พาราสาวะถี อรชุน

น่าสนใจว่าผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมองกรณีนี้อย่างไร ต่อการที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ออกมาเรียกร้องให้ “พลังเงียบ” ออกมาขจัดพวกที่อันธพาลออกไปให้ได้ ถือเป็นการปลุกระดมหรือไม่ เพราะจู่ๆ ก็เรียกร้องให้คนกลุ่มหนึ่งออกมาปะทะกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ด้วยเหตุผลหรือที่จริงน่าจะเรียกว่าเป็นอารมณ์เสียมากกว่า จากความไม่พอใจที่มีคนไปไล่ตามถ่ายภาพบันทึกวิดีโอการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญของครู ก ข ค


น่าสนใจว่าผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมองกรณีนี้อย่างไร ต่อการที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ออกมาเรียกร้องให้ “พลังเงียบ” ออกมาขจัดพวกที่อันธพาลออกไปให้ได้ ถือเป็นการปลุกระดมหรือไม่ เพราะจู่ๆ ก็เรียกร้องให้คนกลุ่มหนึ่งออกมาปะทะกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ด้วยเหตุผลหรือที่จริงน่าจะเรียกว่าเป็นอารมณ์เสียมากกว่า จากความไม่พอใจที่มีคนไปไล่ตามถ่ายภาพบันทึกวิดีโอการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญของครู ก ข ค

มันก็น่าแปลก เพราะอุตส่าห์โพนทะนา การันตีมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดี มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย แล้วทำไมต้องกลัวกับการที่คนไปบันทึกภาพบันทึกเสียง หากเป็นของดีจริงไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ น่าจะดีใจเสียด้วยซ้ำไป ที่มีคนไปช่วยเป็นพยาน การออกอาการเช่นนี้ จึงเท่ากับว่า มีเจตนาไม่ดีในการชี้แจงของบรรดาวิทยากรเหล่านั้นอย่างนั้นหรือ

อาการของมีชัยเที่ยวนี้ ยิ่งเป็นการตีตราภาพของการรับใช้อำนาจเผด็จการมาอย่างยาวนาน ไม่มีวี่แววว่าจะยึดถือหรือใจกว้างตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยแม้แต่น้อย เช่นนี้จะมีใครเชื่อว่าสิ่งที่เขียนกันมานั้นมันจะเป็นประชาธิปไตย มากไปกว่านั้นยังสะท้อนภาวะอคติในจิตใจของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เป็นอย่างดี

สรุปแล้วตั้งแต่ผู้มีอำนาจเด็ดขาดไปจนถึงผู้ที่มีหน้าที่ในการเขียนกฎหมายเพื่อใช้บังคับให้ประชาชนเดินไปในทิศทางที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ต่างออกมาแสดงธาตุแท้ของความเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ นอกจากนั้น ยังทำให้คนได้เห็นว่าวางตัวเป็นกลาง เป็นกรรมการที่ดีหรือไม่อีกต่างหาก เมื่อนำพาตัวเองไปเป็นคู่ขัดแย้งเสียแล้ว ก็อย่าได้ไปคาดคั้นหรือกดดันให้คนยอมรับว่าที่เข้ามาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา เหมือนอย่างกรณีที่ท่านผู้นำอ้างว่าได้ชี้แจงต่อเลขาธิการยูเอ็นต่อประเด็นการเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญด้วยการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปทั่วประเทศ พร้อมตอกย้ำเรื่องกลุ่มคนไม่หวังดี เป็นเรื่องที่น่าจะทำให้ขายขี้หน้ามากกว่าที่เขาจะยอมรับ หรือคิดว่าคนอื่นกินหญ้าจึงจะเชื่อทุกสิ่งที่พูดมา

ถามว่าระดับบัน คี มูน จะไม่รู้เชียวหรือเวทีรับฟังความคิดเห็นที่บอกว่าทั่วประเทศนั้น แท้ที่จริงก็คือจัดกันแค่ที่ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ นครราชสีมาและที่กรุงเทพฯในครั้งแรก มิหนำซ้ำ 2 ครั้งจัดในพื้นที่ทหารถามว่ามันจะได้ภาพความเป็นประชาธิปไตยและเป็นการรับฟังที่เปิดกว้างได้อย่างไร แต่ก็พอจะเข้าใจได้ว่านี่อาจจะเป็นความเชื่อของคนที่อยู่กับแนวทางของการล้างสมองมาทั้งชีวิต

