พาราสาวะถี อรชุน

สะท้อนภาพของแกนนำและแนวร่วมม็อบกปปส.ได้เป็นอย่างดีว่า คิดอะไรกันอยู่ จากความเกลียดระบอบทักษิณที่เป็นทุนเดิม สุดโต่งเลยเถิดไปถึงขั้นรังเกียจประชาธิปไตยไปกันอย่างนั้นเลยหรือ แต่ถ้อยแถลงของ เหรียญทอง แน่นหนา ที่มียศทางทหารเป็นพลตรีนายแพทย์กล่าวถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ว่าเป็นวันขยะแผ่นดิน


สะท้อนภาพของแกนนำและแนวร่วมม็อบกปปส.ได้เป็นอย่างดีว่า คิดอะไรกันอยู่ จากความเกลียดระบอบทักษิณที่เป็นทุนเดิม สุดโต่งเลยเถิดไปถึงขั้นรังเกียจประชาธิปไตยไปกันอย่างนั้นเลยหรือ แต่ถ้อยแถลงของ เหรียญทอง แน่นหนา ที่มียศทางทหารเป็นพลตรีนายแพทย์กล่าวถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ว่าเป็นวันขยะแผ่นดิน

คล้อยหลังจากนั้น สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของนามปากกาสิงห์สนามหลวง ก็ออกมาตอบโต้ท่าทีดังกล่าวของเหรียญทอง โดยระบุว่า ภูมิใจในความเป็นไพร่ ยินดีและยกย่องการเปลี่ยนแปลง 24 มิถุนายนจนถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคตอีกไม่รู้จบ ทั้งตนเองยังเกิดวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ขณะที่พ่อก็เป็นทหารหมอสัญญาบัตรรุ่นบุกเบิกของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

โดยที่พ่อของสุชาติก็ภูมิใจต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าว ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุด ฐิติ ชัยนาม หลาน ดิเรก ชัยนาม สมาชิกคณะราษฎร สายพลเรือน ลำดับที่ 21 ที่ร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน ให้สัมภาษณ์ถึงเหรียญทองว่า การโพสต์ข้อความในลักษณะดังกล่าว เป็นการทำลายเกียรติและศักดิ์ศรีของคณะราษฎรอย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่ได้เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ประชาชนไทยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง

คณะราษฎรเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกในการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยไม่สูญเสียเลือดเนื้อและชีวิต และข้อกล่าวหาว่า คณะราษฎรคิดจะกำจัดสถาบันกษัตริย์ก็ไม่เป็นความจริง เพราะถ้าเป็นจริงคงจะกำจัดไปนานแล้ว แต่คณะราษฎรต้องการให้คงสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายเท่านั้น ซึ่งหากเหรียญทองไม่หยุดทำลายชื่อเสียงของคณะราษฎร ทายาทของคณะราษฎรจะดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายต่อไป

คงไม่ต้องไปถอดรหัสอะไรกับคนพรรค์นี้ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เลือกใช้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันถ่ายทอดสดการแสดงจุดยืนรับร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนจะใช้เวลากว่า 9 นาทีแสดงความชื่นชมบทปรารภของร่างรัฐธรรมนูญที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ และชาวคณะเขียนขึ้นได้อย่างตรงใจและตรงความต้องการของม็อบกปปส.

ที่หลายคนอดจะแสดงความไม่พอใจต่อการเลือกใช้วันดังกล่าวของเทพเทือกก็คือ หากมองไปยังจุดยึดโยงที่จะอ้างความเป็นผู้ถือหลักการประชาธิปไตยแล้ว แทบจะมองไม่เห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์อันเป็นต้นสังกัดเก่าของสุเทพ ที่ปากบอกว่ายึดหลักการประชาธิปไตย ยึดมั่นในระบบรัฐสภา ทว่าการเดินเกมทางการเมืองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น เล่นบทอีแอบมาโดยตลอด

