะ พอเดินทางมาถึงประเทศไทย จึงส่ายหน้าทันที ห้ามไม่ให้กลุ่มนปช.เปิดศูนย์ปราบโกงที่นัดหมายจะเปิดพร้อมกันทั่วประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นยืนยันหนักแน่นอยากเปิดก็เปิดไป พร้อมประกาศมองเห็นเป็นแค่อากาศธาตุ
สงสัยไปอินเดียเที่ยวนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะดูหนังแขกมาเยอะ พอเดินทางมาถึงประเทศไทย จึงส่ายหน้าทันที ห้ามไม่ให้กลุ่มนปช.เปิดศูนย์ปราบโกงที่นัดหมายจะเปิดพร้อมกันทั่วประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นยืนยันหนักแน่นอยากเปิดก็เปิดไป พร้อมประกาศมองเห็นเป็นแค่อากาศธาตุ
ผลแห่งการพลิกลิ้นดังกล่าว ย่อมสะท้อนภาพว่า รัฐบาลคสช.กลัวศูนย์ปราบโกง ไม่ใช่ว่าไม่ให้ความสำคัญเหมือนอย่างที่บรรดากระบอกเสียงทั้งหลายเที่ยวโพนทะนากันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะหากไม่ใส่ใจสนใจจริง คงไม่ทุ่มกำลังไปไล่บล็อกไล่ขู่บรรดาแกนนำที่เตรียมจะตั้งศูนย์ปราบโกงในต่างจังหวัดเหมือนที่ทำกันอยู่
มองภาพสำหรับการขยับเที่ยวนี้ของแกนนำนปช.ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ถึงแม้ศูนย์ดังกล่าวจะไม่ได้เกิด แต่อย่างน้อยก็ได้กระตุ้นให้สังคมได้เห็นแล้วว่า ผู้มีอำนาจเขาคิดอะไรอยู่กับการทำประชามติในครั้งนี้ ส่งเสริมและชูธงปราบโกงแต่กลัวศูนย์ปราบโกง มันย้อนแย้งสิ้นดี คงเหมือนอย่างที่ จตุพร พรหมพันธุ์ ว่าไว้ งานนี้ถ้าบอกว่าเป็นปลามาฮุบเหยื่อจากเบ็ดที่วางไว้ ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่กินเบ็ดเท่านั้น แต่กระโดดงับคันเบ็ดกันทีเดียวเชียวแหละ
เมื่อไม่มีศูนย์ปราบโกงมากวนใจ สิ่งที่ผู้มีอำนาจในเวลานี้จะต้องทำคือ ไม่ให้เกิดภาพของความไม่ชอบมาพากลโดยเฉพาะการชี้นำในวาระที่บรรดาครู ค ทั้งหลายจะไปปฏิบัติหน้าที่ เหมือนอย่างที่ยกตัวอย่างไว้หลายวันก่อน เกิดมีใครไปตะโกนถามวิทยากรที่ให้ความรู้มาทั้งหมดนั้น สรุปแล้วจะให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หากครู ค ที่ไปรับแนวทางมาแล้วเกิดลืมตัวบอกไปว่า “ให้รับ” เท่ากับชี้นำเห็นๆ ผิดกฎหมายประชามติเต็มๆ
หากเป็นเช่นนั้นและมีหลายเคสทั่วประเทศ สงสัยผู้มีอำนาจคงต้องใช้มาตรา 44 เป็นยาวิเศษในการที่จะไปยกเว้นความผิดให้ เพราะในมุมของคนดีจะถือเป็นการเผลอไผลไม่ได้ตั้งใจ ไม่เชื่อก็ลองดู อย่างที่รู้กันอาการแถและตะแบงเป็นคุณสมบัติชั้นเลิศอย่างหนึ่งของกลุ่มคนดี เหมือนกับที่ขาใหญ่แห่งม็อบกปปส.ทั้งหลายที่ตะแบงให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนนั่นแหละ
ยกตัวอย่างซ้ำ ถาวร เสนเนียม ที่ยอมเก็บน้ำลายที่ถ่มรดพื้นของตัวเองกลับมากิน จากที่ก่อม็อบต้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งและมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ วันนี้พูดเต็มปากเต็มคำ แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นประชาธิปไตยไม่เต็มใบก็ให้รับไปก่อน โดยอ้างอย่างน้อยก็พอจะเป็นเครื่องมือในการขจัดระบอบทักษิณได้ ถือเป็นเรื่องที่พอรับได้ในสถานการณ์นี้ เมื่อไม่สามารถได้สิ่งที่ดีที่สุดได้สิ่งที่พอใช้ได้ก็ยังดี
ที่ต้องขีดเส้นใต้คือ ต้องรับไปก่อนเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสได้มีส่วนร่วมและร่วมต่อสู้ในโอกาสข้างหน้าได้ ข้างหน้าที่จะไปต่อสู้นั้นหมายถึงอะไร หมายความว่า ถ้าหลังการเลือกตั้งแล้วพรรคเพื่อไทยยังได้เป็นรัฐบาล ม็อบป่วนเมืองจะยกเรื่องประชาธิปไตยมาล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งอีกอย่างนั้นหรือ นี่คือความลื่นไหลของคนจากพรรคการเมืองใหญ่ที่ใครต่อใครไม่อาจลอกเลียนแบบได้
เห็นท่วงทำนองการขยับอย่างนี้แล้ว ก็ทำให้นึกถึงบรรยากาศก่อนการเลือกตั้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ ถ้า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังยึดจุดยืนที่จะเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น ย่อมเกิดคำถามตามมาว่า แล้วบรรดาอดีตส.ส.ที่ลาออกไปก่อม็อบและยึดถือแนวทางที่ถือหางคณะรัฐประหารมาด้วย จะเดินไปด้วยกันอย่างไร