ขณะเดียวกันกับข้อกล่าวหาที่ว่ากลุ่มนปช.ไปร้องยูเอ็นเป็นการชักศึกเข้าบ้าน แล้วที่ท่านผู้นำแจ้นไปชี้แจงต่อเลขาธิการยูเอ็นจะเรียกว่าอะไร หรือจะบอกว่านั่นเป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง แล้วไหนบอกว่าไม่สนใจ ไม่แยแสต่อท่าทีของนานาชาติแล้วจะยกหูไปอธิบายกับเขาทำไม นี่คืออีกหนึ่งบทพิสูจน์ความย้อนแย้งในพฤติกรรมและคำพูดของผู้ที่อยู่ในอำนาจจากการรัฐประหาร

เรื่องข้อเรียกร้องเพื่อให้เปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในห้วงของการทำประชามตินั้น เลขาฯยูเอ็นแสดงออกอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ ขณะที่ความเคลื่อนไหวของกลุ่มทางวิชาการก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เป็นคิวของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ สมาคมเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิชาการและนักกิจกรรม

ที่ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ประชามติกับการใช้สิทธิเสรีภาพ โดยชี้ว่า ประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคมจะไม่สามารถดำเนินไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หากมาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และประกาศกกต. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งขยายความสาระของมาตราดังกล่าวยังคงอยู่ต่อไป

เนื่องจากมีข้อห้ามจำนวนมากที่ใช้ภาษากำกวมไม่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลต่อการเสนอข้อมูลและความคิดเห็นในทางสาธารณะของประชาชนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ การออกเสียงประชามติย่อมตั้งบนฐานคิดว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ผู้จัดการลงประชามติต้องมอบอำนาจตัดสินใจสุดท้ายไว้ที่ประชาชน

ดังนั้น ผู้เห็นชอบและไม่เห็นชอบในประเด็นที่จะจัดทำประชามติจะต้องได้รับโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ตามหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ รวมทั้งได้รับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี สิ่งนี้ผู้มีอำนาจได้แต่พูดตามเวทีต่างๆ แต่ยังไม่เห็นหยิบยกไปสู่ภาคปฏิบัติเลยแม้แต่น้อย

ความเห็นของ ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีต่อการเรียกร้องดังกล่าวคือ เพื่อพยายามให้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และไม่ปิดกั้นการมีส่วนร่วม รวมถึงการรณรงค์ของประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติเพราะจะไม่นำไปสู่ประชาธิปไตย

อย่างไรดี ประเด็นที่หวังจะเห็นประชาธิปไตยอันสวยงามเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ น่าจะเป็นเรื่องยาก จากสิ่งที่ผู้มีอำนาจและองคาพยพดำเนินการ มันไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่า หนทางที่จะเดินจากนี้ไปอีก 5 ปีหรือ 20 ปีมันจะเป็นเส้นทางที่ประชาชนทุกคนโดยเฉพาะตัวแทนของคนส่วนใหญ่ที่ชื่อว่านักการเมือง จะเดินโดยอิสระ

สิ่งนี้ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้ช่วยอธิบายให้เห็นภาพ โดยฉายไปยังร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยที่กลายเป็นเอกสารยืนยันอำนาจของทหารในการรัฐประหาร โดยในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 35 วางกรอบการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามหลักการของคณะรัฐประหารที่ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน ดังนั้น การลงประชามติคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญมีชัยจึงเท่ากับการคัดค้านมาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวและเป็นการคัดค้านการรัฐประหาร

ด้วยเหตุนี้จึงมีการทำทุกทางในการที่จะไม่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ โดยเปิดทางให้แค่กรธ.และพวกเดียวกันได้เดินสายชี้แจงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ แต่กลับกลายเป็นแรงกดดัน ด้านหนึ่งเกรงว่าจะทำผิดกฎหมายปิดปากเสียเอง อีกด้านคือการกลัวว่าตัวเองจะแพ้ ด้วยเหตุนี้มันจึงทำให้เนติบริกรขาใหญ่ถึงกับออกอ่าวออกทะเลมองเห็นการถ่ายภาพบันทึกเสียงการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญอันเป็นของดีกลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายไปเสียฉิบ

 

Back to top button