TMB ยังมี ‘บุญทักษ์’ลูบคมตลาดทุน
วานนี้ (27 มิ.ย.) ราคาหุ้นแบงก์ทหารไทย หรือ TMB ปิดตลาดปรับตัวขึ้นมาถึง 0.14 บาท ปิดที่ 2.22 บาท เปลี่ยนแปลง 6.73% สูงสุดในรอบเกือบ 10 วันทำการ
ธนะชัย ณ นคร
วานนี้ (27 มิ.ย.) ราคาหุ้นแบงก์ทหารไทย หรือ TMB ปิดตลาดปรับตัวขึ้นมาถึง 0.14 บาท ปิดที่ 2.22 บาท เปลี่ยนแปลง 6.73% สูงสุดในรอบเกือบ 10 วันทำการ
เหตุที่ราคาปรับขึ้น มาจากปัจจัยเดียวเลยครับ
นั่นคือ ข่าวคณะกรรมการ หรือบอร์ดของแบงก์ทีเอ็มบีเกลี้ยกล่อม “บุญทักษ์ หวังเจริญ” ให้รั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารต่อไปอีก 2 ปี
และคุณบุญทักษ์ ก็ตอบตกลง
แม้ว่าก่อนหน้านี้เจ้าตัวจะเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จะวางมือแล้ว หลังอยู่ในตำแหน่งมา 2 สมัย หรือเป็นเวลา 8 ปี นับจากกลางปี 2551
จริงๆ แล้ว ทีเอ็มบีเริ่มการสรรหาซีอีโอคนใหม่ มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 2559 เป็นต้นมา
แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีบุคคลเหมาะสม
ประกอบกับภารกิจที่คุณบุญทักษ์ วางเอาไว้ หากให้คนใหม่เข้ามาสานต่อ ก็อาจเกิดการสะดุด และทำให้เกิดการเจรจากับซีอีโอคนเดิม แล้วก็ประสบความสำเร็จ
นักลงทุนตอบรับดีมากกับข่าวดังกล่าว
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์เองก็เช่นกัน ต่างตอบรับกับข่าวนี้ และบอกว่า เป็นปัจจัยเชิงบวกกับหุ้นทีเอ็มบี
ก่อนหน้านี้ ราคาหุ้นทีเอ็มบี ปรับตัวลงต่อเนื่อง และทำท่าว่าอาจจะหลุดที่ระดับ 2 บาท จากปัจจัยเรื่องคุณบุญทักษ์ และแนวโน้มผลประกอบการของทีเอ็มบีที่ยังต้องจับตาสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอี
แม้นักวิเคราะห์จะบอกว่า ประเด็นเรื่องคุณบุญทักษ์ หากมีซีอีโอคนใหม่ พื้นฐานทีเอ็มบีก็ไม่น่าเปลี่ยน
นั่นเพราะทีเอ็มบี ถูกสร้างพื้นฐานมาอย่างดี และไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นซีอีโอคนใหม่ ก็จะไม่กระทบกับการบริหารงานของธนาคาร
แต่กรณีนี้ จะเห็นว่า ความมั่นใจต่อเรื่องตัวบุคคลนั้นสำคัญจริงๆ
หากย้อนกลับไป เราจะพบว่าบุญทักษ์ เป็นบุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของทีเอ็มบี
เพราะหลังจากได้รับตำแหน่งมาตั้งแต่เดือน ก.ค. ปี 2551 ทำให้ TMB มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง
ทางด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2551 ถึงสิ้นปี 2558 ถึง 36.1% หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 5.2%
และยังมีการระดมเงินฝากเข้ามาอย่างได้ผล โดยทีเอ็มบีมีเงินฝากประเภทใหม่ๆ เช่น เงินฝากไม่ประจำ และ Me by TMB และทำให้เงินฝากเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2551 ถึงสิ้นปี 2558 ถึง 43.2%
หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6.2%
เท่านั้นยังไม่พอครับ
ทีเอ็มบี ยังสามารถลดระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL จาก 7 หมื่นล้านบาท เหลือ 2 หมื่นล้านบาท
หรือลดจาก 14.3% ในปี 2551 เหลือเพียง 3% ณ สิ้นปี 2558
และจากการลดระดับ NPL ลงได้อย่างมาก รวมถึงการปรับโครงสร้างสินเชื่อ ด้วยการหันมาเน้นปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี กับสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ฐานสินเชื่อส่วนใหญ่ของ TMB เป็นสินเชื่อขนาดใหญ่ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ
นั่นทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของ TMB เพิ่มขึ้นจาก 1.8% ในปี 2551 มาเป็น 3% ณ สิ้นปี 2558
ด้านความสามารถในการทำกำไรของทีเอ็มบีก็ดีขึ้นอย่างมากเช่นกัน
จากที่มีกำไรสุทธิเพียง 424 ล้านบาทในปี 2551 เพิ่มขึ้นมาเป็น 9.3 พันล้านบาท ในปี 2558
และทำให้ตัวเลข ROE เพิ่มขึ้นจาก 0.95% ในปี 2551 เพิ่มขึ้นมาเป็น 12.8% ในปี 2558
ทำให้สัดส่วนสำรองต่อ NPL หรือ Coverage Ratio ที่มีอยู่เพียง 65.8% ณ สิ้นปี 2551 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 141.8% ณ สิ้นปี 2558 ซึ่งเป็นระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารที่อยู่ที่ 123%
และนั่นทำให้ในวันนี้ของทีเอ็มบี ยังคงมีชื่อคุณบุญทักษ์ เป็นซีอีโอ อีกต่อไป
แม้จะเป็นเวลาเพียง 2 ปีก็ตาม