มากไปกว่านั้น หากจะมองไปถึงวันอภิวัฒน์สยาม โดยมีแกนหลักของคณะราษฎรคนสำคัญอย่าง ปรีดี พนมยงค์ เป็นมือไม้ในการเคลื่อนงานนั้น พรรคเก่าแก่แห่งนี้นี่เองที่เป็นผู้สร้างตราบาปให้กับรัฐบุรุษอาวุโส ด้วยการให้คนไปตะโกนในโรงหนัง ในข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงเป็นอย่างยิ่ง แล้วเช่นนี้เทพเทือกที่ไปยกเอาแนวคิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ของปรีดีมาเป็นแนวทางในการเคลื่อนไหวของม็อบกปปส. ยังจะมีหน้าภาคภูมิใจอีกหรือ

แต่ก็อีกนั่นแหละ ประสาคนพรรคการเมืองแห่งนี้เรื่องลีลา การติ๊ดชึ่งนั้นไม่มีใครเทียบได้ เหมือนดังเช่น วัชระ เพชรทอง ที่ออกมาแสดงจุดยืนส่วนตัวประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยพร้อมคำถามพ่วง โดยยกเอาอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2489 ว่า พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิถีแห่งเผด็จการ ถ้าใครลืมอุดมการณ์นี้ก็ไม่ใช่ประชาธิปัตย์

ฟังดูแล้วสวยหรู รวมทั้งข้อความที่ว่า ตัวเองและแกนนำกปปส.อย่างเทพเทือกหรือแม้กระทั่ง ถาวร เสนเนียม จุดยืนแตกต่างกัน แม้จะมาจากขบวนรถไฟสายใต้เหมือนกัน แต่ยึดหลักการพรรค และพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่สาขาของกปปส. ฟังแล้วดูดีทีเดียว แต่มาตายตอนจบที่รีบออกตัวว่า แต่ก็เคารพ ความคิดเห็นทางการเมืองของแต่ละคน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคำถามที่ว่าหากคสช.ให้พรรคการเมืองจัดประชุมได้ เชื่อว่าท่าทีของพรรคจะชัดเจนขึ้น และยืนยันว่าไม่ใช่เสียงในพรรคแตก แต่เป็นเสรีภาพในพรรคที่หลากหลาย ออกลูกไม้เดิมๆ แบบนี้ มันสะท้อนของอาการแทงกั๊กซึ่งพรรคการเมืองนี้ใช้เป็นสูตรสำเร็จ เหมือนอย่างที่บางคนมองว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างต่อรองอะไรกันหรือเปล่า

เพราะเอาเข้าจริงหากเป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และยิ่งเป็นพรรคที่บอกว่ามีระบบแข็งแรง ไม่ใช่พรรคการเมืองของใครคนใดคนหนึ่ง จุดยืนเรื่องการไม่สังฆกรรมกับเผด็จการนั้นควรต้องชัดเจนและเข้มแข็ง แตกต่างจากพรรคเพื่อไทยที่ถูกมองว่าเป็นพรรคของนายทุน ทุกคนต่างประกาศเป็นเสียงเดียวกัน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ปาฐกถาของ วรรณภา ติระสังขะ จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เนื่องในโอกาส 84 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมาน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง การสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวคิดของปรีดี จำเป็นต้องมีการออกแบบโครงสร้างและสถาบันทางการเมืองที่สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย

จุดใหญ่ใจความอยู่ที่การมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศทั้งในทางนิตินัยและพฤตินัย และคุณค่าของรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องมุ่งสถาปนาความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชน รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รัฐสภา รัฐบาล องค์กรตุลาการ องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม ให้มีความสอดคล้องเหมาะสม

ต้องมีระบบกฎหมายภายใต้หลักนิติรัฐ เพื่อให้ทุกองคาพยพในสังคมการเมืองถูกตรวจสอบ ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้โครงสร้างอำนาจรัฐได้สัดส่วนและได้ดุลยภาพเป็นเบื้องต้น บทสรุปของวรรณภาก็คือ เราทุกคนล้วนเป็น “คำตอบ” ที่เป็น “ความหวัง” ที่ทำให้สังคมที่เป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทย แต่ดูเหมือนว่าผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและกลุ่มคนดีที่มีบทบาทในเวลานี้จะไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะรวบทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในกำมือ โดยเชื่อว่าด้วยมือของพวกตัวเองเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น

Back to top button