SUPER กับเกณฑ์ดุลยพินิจลูบคมตลาดทุน

ไม่ใช่แค่ผู้บริหารของ SUPER หรือ บริษัท ซุปเปอร์บล็อก จำกัด (มหาชน) อย่าง “จอมทรัพย์ โลจายะ” ที่กำลังงุนงง


ธนะชัย ณ นคร

 

ไม่ใช่แค่ผู้บริหารของ SUPER หรือ บริษัท ซุปเปอร์บล็อก จำกัด (มหาชน) อย่าง “จอมทรัพย์ โลจายะ” ที่กำลังงุนงง

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายคนต่างก็อยู่ในอาการมึนงงเช่นกันว่า เหตุใดหุ้น SUPER ถึงหลุด หรือพลาดการเข้าคำนวณในดัชนี SET50

หรืออย่างน้อยก็ต้องเข้าดัชนี SET100 ล่ะ

ก่อนหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) จะประกาศรายชื่อหุ้นที่เข้าออก SET50 และ SET100 ในรอบครึ่งปีหลัง หรือที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม–31ธันวาคม 2559

นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่ง ต่างมองหุ้นที่จะเข้าเกณฑ์ SET50 และ SET100 ตรงกันครับ

นั่นคือ หุ้น SUPER จะต้องเข้า SET50 แน่นอน

เพราะหุ้น SUPER เข้าตามหลักเกณฑ์ทุกข้อ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดไว้

แต่เมื่อหลุดโผแบบนี้ จึงทำให้เกิดคำถามตามมาจำนวนมาก

ส่วนตัวนั้น ผมก็คุยกับนักวิเคราะห์หลายคนที่คำนวณเรื่องนี้ได้ เพื่อขอความรู้ คำอธิบายถึงหุ้นแต่ละตัวที่ถูกถอด และนำเข้าใน SET50 และ SET100

อย่างกรณีของ JAS ก็พอได้คำตอบ เห็นเหตุผลถึงปัญหาการเทิร์นโอเวอร์ต่ำกว่าเกณฑ์ในบางช่วง

และการเทิร์นโอเวอร์นี้ เขา (ตลท.) ก็มีวิธีการคำนวณที่ลึกซึ้ง และยากเกินจะบรรยาย หรือมาเขียนอธิบายลงในหน้ากระดาษได้

 (ข้อ 4.2.6 เป็นหลักทรัพย์ที่มีจำนวนหุ้นซื้อขายไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนของหลักทรัพย์นั้นๆ ในเดือนที่มีมูลค่าซื้อขายของหลักทรัพย์ผ่านเงื่อนไขตามข้อ 4.2.5)

(ส่วนข้อ 4.2.5 ก็คือ จะต้องเป็นหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายสม่ำเสมอตามสภาพปกติของตลาด โดยมูลค่าซื้อขายของหุ้นนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50% ของมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อหลักทรัพย์ของหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญทั้งตลาดในเดือนเดียวกัน เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 9 ใน 12 เดือน

หรือไม่น้อยกว่า  3 ใน 4 สำหรับหลักทรัพย์ที่จะเข้าซื้อขายน้อยกว่า 12 เดือน แต่มากกว่า 6 เดือน

ทั้งนี้ กรณีหลักทรัพย์ที่ได้รับการคัดเลือกตามเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงรายชื่อหลักทรัพย์ระหว่างรอบ มูลค่าซื้อขายของหลักทรัพย์นั้นต้องผ่านเกณฑ์ดังกล่าวเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของระยะเวลาที่หลักทรัพย์เข้าซื้อขาย)

คอลัมน์ที่ผมเขียนเรื่อง JAS เมื่อวันก่อน จึงเขียนเพียงว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อข้างบนเท่านั้น คือ บอกแบบกว้างๆ ไป

