พาราสาวะถี อรชุน
การโยนหินถามทางโดยอ้างความหวังดีต่อบ้านเมืองของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ด้วยการนัดหมายนักการเมืองหารือร่วมกัน มีเสียงตอบรับอื้ออึงทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้าน แน่นอนว่า ฝ่ายค้านนั้นมีทั้งผู้มีอำนาจและนักการเมืองด้วยกันเองที่อยู่คนละฝ่าย แม้จะแสดงท่าทีเห็นด้วยแต่ก็เต็มไปด้วยเงื่อนไขสารพัดสารพัน
การโยนหินถามทางโดยอ้างความหวังดีต่อบ้านเมืองของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ด้วยการนัดหมายนักการเมืองหารือร่วมกัน มีเสียงตอบรับอื้ออึงทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้าน แน่นอนว่า ฝ่ายค้านนั้นมีทั้งผู้มีอำนาจและนักการเมืองด้วยกันเองที่อยู่คนละฝ่าย แม้จะแสดงท่าทีเห็นด้วยแต่ก็เต็มไปด้วยเงื่อนไขสารพัดสารพัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักการเมืองซีกประชาธิปัตย์ ไล่เรียงตั้งแต่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่พรั่งพรูข้อเสนอต่างๆ ออกมาในห้วงเวลานี้แต่เต็มไปด้วยความเกรงใจผู้มีอำนาจ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจทุกอย่างเป็นไปตามประสาของคนพรรคเก่าแก่ เช่นเดียวกับการที่ วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คล่าสุด หนุนร่างรัฐธรรมนูญมีชัยอ้างปราบโกงป้องกันทุนสามานย์
ท่าทีพวกหนึ่งต้านพวกหนึ่งออกอาการหนุนนี่แหละ ที่ทำให้ทุกสายตาซึ่งมองไปยังพรรคเก่าแก่เต็มไปด้วยความไม่วางใจ เหตุไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหารถือเป็นภาพลักษณ์อันย่ำแย่ของคนในพรรคการเมืองนี้และถ้าอภิสิทธิ์ไม่หลอกตัวเองนี่คือตราบาปที่ติดตัวไปชั่วชีวิต หากหาจังหวะก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศอย่างสง่างามด้วยการชนะการเลือกตั้งไม่ได้
หลายคนยังคงเคลือบแคลงว่า พรรคการเมืองที่แอบแฝงมากับอำนาจนอกระบบอยู่ตลอดเวลานับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง มันจะเปลี่ยนพฤติกรรมอีแอบได้อย่างนั้นหรือ สถานการณ์ ณ วันนี้ถือเป็นจุดวัดใจ หากจะเลือกเส้นทางเดินที่อ้างมาโดยตลอดว่ายึดระบบและถือหลักการเป็นใหญ่ ทั้งใจและการแสดงออกมันจะต้องแน่วแน่ชัดเจน ไม่ใช่เอนไปเอียงมาอย่างที่เป็นอยู่
พอจะเข้าใจทุกสังคมย่อมมีความหลากหลายทั้งพวกเชลียร์และพวกที่ยึดมั่นถือมั่น มีอคติ แต่ในยามที่ประเทศประสบภาวะวิกฤติ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เกิดจากน้ำมือของคนในพรรคตัวเองนั่นแหละ อภิสิทธิ์จะต้องกล้าแสดงบทบาทนำ การพูดเพื่อตอกย้ำในเรื่องของหลักการนั้นไม่เป็นสองรองใครอยู่แล้ว ทว่าสิ่งที่คนยังไม่เชื่อมั่นคือการแสดงออกที่เป็นความจริงใจต่างหาก
ต้องไม่ลืมว่าพรรคการเมืองคู่แข่งนั้น อาจจะกุมความได้เปรียบประการหนึ่งคือผลงานที่แปรนโยบายให้สัมผัสจับต้องได้จริงในอดีต แต่ในห้วงแห่งความขัดแย้งและหลังการรัฐประหาร 2549 จุดที่ทำให้พรรคเก่าแก่ไม่สามารถโค่นล้มพรรคนายใหญ่ได้ คือท่าทีที่ชัดเจนต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในปัจจุบันเหมือนอย่างที่ย้ำมาโดยตลอด คนบ้านนอกคอกนากับคำว่าประชาธิปไตยนั้นหาใช่เรื่องไกลตัวหรือไม่มีแก่นสารเหมือนในอดีตอีกต่อไป
จะเห็นได้จากข้อกล่าวหาเรื่องการซื้อเสียงที่ฝ่ายพรรคเก่าแก่ได้ยัดเยียดและตีตราให้กับพรรคของทักษิณมาเนิ่นนาน หากไม่โง่หรือบ้าจนเกินไป ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคก็น่าจะสรุปบทเรียนได้ว่า ความพ่ายแพ้ตลอดระยะเกือบ 20 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นการปราชัยต่อเงินตราหรือว่านโยบายและการยึดมั่นในครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องกันแน่
