พาราสาวะถี อรชุน
วันนี้ได้รู้กันสิ่งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 61 วรรคสองของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ขัดต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 หรือไม่ ผลที่ออกมาจะสะเทือนต่อกระบวนการทำประชามติ หรือไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่ถ้าให้อ่านใจ ไม่น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน
วันนี้ได้รู้กันสิ่งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 61 วรรคสองของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ขัดต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 หรือไม่ ผลที่ออกมาจะสะเทือนต่อกระบวนการทำประชามติ หรือไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่ถ้าให้อ่านใจ ไม่น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน
ส่วนที่ท่านผู้นำเคยบอกไว้หากศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วทำให้มาตราและวรรคดังว่ามีปัญหา อาจจะส่งผลต่อการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ฟังมาแล้วให้มันผ่านไป เพราะหลายๆ เรื่องบางครั้งท่านก็พูดไปด้วยเสียงและอารมณ์ที่เร็วกว่าความเป็นจริงที่ควรจะเดิน ดังนั้น เมื่อท่านได้คิดแล้วเมื่อไปถามซ้ำจึงได้รับคำตอบเหมือนหนังคนละม้วนอยู่หลายหน
แต่เรื่องนี้ไม่ต้องคิดเพราะรู้คำตอบอยู่แล้ว นั่นก็คือ ความรับผิดชอบหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ เหมือนอย่างที่ เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศลาออกหลังจากประชาชนเมืองผู้ดีเสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้อังกฤษออกจากความเป็นสมาชิกของยูโร เพราะท่านผู้นำไทยแลนด์ยืนยันว่า กติกานี้ผมเป็นคนกำหนดเองและที่มาของการขึ้นสู่ตำแหน่งก็แตกต่างกัน
ความเป็นจริงไม่ต้องสืบเพราะมันเป็นเช่นนั้น ยิ่งกระบวนการทำประชามติด้วยแล้ว แตกต่างกันลิบลับที่เมืองผู้ดีเปิดโอกาสให้ฝ่ายหนุนและฝ่ายค้านทั้งลีฟและรีเมนได้แสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่ ขณะที่ประเทศไทยมีกฎหมายปิดปาก ไม่ว่ารับหรือไม่รับห้ามแสดงความเห็น เว้นเสียแต่คนร่างรัฐธรรมนูญและผู้ที่ได้รับอนุญาตให้พูดถึงข้อดีของกฎหมายสูงสุดฉบับมีชัยเท่านั้น
เมื่อกติกาเป็นอย่างนี้ เมื่อเป็นคนขีดเส้นให้ทุกคนที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ต้องเดิน แล้วจะมาเรียกร้องถามหาความรับผิดชอบทำไม เรื่องนี้เลยกลายเป็นการทำให้ท่านผู้นำขัดเคือง ควันออกหูในทันทีทันใด จะให้รับผิดชอบอย่างไรก็ท่านบอกไว้แล้ว ผ่านหรือไม่ผ่านก็ต้องเลือกตั้งปีหน้า ขณะที่คนที่เขียนรัฐธรรมนูญก็ขู่ไว้แล้ว ถ้าฉบับนี้ไม่ผ่านจะเจอที่โหดหินยิ่งกว่า มีที่ไหนในโลกเขาทำกันเช่นนี้
ความเป็นไทยแลนด์ โอนลี่ และโดยเฉพาะกับอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดจึงไม่ต้องไปถามหาความรับผิดชอบใดๆ ขนาดประกาศกร้าวมาตั้งแต่ต้นจะเข้ามาเพื่อปราบโกง ประเดิมกันที่กรณีไมโครโฟนทองคำ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็เกิดวาทกรรม ไม่ได้ทุจริตแค่ส่วนต่างมันมากไปเท่านั้นเอง ต่อมาด้วยอุทยานราชภักดิ์ไปเรียกรับหัวคิวพอเอาเงินไปบริจาคแล้วถือว่าบริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
เล่นกันแบบนี้ในภาวะที่บ้านเมืองเป็นเช่นนี้คงไม่มีใครไปวิพากษ์วิจารณ์ แต่หลายคนก็คิดว่ามันน่าจะจบและเป็นบทเรียนให้ผู้มีอำนาจพึงระวัง ทว่ายังมีกรณีองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกหรืออผศ.ที่ไปรับงานขุดลอกคูคลองทั่วประเทศ เจตนาที่ว่าจะเอาเงินไปช่วยเหลือทหารหาญที่ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต พิกลพิการจากการสู้รบนั้นไม่มีใครเถียง