นักวิเคราะห์คนหนึ่งบอกว่า หุ้น JAS นั้น ก็มีบรรดาผู้จัดการกองทุน จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่างๆ มาขอให้ช่วยอธิบายให้ฟังเหมือนกันว่า JAS ผิดหลักเกณฑ์ยังไง คำนวณให้ดูหน่อย

เขาก็เลยอธิบายให้ฟังถึงเกณฑ์ที่ว่านั้น

แต่ในส่วนของ SUPER เขากลับบอกว่า หาคำอธิบายไม่ได้จริงๆ

ขณะที่ในบรรดาสังคมออนไลน์ต่างๆ ก็มีเสียงเม้าท์เรื่องนี้เหมือนกัน คือ ไม่เข้าใจเกณฑ์การพิจารณา

ผู้บริหารในวงการตลาดทุนคนหนึ่งบอกว่า เหตุที่หุ้น SUPER ไม่ติด SET50 และไม่เข้า SET100 ด้วย เพราะถูกมองว่าเป็น “หุ้นปั่น”

และ “หุ้นปั่น” ที่ว่านั้น ก็มาจาก “ดุลยพินิจ”

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า เหตุที่หุ้น SUPER ไม่ติดทั้ง SET50 และ SET100 มาจากการใช้ดุลยพินิจ

มาถึงตรงนี้ ผมก็เลยเข้าไปดู หลักเกณฑ์การจัดทำดัชนี ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เปิดเข้าไปยังหน้า 9 เริ่มที่ข้อ 4 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การคัดเลือกหลักทรัพย์สำหรับดัชนี SET50 ดัชนี SET100 และดัชนี SETHD

ในข้อ 4 นั้น ก็มีข้อ 4 ย่อย และย่อยอีกเยอะแยะ ไปจนถึงหน้า 13 อ่านแล้วก็เวียนหัว

ทว่า ก็ยังไม่พบข้อไหนว่าให้มีการใช้เกณฑ์ดุลยพินิจ

ส่วนตัวผมก็พยายามหาคำตอบ หาข้อมูล เพราะอยากได้เป็นความรู้ติดตัวไว้ แต่ก็หาไม่ได้กับเกณฑ์จริงๆ ที่นำมาใช้กับ SUPER

ผ่านมาถึงตรงนี้ ทำให้มองไปว่า ในระยะหลังนั้นรู้สึกว่า มีหลายกรณีที่ทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้ดุลยพินิจมากเกินไปหรือไม่

อย่างกรณีของหุ้นที่เข้าข่าย “หุ้นร้อน” ที่ประกาศออกมาเป็นรายวัน และรายสัปดาห์ บางหุ้นก็ใช้เกณฑ์ดุลยพินิจ

เช่น หุ้น SOLAR ก่อนหน้านี้ โบรกฯ หลายสำนักต่างดีดลูกคิดออกมาค่อนข้างบ่อยว่า ติดแคชบาลานซ์แน่นอน เพราะเงื่อนไขมันเข้าหมด

แต่ก็กลับไม่ได้ติดซะอย่างนั้น

กระทั่งบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์บางแห่ง ถึงกับเขียนว่า ตลท.มีการใช้ “ดุลยพินิจ” ประกอบด้วย

ล่าสุดหุ้น SOLAR ก็ติดแคชบาลานซ์ (13 มิ.ย.–22 ก.ค. 59) หลังเกิดธุรกรรมบางอย่างก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน

ดุลยพินิจ บางครั้งก็อาจดูเหมาะสม

แต่จะต้องไม่ถูกมองว่า ใช้สองมาตรฐานหรือไม่

 

 หมายเหตุ : กรณีเกณฑ์ดัชนี SET50 ดัชนี SET100 ตามข้อ 4.2.5 และข้อ 4.2.6 ที่ทำให้ JAS หลุดการเข้าคำนวณฯ ถือเป็นเกณฑ์ที่ทำให้หุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่หลายตัว พลาดในการติด SET50 และ SET100

 

 

 

Back to top button