ปรากฏการณ์อาฟเตอร์ช็อกพลวัต 2016

ถึงแม้ชาวโลก และนักลงทุนนอกเกาะอังกฤษ จะประเมินอาการป่วยทางจิตของคนอังกฤษต่ำเกินไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่คนอังกฤษเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ประเมินชาวโลกต่ำเกินไปเช่นเดียวกันว่า การที่จะดึงกติกาของกระแสโลกาภิวัตน์ให้ถอยหลังเข้าคลองเพื่อผลประโยชน์ที่ "ได้ถือว่าดี เสียถือว่าเป็นภาระ" นั้น มันยุ่งยากกว่าที่คาด


ถึงแม้ชาวโลก และนักลงทุนนอกเกาะอังกฤษ จะประเมินอาการป่วยทางจิตของคนอังกฤษต่ำเกินไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่คนอังกฤษเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ประเมินชาวโลกต่ำเกินไปเช่นเดียวกันว่า การที่จะดึงกติกาของกระแสโลกาภิวัตน์ให้ถอยหลังเข้าคลองเพื่อผลประโยชน์ที่ “ได้ถือว่าดี เสียถือว่าเป็นภาระ” นั้น มันยุ่งยากกว่าที่คาด

ปฏิกิริยาที่มีต่อตลาดเก็งกำไรทั่วโลก นับแต่ตลาดหุ้นที่ถล่มทลายหนักในโตเกียว มิลาน  และนิวยอร์ก ตามมาด้วยราคาน้ำมันดิบร่วงแรงในระดับเดียวกัน และ ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงดิ่งเหวเกือบ 10% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่พุ่งสูงลิ่วในวันเดียว และราคาทองคำที่พุ่งสูงเกือบ 60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ คือมุมมองที่สะท้อนกลับของโลกต่อการตัดสินใจของอังกฤษ

ปฏิกิริยาเฉพาะหน้าดังกล่าว ยังจะต้องมีผลพวงตามมาแน่นอน ท่าทีแรกสุดจากรัฐสภายุโรปในทางลบต่ออังกฤษ และการประกาศปรับมุมมองของ Moody’s Investor Services ต่อตราสารหนี้ของอังกฤษจากระดับเสถียรภาพสู่ระดับเชิงลบ พร้อมคำเตือนว่าหากปัจจัยลบ 3 ประการของอังกฤษหลังจากการถอนตัวจากสหภาพยุโรปไม่ได้รับการแก้ไข อาจจะปรับลดระดับการประเมินลงไปอีก

แน่นอนสำหรับคนอังกฤษที่เชื่อว่าได้รับชัยชนะจากการลงประชามติ พวกเขาคงจะเชื่อว่านี่คือคำขู่ที่มาจากภายนอก ที่จะเป็นแรงขับให้คนอังกฤษมีเอกภาพกันมากขึ้นในการฝ่าฟันความยากลำบากไปได้ จากการสร้างพันธมิตรใหม่กับจีน หรือ รัสเซีย หรือ สหรัฐฯ โดยลดการพึ่งพาหรือผูกขาติดกันแบบคนในสหภาพยุโรป 

ไม่ว่าจะมีคำอธิบายตามหลังอย่างไร ประวัติศาสตร์ที่ไม่หวนคืนครั้งสำคัญของอังกฤษกับยุโรปทั้งที่เป็นสหภาพยุโรปและอื่นๆ จะต้องเกิดปรากฏการณ์ “อาฟเตอร์ช็อก” ระหว่างอังกฤษกับทั้งโลกในระยะยาวอย่างไม่ต้องสงสัย

ยิ่งกว่านั้น ความสัมพันธ์ของชาวโลกที่มีต่อกันก็อาจจะไม่เหมือนเดิมอีก เพราะผลสะเทือนครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่จะลุกลามบานปลายเป็นหางว่าวตามมาอีกหลายขยัก

ปรากฏการณ์ “ถอนตัวหาอิสรภาพตนเอง” ของอังกฤษครั้งนี้ ทำให้หลายคนหวนย้อนไปถึงสภาพจิตที่ป่วยหนักรุนแรงของคนอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งแรกที่แสดงออกในนวนิยายระดับคลาสสิก Mrs.Dalloway ของนักเขียนดัง เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เมื่อดินแดนพระอาทิตย์ไม่เคยตกดินที่ยิ่งใหญ่มานานกว่า 200 ปีต้องสั่นคลอนรุนแรงจากปัญหาที่ล้วนเป็นภาระและต้นทุนมากเกินของอดีต เพียงรายละเอียดในครั้งนี้ ต่างจากสถานการณ์ของยุคเก่าเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนอย่างมาก