หากเม็ดเงินมันถูกส่งถึงมือเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่สิ่งที่ทำกันแบบน่าเกลียดคือ ด้วยเงื่อนไขห้ามไปจ้างเหมาช่วงแต่อผศ.ก็ยังดันทุรังไปจ้างต่อ เพราะตัวเองไม่มีเครื่องจักรและกำลังคน ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือมีการหักหัวคิวกันอุตลุด เรื่องนี้ใช้วิธีการให้ผู้อำนวยการอผศ.ตั้งรองอผศ.มาสอบตัวเองที่อยู่ในข่ายถูกกล่าวหา ยื้อเวลากันไปดูซิว่า ท้ายที่สุดจะมีบทสรุปแบบไหน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคของผู้มีอำนาจบริหาร อาจมีทางออกแบบข้างๆ คูๆ ถูไถกันไปได้ ที่หลายคนอยากเห็นคือ การโกงที่เกิดขึ้นก่อนยุคของท่านผู้นำแต่เกี่ยวพันกับคนที่อยู่ในองคาพยพเดียวกับท่าน นั่นก็คือ กรณีจีที 200 ศาลอังกฤษตัดสินยึดทรัพย์ข้าวของบริษัทผลิตอุปกรณ์ลวงโลกเป็นบทพิสูจน์ชัดเจนว่า ของที่ซื้อมานั้นไร้มาตรฐาน
สิ่งที่หลายคนสงสัยและเมื่อหลายวันก่อน วิษณุ เครืองาม ก็ช่วยไขข้อกระจ่างในระดับหนึ่งก็คือ ในส่วนของกองทัพมีคณะกรรมการตรวจสอบการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ สิ่งที่ค้างคาใจคนไทยทั้งประเทศก็คือ แล้วปล่อยผ่านให้มีการจัดซื้ออุปกรณ์ตรวจระเบิดกำมะลอชิ้นนี้ได้อย่างไร ยิ่งฟังบางคนที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติให้จัดซื้อบอกว่าใช้วิธีพิเศษเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับคนปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ยิ่งน่าจะใช้กระบวนการตรวจสอบที่มันรอบคอบ รัดกุมกว่านี้ไหม
ในเมื่อเหตุผลสำคัญคือใช้เพื่อความปลอดภัยและปกป้องชีวิตของผู้ปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงในพื้นที่ซึ่งมีสถานการณ์รุนแรง แต่อนุมัติและจัดซื้อกันชุ่ยๆ แบบนี้ หากไม่มีใครที่จะต้องรับผิดชอบแล้ว ก็ขอให้ผู้มีอำนาจได้เก็บเอาวาทกรรมปราบโกงของตัวเองเข้าลิ้นชักหรือโยนทิ้งชักโครกไปเสีย เพราะมันเป็นได้แค่วาทกรรมลวงโลกเท่านั้น
ความเป็นจริงของผู้คนที่มาร่วมงานกับองคาพยพแม่น้ำ 5 สายอีกประการคงหนีไม่พ้นเรื่องอคติ ที่ต้องย้ำเช่นนี้ เพราะรายของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่วันก่อนแสดงความไม่พอใจอ้างว่ามีคนไปถ่ายภาพบันทึกเสียงวิทยากรครู ค ที่ไปอธิบายร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชน ถึงขั้นบอกว่าคุกคาม เป็นภัยต่อความมั่นคง ขนาดจะแจ้นไปฟ้องคสช.และบังคับให้กกต.เอาผิดให้ได้
พูดเป็นตุเป็นตะ แต่ฟัง ชาติชาย ณ เชียงใหม่ แถลงปรากฏว่าครู ค ยังไม่ได้ลงพื้นที่และยังไม่มีใครถูกคุกคาม สำทับซ้ำด้วย อุดม รัฐอมฤต แถลงย้ำอีกเมื่อวันวาน จนถึงขณะนี้ ครู ค ยังไม่พบปัญหา อุปสรรคหรือการคุกคามจับผิดแต่อย่างใด อ้าว!แล้วสิ่งที่มีชัยพูดไปวันก่อนนั้น ท่านนั่งหลับฝันไปในที่ประชุมหรือมีคนรายงานข้อมูลผิดๆ ให้กรธ.เอาไปพูดจนขายขี้หน้า
เหมือนอย่างที่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นบนเวทีวิชาการที่มหาวิทยาลัยมหิดล ฟันธงผู้ร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการยกร่างด้วยความกลัวเสียงข้างมาก กล่าวคือ กลัวพรรคเพื่อไทยจะมาเป็นรัฐบาล จึงเอาเรื่องนี้มาเป็นตัวตั้ง พร้อมด้วยเจตนาของคำถามพ่วงจากสนช.ที่ต้องการใช้เสียงของส.ว.มาสลายเสียงข้างมากของพรรคการเมืองในการเลือกนายกรัฐมนตรี
เมื่อเป็นเช่นนั้นนิพิฏฐ์จึงบอกว่าไม่เห็นด้วย และเห็นว่าเสียงข้างมากมีความชอบธรรมเป็นรัฐบาล หากต้องการควบคุมรัฐบาล ควรเป็นไปโดยกฎหมาย เพื่อตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใช่ใช้วิธีตั้งพรรคการเมืองแบบใหม่โดยไม่ผ่านการเลือกตั้งจากคำถามพ่วงประชามติ นี่ไงคือบทพิสูจน์ที่บอกว่ากติกาในกฎหมายสูงสุดของประเทศนั้นมันไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเห็นการเปิดช่องให้สืบทอดอำนาจกันอย่างเด่นชัดเลยทีเดียว