พาราสาวะถี อรชุน
วันนี้ครบรอบ 84 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศยังคงอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลรัฐประหาร การเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะสตรีผู้ซึ่งเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับพม่ามาอย่างยาวนานจนนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในวันนี้ เมื่อเผชิญหน้ากับหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จะพูดจาภาษาเดียวกันเข้าใจหรือไม่
วันนี้ครบรอบ 84 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศยังคงอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลรัฐประหาร การเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะสตรีผู้ซึ่งเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับพม่ามาอย่างยาวนานจนนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในวันนี้ เมื่อเผชิญหน้ากับหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จะพูดจาภาษาเดียวกันเข้าใจหรือไม่
แต่คงไม่ใช่สาระหลัก เพราะด้วยมารยาททางการทูตแล้วทุกอย่างต้องว่ากันไปตามกรอบ หากมองเป้าหมายที่แท้จริงของซูจีแล้วไม่ได้อยู่ที่การหารือกับผู้นำรัฐประหารของไทย แต่ใจเขาอยู่ที่การได้พบปะกับแรงงานพม่าที่จังหวัดสมุทรสาครและได้เจอกับกะเหรี่ยงอพยพที่จังหวัดราชบุรีต่างหาก เนื่องจากคนเหล่านี้คือพี่น้องร่วมชาติที่จำเป็นจะต้องรับรู้สถานการณ์และชะตากรรมที่มาดิ้นรนอยู่ในประเทศไทย
หากพูดได้หรือฝ่ายไทยจะเรียนรู้น่าจะมีอยู่ประการเดียวคือ การเดินตามโรดแมปประชาธิปไตยของพม่าที่ต้องอาศัยเวลายาวนานอยู่ไม่น้อย ทำอย่างไรถึงได้ประสบความสำเร็จจนมีรัฐบาลพลเรือนได้ อะไรที่รัฐบาลทหารพม่ายังคงวางยามาถึงปัจจุบันและรัฐบาลใหม่จะต้องตามล้างตามเช็ด ส่วนประเภทปากบอกประชาธิปไตยแต่วิธีที่ใช้เป็นเผด็จการอย่าได้นำไปอวดอ้างให้อับอายเขาเปล่าๆ ปรี้ๆ
กรณีการไปแจ้งความเอาผิด 19 แกนนำนปช.ด้วยข้อหาชุมนุมกันเกิน 5 คนจากการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติเมื่อ 5 มิถุนายนนั้น จตุพร พรหมพันธุ์ ตอบโต้กลับล่าสุด ความจริงผู้มีอำนาจมุ่งหวังเล่นงานกรณีเปิดศูนย์ปราบโกงเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนแต่ทำไม่ได้ จึงถอยหลังไปเอาเหตุการณ์วันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังขา มันจะผิดได้อย่างไรในเมื่อหัวหน้าคสช.บอกว่าสามารถทำได้
ด้วยเหตุนี้การแจ้งความจึงแสดงถึงนิสัยลอบกัด เป็นทหารไร้เกียรติยศ และสงสัยว่าไป พันเอกบุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของคสช.ไปแจ้งเองหรือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้ไปแจ้งความกันแน่ แต่การเล่นงานคนอื่นแบบนี้ ไม่มีเกียรติของผู้นำทางทหารแม้แต่น้อย ตนต้องการคู่ต่อสู้ที่มีเกียรติ แต่ประเภทเล่นงานวันที่ 19 มิถุนายนไม่ได้แล้วถอยไปวันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งวันนั้นผู้นำคสช.ไม่มีใครบอกว่าทำไม่ได้ถือว่าไม่มีศักดิ์ศรี
อย่างที่บอกการเดินเกมในลักษณะนี้ เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่แค่ต้องการจะสั่งสอนไม่ให้แกนนำนปช.กล้าหือเท่านั้น เพราะนั่นมันแค่เกมเด็กๆ จุดประสงค์หลักคงอยู่ที่การถอนประกันตัวแกนนำหลายรายที่มีคดีก่อการร้ายติดตัว แน่นอนว่าเห็นผลทันควันเพราะมี บุญยอด สุขถิ่นไทย จากค่ายประชาธิปัตย์ออกมาเรียกร้องให้ศาลดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
คงไม่หยุดอยู่แค่บุญยอดเพียงรายเดียวจะต้องมีอีกหลายคนที่ออกมาเรียกร้องในลักษณะเช่นนี้ แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องดุลพินิจของศาล หากใครเรียกร้องมากๆ อาจเข้าข่ายไปก้าวล่วงหรือละเมิดอำนาจศาลได้ เว้นเสียแต่จะมีคนอย่างพุทธะอิสระไปยื่นร้องต่ออัยการเพื่อให้ดำเนินการถอนประกันตัว แต่ก็อีกนั่นแหละแค่เห็นหน้าคนที่ไปเคลื่อนไหวก็รู้แล้วว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แล้วประเทศมันจะเดินหน้าต่อไปยังไง