ครั้งนั้น อังกฤษใช้งบประมาณทางทหารจนเกินเลยในการทำลายอำนาจของไกเซอร์แห่งเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี จนกระทั่งจำต้องยกเลิกมาตรฐานทองคำที่ใช้มายาวนานกว่า 200 ปี ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และจำยอมปล่อยอาณานิคมบางส่วนเป็นอิสระ แต่ยังไม่หมด 

ปัจจุบัน อังกฤษไม่มีฐานะเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกอีกต่อไป แต่ยังคงเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกต่อไปจาก “บุญเก่า” ที่ยังหลงเหลืออยู่  การตัดสินใจ ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปทำให้เกิดคำถามว่า แล้วอังกฤษจะยังเหลืออะไรที่มากกว่าอหังการมมังการของอดีต

จริงอยู่การถอนตัวของอังกฤษอาจจะทำให้สหภาพยุโรปสั่นคลอนรุนแรง แต่ประวัติศาสตร์ของสหภาพยุโรปที่เกิดจากการตรึกตรองถึง “ความจำเป็นทางอุดมการณ์ และผลประโยชน์” ของยุโรปตะวันตกและกลางทั้งมวลที่เรียกหาเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย ยังจะไม่สูญหายไปง่ายๆ

การลงทุน การเงิน และความสามารถในการแข่งขัน แต่นั่นเป็นการประเมินจากแง่มุมของเศรษฐกิจอย่างเดียว ไม่ได้พิจารณามุมของภูมิศาสตร์การเมืองที่จะเปลี่ยนไปอย่างมาก และอาจจะส่งผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงอื่นๆอีก

ในระยะสั้น ความผันผวนของตลาดเก็งกำไรทั่วโลกนับแต่วันศุกร์มา ถือว่าเพิ่งจะเริ่มต้น เป็นเพียงแค่ปฏิกิริยา “เข่ากระตุก” ธรรมดา  และส่งผลลึกต่ออัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ราคาหุ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หรือตราสารหนี้ทุกชนิด โดยมีทั้งบวกหรือลบคละเคล้ากัน แต่นั่นยังไม่รวมถึงผลพวงอื่นที่จะติดตามมาอีกมากมาย

เริ่มแรกสุดที่ต้องจับตามากเป็นพิเศษในสัปดาห์นี้คือ ค่าของเงินเยน ที่จะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก

ท่ามกลางความอลหม่านเมื่อวันศุกร์ ค่าเงินเยนที่แข็งรุนแรงมาที่ระดับ 102 เยนต่อดอลลาร์ เป็นสิ่งที่ต้องจับตามากที่สุดว่าในสัปดาห์นี้จะมีโอกาสหลุดไปใต้ 100 เยนต่อดอลลาร์หรือไม่ ซึ่งดังที่ทราบกันดีว่า ถ้าหลุดไปจริงจะเกิดมหาโลกาวินาศครั้งใหญ่ 

เหตุผลก็คือ เป็นไปไม่ได้เลยที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะนิ่งเฉยปล่อยให้ค่าเงินเยนแข็งตามยถากรรม ดังนั้น จะต้องทุ่มเงินออกมาก้อนใหญ่เข้าซื้อดอลลาร์สกัดการแข็งค่าของเยนให้ได้ ในทุกระดับต้นทุน 

การแทรกแซงตลาดเงินเยนของธนาคารกลางญี่ปุ่น จะกลายเป็นสงครามที่ประกาศทางการเงินของตลาดค่าเงินระลอกใหม่ได้ และความเป็นไปได้ก็สูงไม่น้อย

ใครที่เคยประเมินต่ำต่อ  อาการป่วยทางจิตของคนอังกฤษที่กำเริบ จนเกิดผลเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คงต้องทบทวนท่าทีเสียใหม่ว่าอาจจะต้อง “ตั้งการ์ดสูง” สำหรับการประเมินความไม่แน่นอนในอนาคต เพราะผลข้างเคียงของปรากฏการณ์ “อาฟเตอร์ช็อก” นี้ ยังจะส่งผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจโลกและเงินในกระเป๋านักลงทุนอีกยาวไกลทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ

ในปี 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในไทย แล้วลุกลามไปทั่วอาเซียน ต่อไปยังเกาหลีใต้ อาร์เจนตินา บราซิล และรัสเซีย ปี 2559 นี้ เกิดวิกฤติจากเริ่มต้นในอังกฤษ ส่วนจะลุกลามไปที่ไหนต่อ ยังไม่มีใครรู้

 

 

Back to top button