พาราสาวะถี อรชุน

ไม่ได้เหนือความคาดหมาย หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ มาตรา 61 วรรคสองของกฎหมายประชามติไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในมาตรา 4 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นอันว่าที่หลายคนมองว่าจะมีเหตุให้ประชามติ 7 สิงหาคมมีอันสะดุดก็เลิกคิดไปได้เลย


ไม่ได้เหนือความคาดหมาย หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ มาตรา 61 วรรคสองของกฎหมายประชามติไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในมาตรา 4 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นอันว่าที่หลายคนมองว่าจะมีเหตุให้ประชามติ 7 สิงหาคมมีอันสะดุดก็เลิกคิดไปได้เลย

เว้นเสียแต่ว่าท่านผู้มีอำนาจจะไม่สบอารมณ์หรือมีใครไปสะกิดทำให้มองเห็นว่า ถ้าเดินหน้าไปแล้วจะเป็นปัญหามากกว่าพาประเทศเดินไปข้างหน้า จึงอาศัยมาตรา 44 เลื่อนหรือเลิกการทำประชามติ นั่นก็อีกเรื่อง แต่จับอาการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยามนี้เห็นได้ชัดว่า เครียดและเบื่ออยากจะลงจากหลังเสือเต็มทน

แต่การลงจากหลังเสือนี่แหละที่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะท่านผู้นำเคยลั่นวาจาไว้แล้วว่า ถ้าจะลงให้สง่างามจะต้องฆ่าเสือก่อน จึงมีการถอดรหัสกันต่อว่าการฆ่าเสือนั้นจะทำอย่างไร หากดูรูปรอยจากการยกร่างรัฐธรรมนูญและแนวทางที่ขีดเส้นไว้ให้เดิน คงจะเป็นการจำกัดพื้นที่ของรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ให้มีนายกรัฐมนตรีจากคนนอกนั่นเอง

เพราะอย่างหลังยังถือว่าบิ๊กตู่สามารถชี้นิ้วบัญชาการได้ ยิ่งหากคำถามพ่วงประชามติผ่านความเห็นชอบ นั่นหมายความว่า ส.ว.ลากตั้งจากคสช.จำนวน 250 คนจะมีอำนาจมหาศาลทั้งโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ รวมไปถึงการตรวจสอบ ถ่วงดุลรัฐบาล การบังคับให้ฝ่ายบริหารจะต้องรายงานความคืบหน้าของการปฏิรูปประเทศทุก 3 เดือนต่อที่ประชุมวุฒิสภานั้นไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอน

อย่างไรก็ตาม กลไกที่วางไว้ของผู้มีอำนาจเพื่อให้การลุกจากเก้าอี้เป็นไปด้วยความสง่างาม คำถามตัวโตที่เกิดขึ้นก็คือ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติคิดว่าประเทศจะเดินไปข้างหน้าได้ตามยุทธศาสตร์ชาติที่วางกติกาครอบไว้ 20 ปีหรือการปฏิรูปในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีจะเดินไปด้วยความสงบเรียบร้อยอย่างนั้นหรือ ยิ่งไม่มีกฎหมายพิเศษอยู่ในมือ การจะชี้นิ้วบังคับคงเป็นเรื่องยาก

คำถามที่น่าสนใจมากกว่า คงเป็นกรณีหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะเดินกันอย่างไร แม้บิ๊กตู่จะพูดชัดก็ต้องยกร่างกันใหม่ แต่จะร่างกับแบบไหนเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมหรือทุบโต๊ะให้เป็นไปตามความต้องการของรัฏฐาธิปัตย์ ฝ่ายที่อึดอัดคือฟากการเมืองเพราะการเว้นว่างจากภารกิจที่ควรจะเป็นมานานกว่า 2 ปี หากยังไม่มีอะไรชัดเจนจากที่อดทนก็น่าจะทนอดไม่ได้อีกต่อไป

ปฏิกิริยาเช่นนี้สัมผัสได้จากถ้อยแถลงของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากการที่ อลงกรณ์ พลบุตร นำคณะสปท.เข้าหารือเมื่อวันวาน โดยหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์สะท้อนอย่างตรงไปตรงมาว่า หลังจากรัฐประหารเราไม่เคยได้ยินหลักการที่ชัดเจนว่า จะปฏิรูปกันอย่างไร คำว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่ท่านผู้นำโพนทะนานั้น นั่นคือเป้าหมายไม่ใช่หลักการ

ครม.และสนช.ทำงานมา 2 ปี มีกฎหมายกว่า 170 ฉบับ แต่หนักไปในทางการขยายการเพิ่มอำนาจข้าราชการและการตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ จึงคิดว่าสวนทางกับแนวทางการปฏิรูป เช่น การตั้งศาลทุจริตที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าต่อไปนี้จะไม่มีนักการเมืองโกง ทั้งที่ศาลทุจริตนี้ไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ขณะเดียวกันสปท.ก็เหมือนคนขับรถที่นั่งข้างเบาะ สามารถชี้บอกทางได้ แต่เขาจะเชื่อสปท.หรือจะเชื่อกูเกิ้ลก็ทำอะไรไม่ได้

สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้จากคำพูดของอภิสิทธิ์ก็คือ เรื่องสิทธิเสรีภาพ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย เมื่อเทียบกับปี 2540-2550 ถือว่ามีความถดถอยชัดเจน เพราะถ้าร่างรัฐธรรมนูญก้าวหน้าจะมีภาคประชาชนและฝ่ายต่างๆ ออกมาขานรับ แต่ครั้งนี้ปฏิกิริยาตรงข้าม สุดท้าย จะตอบสนองการปฏิรูปจากภาคประชาชนได้อย่างไร

จากนั้นอลงกรณ์ได้ยกคณะไปหารือกับพรรคเพื่อไทย โดย ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคนายใหญ่ ก็ได้สะท้อนภาพปัญหาที่ไม่แตกต่างกัน โดยโฟกัสไปยังประเด็นการทำประชามติ เพราะถือเป็นด่านแรกของการสร้างความปรองดอง จึงอยากให้เร่งสร้างบรรยากาศให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ในการกำหนดอนาคตของประเทศ ได้แสดงความคิดเห็นและพูดถึงข้อดี-ข้อเสียได้อย่างเสรี

เพราะสิ่งที่ผู้มีอำนาจกำลังดำเนินการอยู่เวลานี้เป็นสิ่งตรงข้าม ด้วยการทำให้เกิดความหวาดกลัว หวาดระแวงหรือรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม แต่เสียงสะท้อนดังว่า น่าจะไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเสี่ยจ้อยก็รีบออกตัวทันทีว่า ในแง่ของสปท.ก็มีข้อจำกัดเรื่องของอำนาจที่จะทำ แต่ในฐานะหนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย จะนำเรื่องนี้ไปหารือผู้มีอำนาจต่อไป

หากมองไปยังเวทีการพบปะสองพรรคการเมืองใหญ่ของสปท.ในรอบนี้ ถ้าไม่ปล่อยให้เป็นความสูญเปล่า คงต้องอยู่ที่ความใจกว้างของผู้มีอำนาจ สำหรับการเปิดรับฟังเสียงสะท้อนต่างๆ ด้วยเหตุและผล โดยเฉพาะกรณีการทำประชามติ ที่ภูมิธรรมมองว่า ถ้าประชามติผ่าน แต่ไม่เปิดกว้างก็จะเกิดปัญหา แต่หากประชามติไม่ผ่าน ก็จะยิ่งเกิดปัญหาอีก

ดังนั้น จึงควรเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายพูดว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้ เพื่อทำให้การทำประชามติมีความชอบธรรม แน่นอนว่าเมื่อย้อนกลับไปถามผู้มีอำนาจ คำตอบที่จะได้รับหนีไม่พ้น ก็ไม่ได้ห้าม กฎหมายเขาปิดปากหรือเปล่า เพียงแต่เขาไม่ให้บิดเบือน ก้าวร้าว หยาบคายก็เท่านั้น ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงก็อย่างที่เห็น ไม่ผิดกฎหมายประชามติแต่ไปเอาผิดกันด้วยข้อหาขัดคำสั่งคสช.ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

การตีความของฝ่ายความมั่นคงในลักษณะเช่นนี้ ถ้าผู้มีอำนาจมีเจตนาดีจริง ควรที่จะมีข้อยกเว้นว่าในกรณีที่เป็นการรณรงค์หรือถกเถียงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ ต้องไม่ดำเนินคดี เพราะหากยังปล่อยให้มีการจับกุมและเอาผิดเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ นอกจากประชามติจะถูกมองอย่างดูแคลนแล้ว แรงกดดันจากต่างชาติย่อมจะถาโถมเข้ามาอีก

วันนี้มีข่าวดีเรื่องสหรัฐอเมริกาปลดล็อกการจัดอันดับค้ามนุษย์ของไทยจากระดับเทียร์ 3 ไปอยู่ที่เทียร์ 2 แล้ว ถือว่าเป็นสัญญาณเชิงบวก ท่านผู้นำก็ควรที่จะมองในเชิงบวกเพื่อให้ระยะเวลาอีกเดือนเศษที่เหลือ เปิดโอกาสให้ทุกอย่างได้สร้างบรรยากาศของการทำประชามติอย่างที่ควรจะเป็น หากยอมไม่ได้และยึดถือความเด็ดขาด หากผลของการทำประชามติเสร็จสิ้นแล้วถูกตีตราว่าขาดความชอบธรรม จะไปโทษใครไม่ได้

Back to top button