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ผู้มีอำนาจกำลังเล่นงานฝ่ายประชาธิปไตย อีกด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่วิดีโอคลิปและบทวิเคราะห์ 2 ปีรัฐประหาร “พรางอำนาจปืนในรูปกระบวนการยุติธรรม” โดยระบุว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนภายหลังรัฐประหารสำเร็จ กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ถูกชี้นำบงการโดยคสช.และฝ่ายทหาร
เป็นเครื่องมือที่ช่วยปรับภาพลักษณ์ให้กับการใช้อำนาจของคสช. ทำให้ภาพการปกครองของคสช.เป็นการปกครองโดยกฎหมายหรือนิติรัฐในทางรูปแบบ แต่หากพิเคราะห์ในทางเนื้อหาของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมดังกล่าว รวมทั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราว จะพบความบิดเบือนหลักการและความบกพร่องของกระบวนการหลายประการ
ที่ทำให้เห็นว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีสถานะเป็นเพียงส่วนประกอบของกลไกการกดบังคับที่ คสช. ใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน โดยขณะนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 86 คดี รวมผู้ต้องหาหรือจำเลยจำนวน 119 คน
นอกจากนี้ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ยังมีผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของคสช.อีกเป็นจำนวนมาก โดยนับตั้งแต่มีการรัฐประหารจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2559 ทหารเรียกบุคคลมารายงานตัวหรือเรียกไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร อย่างน้อยจำนวน 1,006 คน เจ้าหน้าที่แทรกแซงหรือปิดกั้นไม่ให้มีงานเสวนาหรือกิจกรรมสาธารณะเกิดขึ้นอย่างน้อยจำนวน 130 งาน และมีการจับกุมควบคุมตัวบุคคลภายใต้กฎอัยการศึกและคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 อย่างน้อย 579 คน
นอกจากนี้กลไกการใช้อำนาจของคสช.ในฐานะที่เป็นทั้งเครื่องมือสำคัญในการควบคุมและรองรับอำนาจการปกครอง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดบังคับการแสดงออกทางการเมืองทุกประเภท และทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการใช้อำนาจของคสช.และเจ้าหน้าที่ทหารดำเนินไปอย่างเป็นระบบ โดยสามารถแบ่งกลไกเหล่านี้ออกเป็น 4 ประการหลักๆ ได้แก่
การเรียกบุคคลรายงานตัวและการจับตาสอดส่องโดยรัฐ การสร้างกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ชี้นำโดยทหาร การใช้กฎหมายปกติและกฎหมายพิเศษเป็นเครื่องมือปราบปรามทางการเมือง และ การใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 รองรับการใช้อำนาจให้ปราศจากการรับผิด ดังนั้น จึงเรียกร้องให้คสช.ยกเลิกและยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ยกเลิกและยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 และคืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว จัดให้มีการเลือกตั้งและมีการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากประชาชน
หากมีความมุ่งหวังที่จะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยและทำให้ประชาชนปรองดองสมานฉันท์กันจริง ท่านผู้นำต้องอาศัยจังหวะที่ออง ซาน ซูจี เดินทางมาเยือนนี่แหละ ขอคำแนะนำและเรียนรู้กระบวนการ โดยสิ่งใดที่ยังเป็นการวางกับดักของรัฐบาลทหารในพม่าก็อย่าได้นำมาใช้กับประเทศไทย เชื่อแน่ว่าน่าจะได้ประโยชน์จากการเดินทางมาครั้งนี้มหาศาล เบื้องต้นงานแรกที่จะเป็นบทพิสูจน์คือการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่อย่าให้ใครมาดูแคลนได้ว่าระวังจะอายพม่า