ในห้วงของการลงประชามติที่จะเกิดขึ้นอีกเดือนเศษๆ นี้ สิ่งที่จะเห็นและเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็คือ การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ เพื่อแสดงความเห็นที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญ ตัดภาพกับฝ่ายผู้มีอำนาจที่จะจับกุมพร้อมๆ ข้อกล่าวหา เป็นพวกบิดเบือนเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายสูงสุด แต่เมื่อไปดูจากข้อเท็จจริงในการดำเนินคดีแล้ว คนเหล่านั้นกลับถูกแจ้งข้อหาขัดคำสั่งคสช.ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน หาใช่กระทำผิดกฎหมายประชามติไม่
สิ่งที่ต้องติดตามต่อมาคือ ผลแห่งการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีมาตรา 61 วรรคสองของกฎหมายประชามติไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว บางฝ่ายเริ่มจะหวั่นเกรงกันว่านั่นอาจจะเป็นเหตุให้ผู้มีอำนาจนำมาเป็นเหตุผลในการปิดปากฝ่ายที่แสดงตนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนกับที่ จาตุรนต์ ฉายแสง แสดงความห่วงใยล่าสุด
จะว่าไปแล้วผลการวินิจฉัยดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะความเป็นจริงแล้วตัวรัฐธรรมนูญชั่วคราวเองและการตีความมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็มีปัญหามาโดยตลอดอยู่แล้ว เช่น รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับความคุ้มครองตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ
แต่คำสั่งคสช.หลายๆ คำสั่งที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและสิทธิมนุษยชน ก็ถูกตีความว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือเรียกได้ว่าอยู่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวจนทำให้สิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับการคุ้มครองจริงแต่อย่างใด ภายใต้สภาพเช่นนี้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยไปอีกทางหนึ่ง ก็ไม่อาจคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อยู่ดี เพราะคำสั่งคสช.อยู่เหนืออำนาจศาลทั้งหลาย
แต่ที่เป็นปัญหามากสำหรับการทำประชามติเวลานี้คือ การอ้างและบิดเบือนกฎหมายประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง และส่วนอื่นๆ มาใช้ข่มขู่ผู้ที่ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็นหรือเผยแพร่ความคิดเห็นต่างก็ดี หรือรณรงค์เพื่อให้ประชาชนไม่รับร่างก็ดี การข่มขู่ดังกล่าวทำร่วมกันอย่างเป็นระบบโดยผู้มีอำนาจและเกี่ยวข้อง
จนทำให้คนจำนวนมากเกิดความหวาดกลัวหรือไม่ต้องการเสี่ยงต่อการถูกลงโทษในอัตราโทษที่สูงมาก ทั้งๆ ที่การกระทำเหล่านั้นไม่ขัดต่อกฎหมายประชามติแต่อย่างใด ซ้ำยังได้รับการคุ้มครองโดย มาตรา 7 ของกฎหมายประชามติเองด้วย สภาพการณ์เหล่านี้ทำให้การทำประชามติเป็นไปโดยไม่เสรีและเป็นธรรม คือมีแต่การชี้นำจากฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญหรือผู้สนับสนุนอยู่ฝ่ายเดียว ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเกือบทำอะไรไม่ได้เลย
การทำประชามติแบบมัดมือชกอย่างที่เป็นอยู่ รังแต่จะทำให้การทำประชามติหนนี้ขาดความชอบธรรม ทั้งยังส่งผลให้เกิดความสงสัยไม่เชื่อถือต่อร่างรัฐธรรมนูญเองด้วย หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบในการลงประชามติไปในสภาพที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ร่างรัฐธรรมนูญเองก็จะไม่มีทางเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ไปได้ และนั่นก็หมายความว่าประเทศไทยจะต้องจมอยู่ในวิกฤติความขัดแย้งโดยไม่อาจหลุดพ้นไปอีกยาวนาน หรือว่าท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายต้องการที่จะให้มันเป็นเช่นนั้น