หากเออออห่อหมกและยอมหลิ่วตาข้าง คนอย่างอภิสิทธิ์ที่ความน่าเชื่อถือเหลือน้อยนับแต่ไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหารก็ไม่น่าจะเหลือเครดิตอะไรให้กองเชียร์พรรคเก่าแก่ที่ยึดมั่นแนวทางประชาธิปไตยได้เชื่อมั่นกันอีกต่อไป แต่หากยอมหักไม่ยอมงอ ก็เป็นปัญหาว่าแล้วจะเดินต่ออย่างไร เพราะอิทธิพลของคนชื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ ในพรรคแห่งนี้ยังคงมีอยู่เต็มเปี่ยม
คงเป็นโจทย์ใหญ่ให้คนอย่าง ชวน หลีกภัย จะต้องขบคิด เจ้าของวลียึดมั่นในระบบรัฐสภา (ซึ่งไม่น่าจะจริง) จะเห็นดีเห็นงามกับแนวทางการกอดคอเผด็จการอย่างที่เทพเทือกกำลังทำอยู่ หรือจะต่อสู้ไปตามแนวทางที่พรรคในระบอบประชาธิปไตยควรจะเดิน ถือเป็นการบ้านข้อใหญ่ แต่ถ้ามองสไตล์อิงแอบอำนาจนอกระบบมาโดยตลอดก็ไม่น่าจะตัดสินใจอะไรยาก
ความย้อนแย้งของกลุ่มโอบอุ้มรัฐประหาร ยังไม่จบแค่ความเห็นของถาวร เพราะล่าสุดเวทีเสวนาวิชาการ ร่างรัฐธรรมนูญ+ประชามติที่จัดขึ้นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลายคนได้ฟังคำอธิบายของฝ่ายโหวตเยสรับร่างรัฐธรรมนูญอย่าง ปัณณธร รัตน์ภูมิเดช จากเครือข่ายรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า น่าจะอ้าปากค้างกันเป็นแถว เพราะตรรกะของข้อดีในการรับเมื่อเทียบเคียงกับข้อเสียของตัวเองมองเห็นแล้ว มันน่าจะเป็นคำถามได้อย่างดีว่า ที่โหวตเยสนั้นใช้อารมณ์หรือเหตุผล
จุดที่เห็นว่าเป็นจุดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญนี้คือ การมีการควบคุมส.ส.เรื่องการควบคุมการทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องของการเพิ่มโทษในการตัดสิทธิ์ แต่ก็มีจุดอ่อน เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องใช้เสียงข้างมากและมีส.ว. 1 ใน 3 มาสนับสนุน ตรงนี้เกรงว่าจะมีปัญหาต่อไปหรือไม่อย่างไร ซึ่งตรงนี้ไม่น่าจะต้องตั้งเป็นคำถาม
เนื่องจากคำตอบมันอยู่ที่ความกังวลประการต่อมาของปัณณธรเอง ที่แสดงความเป็นห่วงว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยคือ เรื่องของที่มาของส.ว.ไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง เพราะเป็นการแต่งตั้ง ต้องเป็นจุดที่น่าสังเกตว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ หากร่างฉบับนี้ผ่านจะมีปัญหาระยะยาวหรือไม่ ในเมื่อส.ว. 250 คนมาจากการลากตั้งของคสช.ทั้งหมด ดังนั้น วิสัชนาที่ชัดเจนก็คือ แล้วจะมีเสียง 1 ใน 3 ของส.ว.ไปสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในภายภาคหน้าอย่างนั้นหรือ
นี่คือน้ำจิ้มของความย้อนแย้งจากคนที่สนับสนุนคณะรัฐประหารอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ความเห็นจาก รังสิมันต์ โรม นักศึกษาจากขบวนการประชาธิปไตยน่าจะเป็นเหตุเป็นผลให้คนที่ได้ชื่อว่าอาจารย์ฉุกคิดกันบ้าง การเอารัฐธรรมนูญไปโยงกับการแก้ไขทุจริตคอรัปชั่นเป็นวิธีคิดที่มีปัญหา เพราะการทุจริตไม่ได้มีเพียงในหมู่นักการเมือง แต่มีอยู่ในทุกระดับของสังคม
ดังนั้น หากประชาชนต้องการจะตรวจสอบว่ารัฐบาลมีการทุจริตหรือไม่ ก็ยิ่งต้องทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เพื่อจะทำให้ได้เห็นกระบวนการที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ดีที่สุด ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ใช่กลไกแก้ไขการทุจริต แต่เป็นสัญญาประชาคมที่ต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนทุกคน ตรงนี้ต่างหากที่เหล่าผู้สวามิภักดิ์เผด็จการยินยอมพร้อมใจกันมองข้าม โดยยกเอาเรื่องการปราบทุจริตมาอ้างแบบข้างๆ คูๆ เพราะการทุจริตแท้ที่จริงแล้วไม่ได้มีเฉพาะแวดวงการเมือง ข้าราชการและเอกชนนั่นแหละตัวดี มีเหตุการณ์อะไรบ้างเป็นตัวอย่างในปัจจุบันก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่